นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงภาวะการเงินและผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสที่ 2 ว่า สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ และบริษัทลูกในเครือที่ให้บริการสินเชื่อปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ขณะที่หนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องในไตรมาส 2 จากที่อยู่ระดับ 90.8% ในไตรมาสแรก เนื่องจากสินเชื่อที่ชะลอตัวลง ขณะที่หนี้ภาคธุรกิจต่อจีดีพี เพิ่มขึ้นจาก 83.3% ในไตรมาสก่อนหน้าเป็น 87.7% ในไตรมาสนี้ โดย ธปท.อยู่ระหว่างการพิจารณาภาวะสินเชื่อที่ชะลอลงต่อเนื่อง ว่า ความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เป็นไปตามความเสี่ยงของลูกหนี้ที่เพิ่มขึ้นจริง หรือมีความระมัดระวังที่มากเกินไปจากความกังวลการเพิ่มขึ้นของหนี้เสีย
ด้าน น.ส.อัจจนา ล่ำซำ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบแบบจำลองและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาพรวมสินเชื่อขยายตัวชะลอลง โดยขยายตัวเพิ่ม 0.3% ในไตรมาสนี้ จาก 1.3% ในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่การระดมทุนผ่านตราสารหนี้หดตัวเล็กน้อย ติดลบ 0.5% จากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.2% ทั้งนี้ หากแยกประเภทสินเชื่อการขยายตัวของสินเชื่อภาคธุรกิจโดยรวมลดลง 0.5% เป็นการลดลงต่อเนื่องของสินเชื่อเอสเอ็มอี ที่ติดลบ 5.4% ขณะที่สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.7% ถือว่าต่ำมาก โดยเป็นการลดลงของสินเชื่อทุกประเภท โดยสินเชื่อที่อยู่อาศัยขยายตัว 0.8% สินเชื่อบัตรเครดิตขยายตัวติดลบ 0.2% สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ติดลบ 4.8% ขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคล แม้ยังขยายตัว 5.8% แต่ลดลงจาก 7.3% ในไตรมาสก่อนหน้า ทั้งนี้ สินเชื่ออุปโภคที่ชะลอตัวมาจากความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกหนี้ที่สูงขึ้น
ส่วนยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL หรือ stage 3) ไตรมาส 2 ปี 2567 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 540,800 ล้านบาท หรืออยู่ที่ 2.84% ต่อสินเชื่อรวม โดยเพิ่มขึ้นจากสินเชื่ออุปโภคบริโภคเป็นสำคัญ โดยหนี้ด้อยคุณภาพเกิดขึ้นจาก 3 ส่วนคือ ลูกหนี้ที่เคยปรับโครงสร้างหนี้แล้ว แต่ไม่ไหวกลับมาเป็นหนี้เสียอีกครั้ง, ลูกหนี้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน และลูกหนี้บ้านที่ราคาต่ำกว่า 5 ล้านบาท และสุดท้ายลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากรายได้ที่ฟื้นตัวช้าและดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น เช่น รายได้ยังไม่กลับมา แต่ต้องผ่อนสินเชื่อเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้น ในกรณีดอกเบี้ยลอยตัว โดยสินเชื่อที่อยู่อาศัยมีสัดส่วนหนี้ด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นสูงที่สุด
นอกจากนั้น ยังต้องจับตาสัดส่วนสินเชื่อผิดนัดชำระหนี้ (SICR หรือ stage 2) หรือลูกหนี้ที่เริ่มขาดส่งค่างวด ที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.50% ของสินเชื่อรวม จาก 6.38% ในไตรมาสก่อน จากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่บางรายและสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่สูงขึ้นทุกประเภท โดยสินเชื่อเช่าซื้อมีอัตราสูงสุดที่ 14.72% ตามมาด้วยสินเชื่อส่วนบุคคล 6.16% สินเชื่อบัตรเครดิต 5.86% และสินเชื่อที่อยู่อาศัย 5.27% อย่างไรก็ตาม แม้หนี้เสียจะเพิ่มขึ้น และปล่อยสินเชื่อชะลอลง แต่ผลประกอบการของระบบธนาคารพาณิชย์ยังคงปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยมีกำไรอยู่ที่ 72,000 ล้านบาท.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่