เปิดเส้นทางพัฒนาการเงินดิจิทัล “ผยง” เผยจิตสำนึก “กรุงไทย” ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เปิดเส้นทางพัฒนาการเงินดิจิทัล “ผยง” เผยจิตสำนึก “กรุงไทย” ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

Date Time: 15 ส.ค. 2567 06:45 น.

Summary

  • “เติบโตอย่างมีคุณภาพ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ใจความสำคัญของการพัฒนา “กรุงไทย” และการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ขณะ ที่คนไทยยังมีความเหลื่อมล้ำสูง โดยเฉพาะการเข้าถึงบริการการเงิน ในฐานะธนาคารพาณิชย์หนึ่งเดียวของรัฐ “จิตสำนึก” กรุงไทย ต้องตอบโจทย์ “คนทุกระดับ” ในประเทศ

Latest

ปลดล็อกเรื่องภาษี!

“ผยง ศรีวณิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวในช่วง “CEO Vision : Business Strategy 2024” ที่ระหว่างการนำสื่อเดินทางดูงานเมืองเซินเจิ้น ประเทศจีน โดยระบุว่า “หลายปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ธนาคารกรุงไทย พยายามปรับตัวเพื่อให้ธนาคารมีประสิทธิภาพดีขึ้น อยู่บนรากฐานการมีธรรมาภิบาล และนำเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาใช้ ... ลบภาพของธนาคารของคนรุ่นเก่า ธนาคารที่มีคดีความฟ้องร้อง หรือการปล่อยสินเชื่อที่ไม่ได้มีการวิเคราะห์ที่ดีเพียงพอในอดีต สู่ธนาคารที่สามารถแข่งขันได้”

เส้นทางสู่ธนาคารดิจิทัล : ไม่ทิ้งคนข้างหลัง

โดยในเฟส 1 และ เฟส 2 เป็นการเดินหน้าไปสู่การเงินดิจิทัลโดยโลกในปัจจุบันมีแนวคิด open Finance มีการเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น ธนาคารจึงตัดสินใจก้าวสู่ดิจิทัลแบงก์ ทำให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้มากขึ้น ไม่ใช่เพียงราชการ หรือคนต่างจังหวัด “เมื่อโลกเกิดนวัตกรรม ทำให้ธนาคารกลายเป็น Invisible Banking ที่ถูกฝังเข้าไปอยู่ในพฤติกรรมตามปัจจัยสี่ของมนุษย์ ทั้งการกินอยู่ ขึ้นรถลงเรือ จ่ายเงินผ่านการสแกนคิวอาร์โค้ดได้ทันที หรือการซื้อบ้าน ปล่อยสินเชื่อบ้านในอนาคต โดยไม่ต้องเข้าไปทำสัญญาผ่านสาขาธนาคาร แต่สามารถทำได้ผ่านช่องทางออนไลน์”

แต่จุดสำคัญ ถึงแม้ว่าเราจะกำลังเปลี่ยนสู่ดิจิทัล แต่ธนาคารกรุงไทย ยังมีจำนวนสาขาธนาคารมากที่สุดในประเทศ เพราะระหว่างการพัฒนาไปสู่ดิจิทัล การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังยังคงเป็น “หัวใจที่สำคัญ”

แต่ไม่ได้หมายความว่า เราไม่ได้ปรับเปลี่ยนอะไรเลย เรามีการเปิดและการปิดสาขาให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมใหม่ โดยจะมีการประเมินว่าควรจะมีสาขา หรือตู้เอทีเอ็มเท่าใดตามหลักภูมิศาสตร์ เช่น อาจจะ 5 หรือ 10 กิโลเมตรเพื่อให้คนในต่างจังหวัด หรือพื้นที่ห่างไกลยังเข้าถึงบริการทางการเงินรูปแบบเก่าได้ ในลักษณะคู่ขนาน

เพราะธนาคารกรุงไทยเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งเดียวของรัฐ ดังนั้น “จิตสำนึก” ของเราจึงต้องมีเรื่องเหล่านี้อยู่ตลอดการพัฒนา และเมื่อเรายังมีสาขาจำนวนมาก อีกด้านที่สำคัญคือการ “พัฒนาคน” ซึ่งส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า “คนกรุงไทย” เขาสู่สังคมสูงวัยเร็วกว่าหลายๆองค์กร ดังนั้น เราก็ต้องปรับกระบวนทัศน์ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพ

“เราไม่ได้ยื่นซองขาว แต่เรามีข้อตกลงกับพนักงาน 3 เรื่อง คือ ถ้าคุณยอมย้ายพื้นที่ ถ้าคุณยอมข้ามสายงาน ถ้าคุณยอม retrain upskill reskill ก็ไปด้วยกัน และที่สำคัญคือ การเน้นจังหวะที่เหมาะสมในการปฏิรูปองค์กร ไม่ได้ต้องการพัฒนาองค์กรแต่เพิ่มปัญหาอื่นให้สังคม ทำให้การเปลี่ยนผ่านของกรุงไทยได้รับการสนับสนุนจากพนักงาน”

ขณะนี้มาถึงการพัฒนาในเฟสที่ 3 ซึ่งในตอนแรกเราเน้นการระเบิดจากข้างในเป็น homemade innovation ต่อมาเรารู้ว่าการพัฒนาจากตัวเองอาจจะไม่พอ จะต้องมีพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาช่วยให้การพัฒนาความรู้ เทคโนโลยี การเพิ่มทักษะของคน กรุงไทยจึงหาพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญระดับโลก มีการร่วมทุนเพื่อยกระดับการพัฒนาผ่านการตั้งบริษัทในเครือและบริษัทลูก ทำให้เกิดการพัฒนาที่รวดเร็วในทุกด้าน ทำให้เราเป็นเราในวันนี้”

ยกระดับฐานลูกค้า : เติบโตแบบมีคุณภาพยั่งยืน

“ในวันที่เราเริ่มต้นพัฒนาเราไม่รู้ว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นเร็วหรือช้า แต่สิ่งที่เราทำคือเตรียมความพร้อมให้มากที่สุด เมื่อมันเกิดขึ้น เราจะแข่งขันได้”...จากวันที่เริ่มต้น KTB NETBANK ซึ่งมีลูกค้า 3 ล้านคน วันนี้เรามีลูกค้าที่ไม่ได้อยู่ในระบบดิจิทัลเพียง 7 ล้านคน มีคนใช้ในระบบออฟไลน์ และออนไลน์ไปด้วยกันถึง 35 ล้านคน จากกรุงไทยที่เป็นแบงก์โบราณ แบงก์ต่างจังหวัด เราประสบความสำเร็จในการใช้ดิจิทัลในการขับเคลื่อนภายใต้จังหวะที่เหมาะสม เราถึงจะได้มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรม

ขณะเดียวกัน เมื่อมองภาพรวมของเศรษฐกิจไทยที่สะท้อนจากการใช้บริการดิจิทัลของธนาคารพบว่า ในสัดส่วน 7 ล้านคนที่ใช้บริการแต่ออฟไลน์ เป็นคนกลุ่มสูงอายุถึง 57% ขณะที่ส่วนที่เหลือน่าจะเป็น คนที่ยังไม่เข้าถึงบริการทางการเงินในระบบ ตรงกันข้ามคนที่ใช้บริการแบงก์ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ มีผู้สูงอายุเพียง 16% ที่เหลือเป็นคนรุ่นกลางและใหม่ ซึ่งเมื่อเราเห็นการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ลูกค้าสู่คนรุ่นใหม่มากขึ้น

ผลิตภัณฑ์ก็ต้องตอบโจทย์มากขึ้นเช่นกัน และที่สำคัญเราใช้ความเป็นมิตร ความเข้าใจการใส่ใจของมนุษย์ สร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า
ทั้งนี้ ผลของการพัฒนาทั้ง 3 เฟส ทำให้กรุงไทยยังสามารถมีผลประกอบการที่ทำกำไรได้แม้ในช่วงโควิด มีตัวเลขการกันสำรองหนี้สงสัยจะสูญมากกว่า 181.1% ของสินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งรองรับหนี้ด้อยคุณภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความสามารถทำกำไรในทุกธุรกิจที่ลงทุน
มีสภาพคล่องที่เพียงพอ และการปล่อยสินเชื่อใหม่อย่างต่อเนื่อง มีทุนอย่างเหมาะสมและเพียงพอ ซึ่งผมมองว่าเป็นการเติบโตอย่างมีคุณภาพ

ลุ้น “มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ” ก่อนสาย

“สำหรับปัจจัยเสี่ยงและความท้าทายในอนาคต ผมต้องบอกว่า หนักหนาสาหัสทั้งปัจจัยเศรษฐกิจโลก และในประเทศ ที่สำคัญคือ ความเหลื่อมล้ำของสังคมอยู่ในระดับสูง เกี่ยวเนื่องกับสัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่สูงมากและสอดคล้องกับเศรษฐกิจนอกระบบ ซึ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเชิงโครงสร้างที่กำลังเกิดขึ้น และแยกกันไม่ได้”

มองง่ายๆประเทศไทยมี 70 ล้านคน แต่มีประชากรยื่นภาษี 11 ล้านคน อยู่ในข่ายเสียภาษี 4 ล้านคน นอกจากนั้น ประเทศไทยยังเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจนอกระบบสูงถึง 48.4% มีแรงงานนอกระบบสูงถึง 51% และแม้แต่เอสเอ็มอี เรามีเอสเอ็มอีที่จดทะเบียนเป็นบริษัทเพียง 26% ของทั้งหมด ขณะที่เหลืออีก 74% ใช้สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิตเอาบ้านเอารถมากู้ยืมเพื่อทำธุรกิจ ทำให้การเข้าถึงแหล่งทุนของกลุ่มเหล่านี้มีจำกัด และอีกตัวเลขที่สะท้อนได้ดีครัวเรือนไทย 27% ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อ และบริการทางด้านการเงิน ขณะที่ผู้ประกอบการรายกลาง และรายย่อย (SMEs) เพียง 17% เท่านั้นที่สามารถเข้าถึงสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์

ขณะที่ความท้าทายในภาพรวมของเศรษฐกิจ คือ การส่งออกที่ชะลอตัวลง และการกีดกันทางการค้าที่สูงขึ้นทั่วโลก ทำให้ไทยซึ่งเป็นห่วงโซ่การผลิตของจีนถูกกระทบด้วย และที่สำคัญกว่าคือ ภายใต้กำลังซื้อที่ลดลง การถูกแย่งตลาด การเข้ามาดัมพ์ราคาของสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ ทั้งสินค้าออฟไลน์ และออนไลน์ ทำให้ภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ และเอสเอ็มอีของไทยอยู่ไม่ได้

“เมื่อมองไปถึงความสามารถในการชำระหนี้ในช่วงต่อไป ความสามารถในการติดตามหนี้ และทิศทางของหนี้ด้อยคุณภาพในระยะต่อไป กรุงไทยมองว่า ระบบธนาคารพาณิชย์จะช่วยประคองคุณภาพหนี้ไว้ระยะหนึ่ง ขณะที่กรุงไทยพร้อมปล่อยสินเชื่อสำหรับภาคธุรกิจ และเอสเอ็มอีที่ต้องการปรับตัว แต่หลักใหญ่ก็หนีไม่พ้นหน้าที่ของรัฐบาล โดยในช่วงที่เหลือของปี 2567 นี้ เราหวังว่ามาตรการช่วยเหลือและกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆจะไม่ออกมาช้าจนเกินไป”

Virtual Bank ตอบโจทย์คนชายขอบ

นายผยงกล่าวต่อว่า เมื่อสังคมไทยยังมีคนที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน ขณะที่ธนาคารเองไม่มีความรู้มากพอที่จะเข้าใจในพฤติกรรมของคนเหล่านั้น ไม่มีวิธีในการติดตามหนี้ หรือคำนวณความเสี่ยง การมีข้อมูลที่เพิ่มขึ้นจากแหล่งอื่นๆจะช่วยให้เราเกิดปฏิสัมพันธ์ที่ดีพอ เพื่อแลกเปลี่ยนให้บริการการเงิน ให้สินเชื่อกับคนเหล่านั้นได้

ธนาคารกรุงไทย จึงได้จับมือกับบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (ADVANC) เพื่อเดินหน้ายื่นขอไลเซนส์ธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) โดยประเมินว่า เวอร์ชวลแบงก์จะช่วยแก้ปัญหาการเข้าไม่ถึงสินเชื่อของคนชายขอบที่อยู่นอกระบบ โดยข้อมูลจากพันธมิตรซึ่งได้รับอนุญาตให้ใช้จะเข้ามาเป็นตัวช่วยให้เราสามารถวิเคราะห์สินเชื่อประชาชนที่เขาเข้าไม่ถึงผลิตภัณฑ์การเงินแบบถูกกฎหมาย จากหนี้นอกระบบเข้ามาในระบบได้ ยกตัวอย่าง เช่น ธนาคารจะสามารถใช้ข้อมูลจากการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ข้อมูลการจ่ายเงินซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น

“เราจะสามารถระบุพฤติกรรมการใช้เงินของพวกเขาได้ เช่น นายเอ ขับแกร็บแล้วขยันกว่านายบี เพราะวิ่งรอบได้มากกว่า หรือข้อมูลที่ว่าพนักงานสองคน คนหนึ่งเลิกงานแล้วไปเล่นพนัน ส่วนอีกคนไปเรียนพิเศษเพื่อรีสกิลตัวเอง หรือข้อมูลการใช้จ่ายในห้างสรรพสินค้า คนหนึ่งเข้าห้างไปซื้อสุรา อีกคนซื้ออาหารที่มีคุณภาพ ทำให้เราเข้าใจพฤติกรรมคนที่อยู่ในสังคม และให้โอกาสคนที่อยู่นอกระบบ คนตัวเล็กตัวน้อยเข้าในระบบได้”.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ