ฟรีแลนซ์กู้แบงก์ยังไงให้ผ่าน

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ฟรีแลนซ์กู้แบงก์ยังไงให้ผ่าน

Date Time: 26 ก.ค. 2567 05:42 น.

Summary

  • ชาวฟรีแลนซ์ทั้งหลายต้องพยายามสร้าง "เครดิตทางการเงิน" ของตัวเองให้แข็งแกร่ง เพื่อจะได้เข้าไปนั่งอยู่ในใจของธนาคารให้ได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก แต่ต้องใช้ความใส่ใจ ความสม่ำเสมอ และการวางแผนอย่างรอบคอบ

Latest

ปลดล็อกเรื่องภาษี!

แม้โลกสมัยใหม่ จะมีผู้ประกอบอาชีพอิสระหรือฟรีแลนซ์เพิ่มจำนวนสูงมากขึ้น จากข้อมูลตัวเลขจำนวนผู้มีงานทำของปี 2566 ทั้งหมด 39 ล้านคน เป็นฟรีแลนซ์สูงถึง 20 ล้านคนเลยทีเดียว

แต่ในสายตาของสถาบันการเงินอย่างธนาคารแล้ว กลับมองว่า ฟรีแลนซ์เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยง ทั้งจากความไม่แน่นอนเรื่องรายได้, ขาดหลักฐานรับรองเรื่องรายได้ ไม่มีสลิปเงินเดือนหรือหนังสือรับรองการทำงาน

นอกจากนี้ ในรายที่ไม่มีบัตรเครดิตหรือไม่เคยกู้มาก่อน แบงก์ก็จะไม่มีประวัติชำระหนี้ให้ประเมิน และยังมีเรื่องของความเสี่ยงในสายอาชีพที่บางแบงก์มองว่า ชาวฟรีแลนซ์มีความเสี่ยงสูงกว่ามนุษย์กินเงินเดือนมีรายได้ประจำ

ทำให้การขอกู้แบงก์ของชาวฟรีแลนซ์ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อรถ ต้องกลายเป็นเรื่องยากสุดหิน เมื่อเทียบกับคนทำงานประจำที่ดูจะเป็นที่รักใคร่ของธนาคารมากกว่า คิดแล้วมันน่าน้อยใจนัก

ชาวฟรีแลนซ์ทั้งหลายโปรดอย่านอยด์และน้อยใจไปเลย เพราะต้องยอมรับและเข้าใจว่า การจะเป็นคนที่ถูกเลือกถูกรัก มันก็ต้องอาศัยความอดทนตื๊อจนกว่าจะพิชิตใจได้สำเร็จ เช่นเดียวกับการกู้แบงก์ เมื่อเรารู้จุดอ่อนคือ การมีรายได้ที่ไม่แน่นอน และขาดความเข้าใจด้านการบริหารเงิน เราก็ต้องพยายามสร้าง “เครดิตทางการเงิน” ของตัวเองให้แข็งแกร่ง เพื่อจะได้เข้าไปนั่งอยู่ในใจของธนาคารให้ได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก แต่ต้องใช้ความใส่ใจ ความสม่ำเสมอ และการวางแผนอย่างรอบคอบ

เว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมาบอก เคล็ดลับสร้างเครดิตทางการเงินแบบเหนือชั้นของชาวฟรีแลนซ์ 5 ข้อ ให้ไปลงมือทำ เพื่อวางรากฐานความมั่นคงให้ตัวเองกัน ประกอบไปด้วย

1.บริหารรายได้รายจ่ายให้มีเงินเหลือออม จัดสรรรายได้ส่วนหนึ่งเป็นเงินออมอย่างสม่ำเสมอ เช่น ออมก่อนใช้ หักเงินออมทันทีที่ได้รับเงินค่าจ้าง

2.สร้างรายการเดินบัญชีในธนาคารอย่างสม่ำเสมอ การมีเงินหมุนเวียนในบัญชีอย่างต่อเนื่องแสดงถึงความสามารถในการสร้างรายได้ ใช้บัญชีธนาคารหลักในการรับเงินค่าจ้างจากลูกค้าทุกราย และจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้ผ่านบัญชีเดียวกัน

3.เก็บรักษาเอกสารแสดงที่มาของรายได้ เช่นสัญญาจ้าง ใบแจ้งหนี้ หลักฐานการโอนเงิน หรือรายงานภาษีเงินได้ เพื่อเป็นหลักฐานแสดงที่มาของรายได้ เผื่อสถาบันการเงินขอดูเพื่อประกอบการพิจารณาให้สินเชื่อ

4.รักษาประวัติการชำระหนี้ให้ดีด้วยการจ่ายหนี้ตรงเวลา จ่ายหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล หรือค่าผ่อนสินค้า ตรงเวลาทุกงวด เพื่อสร้างประวัติการชำระหนี้ที่ดี

และ 5.กู้เงินเท่าที่จำเป็น ไม่มีภาระหนี้เกินตัว การมีหนี้สินในระดับที่เหมาะสมและสามารถจัดการได้ แสดงถึงความรับผิดชอบทางการเงิน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สถาบันการเงินใช้ในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ

กำจัดจุดอ่อนได้แล้ว อยากเพิ่มจุดแข็งให้ตัวเองก็สามารถเข้าร่วมโครงการ “Happy Money, Happy Jobbers ชีวิตอิสระ งานโปรเงินปัง” เริ่มต้นเรียนรู้ผ่าน SET e-Learning 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรวางแผนการเงิน สไตล์ Multi-Jobbers & Freelancers และหลักสูตรวางแผนภาษีสไตล์ Multi-Jobbers & Freelancers เรียนฟรี ได้ที่ http://www.set.or.th/happymoney-happyjobbers


คุณนายพารวย

คลิกอ่านคอลัมน์ “รู้เก็บรู้ออม” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ