รายจ่ายสูง แต่รายได้ต่ำ พาคนไทย “แก่ก่อนรวย”คนอายุ 31-50 ปี มีปัญหาหนี้มากสุด เสี่ยงลำบากยามเกษียณ

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

รายจ่ายสูง แต่รายได้ต่ำ พาคนไทย “แก่ก่อนรวย”คนอายุ 31-50 ปี มีปัญหาหนี้มากสุด เสี่ยงลำบากยามเกษียณ

Date Time: 17 ก.ค. 2567 12:57 น.

Video

คนไทยจ่ายภาษีน้อย มนุษย์เงินเดือนรับจบ ปัญหาอยู่ที่ระบบหรือคนกันแน่ ? | Money Issue

Summary

  • SCB EIC เปิด "ชีวิตการเงิน" คนไทย รายจ่ายสูง แต่รายได้ต่ำ พากัน “แก่ก่อนรวย” พบคนอายุ 31-50 ปี มีปัญหาหนี้มากสุด คนรุ่นใหม่ ขาดเงินลงทุน เสี่ยงอยู่ลำบากยามเกษียณ แนะรัฐ เร่งส่งเสริมวินัยการออม เพิ่มสิทธิจูงใจทางภาษี เตรียมความพร้อม

Latest


คนไทยพร้อมไหม? กับ “วัยเกษียณ” ซึ่งข้อมูลสำรวจล่าสุด ของ SCB EIC (ธนาคารไทยพาณิชย์) อาจตอบคำถามนี้ ได้ชัดเจนที่สุด หลังพบว่า กลุ่มวัยทำงานใกล้เกษียณ (51-60 ปี) ส่วนใหญ่ยังมีสินทรัพย์น้อย โดยเฉพาะคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 50,000 บาทต่อเดือน มีความเสี่ยงสูงที่จะประสบปัญหารายได้ไม่พอรายจ่ายหลังเกษียณ 

คนไทย 1 ใน 4 ไม่มีการออม/กลุ่มอายุ 31-50 ปี เผชิญ ภาระหนี้สิน 

ในรายละเอียดสำคัญ ของ ผลสำรวจ SCB EIC Consumer Survey ชี้ว่า ปัญหาการออม นับเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อความพร้อมหลังเกษียณของคนไทย เนื่องจาก ภาพรวมคนวัยทำงาน ที่สามารถออมเงินได้ทุกเดือนยังมีไม่ถึงครึ่ง และอีกราว 1 ใน 4 ที่ไม่สามารถออมได้เลย โดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อยกว่า 15,000 บาทต่อเดือน 

ซึ่งจะเหลือเพียง 1 ใน 10 คนเท่านั้นที่สามารถออมได้สม่ำเสมอ สาเหตุสำคัญมาจากปัญหาภาระรายจ่ายสูงแต่รายได้ต่ำ โดยเฉพาะวัยทำงานอายุ 31-50 ปี ที่มีปัญหาภาระหนี้มากกว่ากลุ่มอื่น เพราะได้เริ่มก่อหนี้ก้อนใหญ่เอาไว้

SCB EIC ประเมินว่า พฤติกรรมการออมจะส่งผลอย่างมากต่อปัญหาแก่ก่อนรวยของคนไทย โดยเฉพาะคนอายุมากและรายได้ต่ำ ซึ่งผลสำรวจพบว่ามีวินัยการออมน้อยที่สุด 

ขณะที่คนรุ่นใหม่อายุต่ำกว่า 30 ปี พบว่าสามารถเริ่มออมสม่ำเสมอได้ตั้งแต่ช่วงรายได้ต่ำกว่ากลุ่มอื่นๆ โดยกลุ่มนี้มีพฤติกรรมเก็บก่อนใช้ได้ตั้งแต่รายได้ 30,000 บาทต่อเดือน แต่ถ้าเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน กลับพบว่ายังขาดวินัยการออม ส่วนหนึ่งเพราะใช้จ่ายตามกระแสสังคมมาก 

ซึ่งจะต่างจากคนอายุมากกว่าที่ส่วนใหญ่เริ่มมีพฤติกรรมเก็บก่อนใช้ตั้งแต่มีรายได้ 50,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป

คนรุ่นใหม่ อยากลงทุน แต่ขาดแคลนเงิน 

ผลสำรวจด้านการลงทุน พบว่าคนอายุน้อยที่มีเงินลงทุนมีสัดส่วนต่ำกว่าคนอายุมากกว่า และยังไม่ค่อยมีสินทรัพย์อื่นนอกจากเงินสดหรือเงินฝาก แม้ว่าคนรุ่นใหม่ดูจะสนใจและต้องการลงทุนมากกว่ากลุ่มคนอายุมากกว่า แต่ปัญหาขาดแคลนเงินลงทุนและความรู้ความเข้าใจในการลงทุนสินทรัพย์ทางการเงินยังเป็นอุปสรรคสำคัญของคนรุ่นใหม่

ทั้งนี้ จากทิศทางข้างต้น SCB EIC แนะว่า ภาครัฐต้องส่งเสริมให้ คนไทย เริ่มออมเร็วที่สุด ผ่านการเพิ่มสัดส่วนการออมตามระดับรายได้ในการออมภาคบังคับ พร้อมส่งเสริมความรู้ทางการเงินการลงทุน หรือ แม้กระทั่งให้สิทธิ ลดภาระผ่านช่องทางภาษีที่จูงใจ, เพิ่มการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ให้ผลตอบแทนสูง และ ภาครัฐควรช่วยลดความเสี่ยงฉุกเฉินให้เพิ่มเติม โดยช่วยจ่ายเบี้ยประกันความเสี่ยงที่จำเป็น สำหรับวัยใกล้เกษียณ เป็นต้น.

ที่มา : SCB EIC

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ Thairath Money ได้ที่ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney

 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ