คนไทยไม่พร้อม "เกษียณอายุ" ความมั่นคงทางการเงินต่ำ! 78% มีเงินออมไม่ถึง 6 เดือน หวัง "เบี้ยคนชรา"

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

คนไทยไม่พร้อม "เกษียณอายุ" ความมั่นคงทางการเงินต่ำ! 78% มีเงินออมไม่ถึง 6 เดือน หวัง "เบี้ยคนชรา"

Date Time: 4 ก.ย. 2567 10:26 น.

Video

3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

Summary

  • คนสูงวัยล้นประเทศไทย 13 ล้านคน ขณะ ผลวิจัย ชี้ ส่วนใหญ่ยังไม่มีความพร้อม เพื่อ ”เกษียณอายุ” เหตุความมั่นคงทางการเงินต่ำลงอย่างต่อเนื่อง วางแผนช้า - ทำไม่ได้ตามเป้าหมาย และ 78% มีเงินออมไม่ถึง 6 เดือน หวัง “เบี้ยคนชรา” ยังชีพ อาจไม่เพียงพอ

Latest


ข้อมูลปัจจุบันพบว่าประเทศไทยมี "ผู้สูงอายุ" ราว 13 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 20% ของประชากรทั้งประเทศ โดยภาคอีสานขึ้นแท่นมีประชากรสูงวัยมากที่สุด กว่า 4.2 ล้านคน รองลงมาคือ ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคใต้ ขณะที่กรุงเทพฯ แค่จังหวัดเดียวมีผู้สูงวัยล้นอยู่ที่ 1.3 ล้านคน

โดย 3 ความเสี่ยงที่มาพร้อมกับภาพคาดการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า (ปี 2572) ว่าไทยจะเป็น Super-Aged หรือสังคมที่มีประชากรอายุมากกว่า 65 ปี มากกว่า 20% นั่นคือ ...

  1. ปัญหาระบบเศรษฐกิจขาดแคลนแรงงาน ทำให้ต้นทุนของภาคธุรกิจต่างๆ แพงขึ้น
  2. ภาระของรัฐด้านการคลังเพิ่มขึ้นจากการที่ต้องดูแลช่วยเหลือผ่านการจ่ายเบี้ยยังชีพและสวัสดิการด้านสุขภาพ
  3. แน่นอน ผู้สูงอายุที่ไร้รายได้หรือมีรายได้ลดลงก็ย่อมบริโภค-ใช้จ่ายลดลงเช่นกัน

คนไทย ทักษะทางการเงินต่ำ-เก็บออมน้อย ไม่พร้อมเกษียณ 

เจาะความพร้อมของคนไทยภายใต้แนวโน้มอายุยืนขึ้น เช่นเดียวกับหลายชาติทั่วโลก โดยในปี 2593 คาดว่าอายุเฉลี่ยคนทั่วโลกอยู่ที่ 77 ปี ส่วนอายุเฉลี่ยคนไทยอยู่เกิน 80 ปี เท่ากับการเตรียมพร้อมด้านการเงินให้เพียงพอกับการใช้ชีวิตตลอดอายุขัยต้องเข้มข้นมากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลเชิงวิจัยประจักษ์ว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังขาดความพร้อมในการเกษียณอายุ เมื่อพิจารณาความพร้อมของประชากรไทยจากดัชนีความพร้อมเพื่อการเกษียณ (NRRI) ที่พบว่า ในปีที่ผ่านมา ดัชนี NRRI ของประชากรไทยมีคะแนนเฉลี่ยในภาพรวมอยู่ที่ 49.30 เท่านั้น จากคะแนนเต็ม 100 ซึ่งปรับตัวลดลงอย่างมากจากช่วง 3 ปีก่อนหน้าที่มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 56.70

ยิ่งไปกว่านั้น สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ยังระบุว่าดัชนีย่อยที่สะท้อนความมั่นคงทางด้านการเงินในข้อดังกล่าว คนไทยก็มีความมั่นคงทางด้านการเงินอยู่ในระดับต่ำ เพียง 38.40 ดัชนี ลดลงจาก 48 คะแนนเช่นกัน สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยมีความพร้อมต่อการเกษียณอายุลดลง

นอกจากนี้ ยังพบสัญญาณที่สะท้อนว่าคนไทยมีแนวโน้มที่จะวางแผนสำหรับเก็บออมเพื่อใช้ในยามชราน้อยลง จากการสำรวจพฤติกรรมทางการเงินของครัวเรือนไทยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อปี 2565 มีคนเพียง 16% ที่วางแผนเก็บออมเพื่อการเกษียณและสามารถทำได้ตามแผนที่ตั้งใจไว้ ในทางกลับกัน คนที่ยังไม่ได้คิดหรือวางแผนเก็บออมเพื่อเกษียณอายุเลยกลับมีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นเป็น 19%

"กลุ่มคนที่เกษียณอายุแล้ว แต่ยังไม่สามารถเก็บออมได้ตามแผน สูงถึง 42–47% ขณะคนในวัยใกล้เกษียณ (ช่วงอายุ 51–60 ปี) รวมถึงคนที่เกษียณอายุแล้ว ที่ยังไม่ได้คิดวางแผนเก็บออมเพื่อยามชราภาพเลย ก็สูงถึง 15–21%"

ห่วง วางแผนเกษียณล่าช้า พึ่งพาแค่ "เบี้ยคนชรา"ยังชีพมีความเสี่ยงสูง 

นอกจากนี้ ยังพบอีกข้อกังวลที่ว่าคนไทยมีเงินออมเผื่อฉุกเฉินในระดับที่เหมาะสมมีจำนวนลดลง โดยคนที่มีเงินออมเผื่อฉุกเฉินตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป มีสัดส่วนเพียง 22% ลดลงจาก 27% ในขณะที่จำนวนผู้มีเงินออมเผื่อฉุกเฉินที่สามารถอยู่ได้ไม่เกิน 3 เดือนกลับมีสัดส่วนปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา

"คนไทยส่วนใหญ่มักเลือกเก็บออมเงินเป็นเงินสดและเงินฝาก ขณะกลุ่มคนที่มีระดับทักษะทางการเงินสูงมีแนวโน้มที่จะเก็บออมในรูปแบบอื่นๆ เช่น หุ้น กองทุน พันธบัตร"

ทั้งนี้ อาจกล่าวสรุปได้ว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังขาดความพร้อมในการเกษียณ คนมีการวางแผนเก็บออมเพื่อการเกษียณล่าช้า การจะอาศัยแต่เบี้ยคนชราจากรัฐเพื่อยังชีพในบั้นปลายชีวิตคงไม่เพียงพอ นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในการรับมือกับสังคมสูงวัยในอนาคต

ดังนั้น การเตรียมความพร้อมให้ตนเองเพื่อการเกษียณอย่างมีคุณภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญ เริ่มต้นตั้งแต่วันนี้จากการวางแผนและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางการเงิน เลือกออม/ลงทุนเพื่อการเกษียณด้วยวิธีการที่เหมาะสม โดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วยยังแนะว่า ท้ายที่สุดแล้ว การเตรียมความพร้อมในการเกษียณก็คงเปรียบเสมือนการวิ่งมาราธอน ที่ต้องอาศัยวินัย ความสม่ำเสมอ และการวางแผนที่ดี เพื่อจะพาไปสู่ปลายทางที่เราสามารถออกแบบได้เอง

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ