“ความแน่นอน” คือ “ความไม่แน่นอน” ยิ่งในยุคที่โรคภัยไข้เจ็บมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็น RSV, HMPV, Covid-19, อะดีโนไวรัส (Adenovirus), มือเท้าปาก เฮอร์แปงไจน่า หรือแม้กระทั่ง โนโรไวรัส (Norovirus) ที่นับเป็นไวร้ายตัวฉกาจสำหรับเจ้าตัวเล็ก เนื่องด้วยระบบภูมิคุ้มกันในเด็กยังไม่แข็งแรงเหมือนผู้ใหญ่ จึงมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย ซึ่งการเจ็บป่วยของลูกน้อยเหล่านี้ย่อมไม่มีพ่อ-แม่ หรือผู้ปกครองคนไหนอยากจะให้เกิดขึ้น
เพราะการเจ็บป่วยเหล่านั้นมักจะส่งผลต่อสุขภาพของลูกน้อย และในบางโรคอาจมีความรุนแรงมากกว่าผู้ใหญ่ ทำให้การป่วยแต่ละที คนเป็นพ่อและแม่แทบจะขาดใจ แถมยังพ่วงมาด้วยค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่สูงลิบลิ่ว
ดังนั้นอย่ารอให้ป่วย แล้วค่อยนึกถึงประกัน จึงควรมีวิธีรับมือล่วงหน้า ด้วยการ “ซื้อประกันสุขภาพเด็ก” ที่เสมือนการบริหารความเสี่ยงระยะยาว โดยเพื่อในวันนึงเราไม่ต้องพูดคำว่า “รู้งี้” หรือ “แทบหมดตัว” แล้วการเลือกประกันสุขภาพให้ “ลูกน้อย” ต้องรู้อะไรบ้าง? #ThairathMoney ได้รวบรวมไว้ดังนี้
1. ศึกษารายละเอียดความคุ้มครอง
ตรวจสอบเงื่อนไข การให้ความคุ้มครองว่าอยู่ในช่วงอายุเท่าไร ครอบคลุมค่าใช้จ่ายด้านใดบ้าง มีโรงพยาบาลในเครือที่เป็นคู่สัญญา หรือเครือข่ายมีมากน้อยเพียงใด และอยู่ใกล้พื้นที่หรือไม่ ระยะรอคอยเป็นอย่างไร (ปกติ 30 วันสำหรับโรคทั่วไป และ 120 วันสำหรับโรคที่มีระยะก่อนาน) มีวงเงินประกันเท่าไร เปรียบเทียบหลายๆ แห่งเพื่อให้ตอบโจทย์และคุ้มค่ามากที่สุด
นอกจากนี้ ควรมองประเภทของความคุ้มครอง เช่น
● ผู้ป่วยนอก (OPD - Out Patient Department) จะรักษาแบบ รับยาแล้วกลับบ้าน ไม่มีการนอนค้างคืนที่โรงพยาบาล
● ผู้ป่วยใน (IPD - In Patient Department) จะรักษาแบบค้างคืนที่โรงพยาบาล
● อุบัติเหตุ (PA - Personal Accident) จะรักษาเนื่องจากเกิดอุบัติเหตุเท่านั้น และส่วนใหญ่จะรักษาภายใน 24 ชั่วโมงเท่านั้น
เนื่องจากประกันสุขภาพเด็กเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และคุณพ่อคุณแม่ควรที่จะวางแผนที่จะมีความคุ้มครองหากลูกเกิดไม่สบาย เพราะค่าใช้จ่ายในการรักษาแต่ละครั้งสูงมากเลยทีเดียว
2. เลือกวงเงินคุ้มครองที่เหมาะสม
โดยส่วนมากประกันสุขภาพเด็กจะมีทั้งหมด 2 แบบ ได้แก่ แบบแยกค่าใช้จ่าย และแบบเหมาจ่าย สำหรับคุณพ่อคุณแม่ท่านไหนอยากได้รับความคุ้มครองที่เต็มที่ ครอบคลุม แนะนำให้เลือกแบบเหมาจ่าย แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่ต้องการจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพน้อยก็แนะนำให้เลือกความคุ้มครองแบบแยกค่าใช้จ่ายที่สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายตามจริงจะเหมาะสมที่สุด
3. เลือกชำระเบี้ยประกันสุขภาพ
ต้องอยู่ในกำลังทรัพย์และวงเงินที่เหมาะกับการเงินของตัวเอง พ่อ-แม่ และผู้ปกครองต้องเลือกแผนประกันสุขภาพเด็กโดยเลือกชำระได้ทั้งแบบรายเดือน รายปี หรือแม้แต่การผ่อนชำระ ทั้งนี้ต้องดูกำลังการเงินของตัวเองด้วย และควรชำระเบี้ยประกันสุขภาพให้ไม่เกินกำลังของตัวเอง
4. ต้องเข้าใจระยะเวลารอคอยการอนุมัติกรมธรรม์
หลังจากที่คุณพ่อ-คุณแม่ หรือผู้ปกครองได้ทำประกันสุขภาพเด็กแล้ว จะมีระยะเวลาที่ต้องรอการอนุมัติจากกรมธรรม์ เพื่อป้องกันการเรียกค่าสินไหมเกินจากสภาพที่เป็นก่อนมาเอาประกันภัย และแต่ละบริษัทจะมีการกำหนดระยะเวลารอคอยที่แตกต่างกัน ดังนั้นก่อนที่จะเลือกซื้อแผนประกันสุขภาพให้ลูกควรดูว่ามีระยะรอคอยนานเท่าไรถึงจะใช้ได้ ซึ่งบางประกันสุขภาพมักจะไม่รับประกันโรคที่เคยเป็นมาก่อน หรืออาจจะทำได้ แต่ต้องมีระยะเวลารอคอย ฉะนั้นพ่อกับแม่ควรทำในตอนที่ลูกยังแข็งแรง
5. การสำรองจ่ายประกัน
บางกรณีพ่อ-แม่อาจจะต้องออกเงินส่วนตัวเพื่อจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปก่อน แล้วค่อยมาตั้งเบิกกับบริษัทประกันภายหลัง ตรงนี้เรียกว่า การสำรองจ่ายประกัน ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เพิ่งพ้นระยะเวลารอคอย 30 วัน หรือ 120 วัน, ใช้สิทธิโรงพยาบาล/คลินิกที่ไม่ใช้คู่สัญญา หรือต้องรอตรวจสอบประวัติเพิ่มเติม
6. เลือกบริษัทที่น่าเชื่อถือ
ชื่อเสียงของบริษัทจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือในการตัดสินใจทำประกันสุขภาพกับบริษัทนั้นๆ การให้บริการที่ดี ตอบทุกปัญหาและข้อสงสัย อีกทั้งมีความรวดเร็วในการจัดการ ติดต่อได้สะดวกในยามคับขัน ถือว่าตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ซึ่งในส่วนนี้ก็ถือว่าสำคัญมากในการทำประกันสุขภาพ เพราะที่ผ่านมาเนื่องจากการเจ็บป่วยของบรรดาลูกน้อยเพิ่มมากขึ้น ประกันสุขภาพเด็กเคลมพุ่ง บริษัทหลายแห่งประกาศยกเลิกประกันเด็กบางแผน อีกทั้ง “เท” ไม่ต่อสัญญาลูกค้าเก่า “แห่” เพิ่มเบี้ยประกัน
จะเห็นได้ว่าการ “เลี้ยงลูกดี” กับ “เลี้ยงลูกได้” มันต่างกัน เพราะการที่เด็กหนึ่งคนจะเติบโตไปแบบมีคุณภาพนั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ผู้ปกครองควรให้ความใส่ใจทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และพัฒนาการ เสริมสร้างความปลอดภัยของลูกน้อยต่อเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้น อย่างเช่น “โรคภัยไข้เจ็บ”
จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า “ประกันสุขภาพเด็ก” เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง โดยถือเป็นปัจจัยที่ 5 ที่พ่อ-แม่ขาดไม่ได้ หรือที่หลายคนมักจะเรียกว่าคือ “ยันต์กันป่วย” นั่นจึงทำให้การลดความเสี่ยงด้วยการทำประกันสุขภาพเด็ก ถือเป็นสิ่งที่ควรพิจารณา และมีติดบ้านไว้สัก 1 กรมธรรม์อย่างยิ่ง แต่ที่สำคัญต้องเลือกให้เหมาะสมกับลูก จ่ายตามกำลังทรัพย์ที่ไหว เลือกที่ครอบคลุม และเหมาะสมกับตัวเองให้มากที่สุด และเมื่อนั้นเราจะเบาใจกับเรื่องสุขภาพของลูกไปได้อีกประการหนึ่ง
อ้างอิง อลิอันซ์อยุธยา , Krungsri The COACH , รู้ใจประกันภัย