ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ในการจัดสัมมนา “The 2nd SET Annual Conference on Family Business ภายใต้แนวคิด Family Business in the Globalized Asia” เพื่อสร้างองค์ความรู้ให้กับธุรกิจครอบครัวไทย และธุรกิจที่สนใจจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งได้รับความสนใจ มีเจ้าของธุรกิจครอบครัวไทยจำนวนมากเข้าร่วมงาน
เพื่อรับฟังความรู้ แนวคิด กลยุทธ์ วิธีการบริหารจัดการธุรกิจครอบครัว ผ่านประสบการณ์และกรณีศึกษาจริงของผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ จากทั่วโลก ทั้งเรื่องการจัดโครงสร้างการดำเนินธุรกิจ การจัดสรรผลประโยชน์สมาชิกครอบครัว การวางแผนสืบทอดกิจการ และการบริหารความมั่งคั่งของธุรกิจและของครอบครัว
โดย ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดเผยว่า ธุรกิจครอบครัวยุคใหม่ต้องเผชิญหน้ากับโจทย์ทางธุรกิจใหม่ๆ ในการเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัลอย่าง AI และเงื่อนไขทางสิ่งแวดล้อม อย่างคาร์บอนเครดิต รวมทั้ง การทำให้บริษัทดำเนินธุรกิจ โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการมีบรรษัทภิบาลที่ดี (ESG) นอกจากการแข่งขันของโลกธุรกิจที่มีความรุนแรงมากขึ้น
ทำให้ธุรกิจจำนวนมากได้รับผลกระทบและต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจครอบครัวที่อำนาจการบริหารส่วนใหญ่ยังอยู่ในมือของ “ผู้นำ” ยุคบุกเบิกหรือเจน 2 ที่แม้มีความสามารถ มีประสบการณ์สูง แต่อายุมากขึ้นและอาจตามไม่ทันเทรนด์ธุรกิจเหล่านี้
นอกจากนี้ ธรรมชาติของธุรกิจครอบครัวทั่วโลก มีความท้าทายที่เหมือนกัน คือ การขัดแย้งกันเองภายในครอบครัว จากหลากหลายสาเหตุที่ส่งผลให้ธุรกิจครอบครัวไม่สามารถไปต่อได้ด้วยดี หรือมักจบลงภายในเวลาไม่กี่รุ่น
นั่นหมายความว่า ธุรกิจครอบครัวจำเป็นต้องมีการจัดโครงสร้างที่ดี ทั้งการจัดโครงสร้างการถือหุ้น โครงสร้างการบริหารจัดการ และต้องมีการสื่อสารกันอย่างใกล้ชิด มีกระบวนการแก้ไขกรณีเกิดความขัดแย้ง ที่สำคัญต้องเปลี่ยน Mindset ในการทำธุรกิจ โดยผู้นำธุรกิจปัจจุบันอาจต้องให้รุ่นใหม่เข้ามาเรียนรู้และมีบทบาทในการบริหารจัดการธุรกิจมากขึ้น!!
ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ กล่าวว่า ทางออกสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจครอบครัวมีการเติบโตอย่างยั่งยืนได้ คือ การนำธุรกิจเข้า “ตลาดหลักทรัพย์ฯ” เป็นบริษัทมหาชน ซึ่งนอกจากช่วยให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงแหล่งระดมทุนระยะยาว โดยไม่ต้องกู้แบงก์เสีย ดอกเบี้ย และไม่มีภาระการค้ำประกันส่วนตัว เพื่อนำเงินทุนไปต่อยอดขยายกิจการแล้ว ยังทำให้บริษัทมีภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือมากขึ้น และทำให้บริษัทมีการกำกับดูแลที่ดีขึ้น โปร่งใส เป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ดึงดูดให้นักลงทุน กองทุนต่างๆ เข้ามาลงทุน
นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าของหุ้น ซึ่งเป็นสินทรัพย์ของครอบครัวให้สะท้อนความจริง เพราะการอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำให้การตีมูลค่าหุ้นสูงกว่าการตีมูลค่าโดยปกติที่ตีตามมูลค่าทางบัญชี ทำให้ความมั่งคั่งของธุรกิจครอบครัวที่สร้างมาเพิ่มขึ้น รวมทั้งยังทำให้ผู้ถือหุ้นของครอบครัว มีสภาพคล่องทางการเงิน สามารถขายหุ้นให้กันเองหรือให้นักลงทุนภายนอก รวมทั้งขายหุ้นได้กำไร เพราะต้นทุนถูกกว่าบุคคลอื่น และสามารถขจัดความขัดแย้งกันในครอบครัว เพราะมีกรรมการอิสระช่วยไกล่เกลี่ยหรือมีการซื้อขายหุ้นกันได้ง่าย เพราะมีราคาตลาด ไม่ต้องมีปัญหาเรื่องราคาหรือมูลค่าทรัพย์สิน
ที่สำคัญยังสามารถดึงนักบริหารมืออาชีพหรือคนเก่งๆ ให้อยากเข้ามาร่วมงาน กรณีสมาชิกครอบครัวไม่ต้องการบริหารธุรกิจหรือลูกหลานของตระกูลยังไม่พร้อม แต่อยากให้ธุรกิจสืบทอดต่อไปยาวนาน โดยให้มืออาชีพหรือกองทุนรวมบริหารจัดการ โดยครอบครัวกำกับดูแลผ่านคณะกรรมการบริษัทได้
เมื่อมองภาพใหญ่ระดับโลก จะพบว่าธุรกิจครอบครัวที่มีอายุยาวนาน ส่วนใหญ่อยู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เกือบทั้งหมด ทั้งกลุ่มธุรกิจแบรนด์ลักชัวรี่ อย่าง LVMH, HERMES, Mercedes-Benz หรือแม้แต่ในไทย ตระกูลนักธุรกิจอย่าง เครือซีพี, ไทยเบฟ, เซ็นทรัล, โอสถสภา ล้วนใช้ตลาดทุนเป็นเครื่องมือขยายธุรกิจ ขณะเดียวกันก็มีธุรกิจครอบครัวที่เปลี่ยนมือไปอยู่ภายใต้การบริหารเจ้าของใหม่ เช่น โรงแรมโอเรียนเต็ล หรืออังกฤษตรางู แต่ธุรกิจก็ยังคงอยู่ยาวนาน
ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ กล่าวต่อว่า จากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ พบว่า 2 ใน 3 ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) เป็นธุรกิจครอบครัว คิดเป็น 67% ของ บจ.ทั้งหมดในตลาดฯ หากย้อนหลังช่วงเวลา 7 ปีที่ผ่านมา (ปี 60–66) ธุรกิจครอบครัวไทยมีการเติบโตทั้งสินทรัพย์ รายได้ และกำไรสุทธิ โดย ณ สิ้นปี 66 บริษัทธุรกิจครอบครัวมีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 47.03% รายได้รวม 45.7% กำไรสุทธิ 52.4% เมื่อเทียบกับบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด ส่งผลให้มูลค่าธุรกิจครอบครัวมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market cap) 50.2% ของมูลค่ามาร์เก็ตแคปทั้งตลาดฯ หรือคิดเป็น 8 ล้านล้านบาท ขณะที่มีการจ้างงานถึง 1.3 ล้านคน หรือ 74% ของการจ้างงานทั้งหมดของ บจ.ในตลาดหุ้นไทย
นอกจากนี้ พบว่าบริษัทธุรกิจครอบครัว 295 บริษัท มีรายได้จากต่างประเทศคิดเป็น 68-69% ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดที่มีรายได้จากต่างประเทศ โดยปี 66 บริษัทกลุ่มนี้มีรายได้จากต่างประเทศคิดเป็น 42% ของรายได้จากต่างประเทศรวมทุกบริษัทจดทะเบียน โดยมีมูลค่า 2.49 ล้านล้านบาท
ที่สำคัญบริษัททั้งหมดที่ได้รับการจัดเรตติ้งการมี ESG ที่ดีในระดับสูงใน SET ESG Rating จำนวนทั้งหมด 191 บริษัท เป็นบริษัทธุรกิจครอบครัวมากถึง 119 บริษัท หรือ 62% ที่มีรายชื่อใน SET ESG Rating ขณะที่คะแนน CG (บรรษัทภิบาล) กับธุรกิจครอบครัว ยังพบว่า 83% ของบริษัทธุรกิจครอบครัว มีคะแนน CG Score ในอันดับดีขึ้นไป และอยู่ในอัตรา 4–5 สูงกว่าบริษัทนอกกลุ่มธุรกิจครอบครัว รวมทั้ง 99% ของบริษัทธุรกิจครอบครัวมีกรรมการอิสระที่เป็นไปตามเกณฑ์
จากข้อมูลทั้งหมดนี้ ทำให้เห็นได้ว่าบริษัทธุรกิจครอบครัวได้ประโยชน์จากการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ขณะเดียวกันก็มีความสำคัญต่อตลาดทุนไทยอย่างมาก และถือเป็นรากฐานที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจ ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ความสำคัญและสนับสนุนการขับเคลื่อนระบบนิเวศ เพื่อสนับสนุนการเติบโตให้กับธุรกิจครอบครัวไทย
โดยมีแผนงานสำคัญที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งเพิ่มขีดความสามารถและขยายโอกาสให้ธุรกิจเข้าถึงแหล่งเงินทุน ผ่านการส่งเสริมความรู้ พัฒนาเนื้อหาหลักสูตรและสื่อการเรียนรู้ที่ครอบคลุมความรู้ที่สำคัญและจำเป็นสำหรับธุรกิจครอบครัว ไม่ว่าจะเป็น LiVE platform, โครงการ IDE to IPO และสัมมนาต่างๆ เพื่อช่วยเตรียมความพร้อมส่งเสริมให้มีธุรกิจครอบครัวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มากขึ้น