ในวันที่ 13 มิถุนายนที่จะถึงนี้ “ไทยรัฐ กรุ๊ป” จะจัดงาน Thairath Forum 2024 “Talk of the GENs” เปิดเวทีความคิดหลากหลายมุมมองของคนหลายเจน เพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกันของคนทุกเจเนอเรชัน แม้ต่างวัยแต่ไม่แตกต่าง และเพื่อปูทางให้เข้าถึงพฤติกรรมของคนแต่ละ Gen ได้ง่ายขึ้น
“ทีมเศรษฐกิจ ไทยรัฐ” ได้นำรายงานผลสำรวจทักษะทางการเงินของไทย ล่าสุด ในปี 2565 ซึ่ง ธปท. ได้ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติในการสำรวจระดับทักษะทางการเงินของคนไทยตามกรอบ ของ The Organization for Economic Co-operation and Development (OECD) โดยเป็นการสำรวจทุก 2 ปี ซึ่งในปี 2565 เป็นการสำรวจ ครั้งที่ 9 ครอบคลุมกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 12,402 ครัวเรือน ทั้งในและนอกเขตเทศบาลจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้เห็นความรู้และพฤติกรรมทางการเงินของคนแต่ละ Gen ที่แตกต่างกัน
ทั้งนี้ ผลการสำรวจปี 2565 พบว่า คนไทยมีพัฒนาการระดับทักษะทางการเงิน (Financial Literacy: FL) ดีขึ้นต่อเนื่อง โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 14.28 คะแนน จากคะแนนเต็ม 20 คะแนน หรือคิดเป็น 71.4% สูงขึ้นจากการสำรวจในปี 2563 ที่ 67.4% และอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยการสำรวจทักษะทางการเงินของ OECD ในปี 2563 ที่ 60.5%
โดยทักษะทางการเงินของคนไทยมีพัฒนาการที่ดีขึ้นในเกือบทุกหัวข้อ โดย 1. ด้านความรู้ทางการเงิน (Financial Knowledge: FK) : คนไทยมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 4.88 คะแนน จากคะแนนเต็ม 7 คะแนน คิดเป็น 69.7% ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจาก ปี 2563 ที่ 62.6% ด้านพฤติกรรมทางการเงิน (Financial Behavior: FB): คนไทยมีคะแนนเฉลี่ยด้านพฤติกรรมทางการเงินอยู่ที่ 6.33 คะแนน จากคะแนนเต็ม 9 คะแนน คิดเป็น 70.3% โดยปรับตัวดีขึ้นจากปี 2563 ที่ 66.4% อย่างไรก็ตาม ด้านทัศนคติทางการเงิน (Financial Attitude: FA) : คนไทยมีคะแนนเฉลี่ยด้านทัศนคติทางการเงินอยู่ที่ 3.07 คะแนน จากเต็ม 4 คะแนน คิดเป็น 76.8% ซึ่งปรับตัวลดลงจากปี 2563 ที่ 77.8% เล็กน้อย
เร่งเพิ่มทักษะการเงินกลุ่ม Baby Boomer
ในขณะที่ในส่วนมิติของช่วงวัย พบว่าทุกช่วงวัยมีพัฒนาการระดับทักษะทางการเงินที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2563 รวมถึงองค์ประกอบด้านความรู้และพฤติกรรมทางการเงิน ขณะที่องค์ประกอบด้านทัศนคติทาง การเงินมีแนวโน้มลดลงในเกือบทุกช่วงวัย โดยเมื่อพิจารณาในแต่ละช่วงวัยพบว่ากลุ่ม Gen Baby Boomer (ผู้ที่เกิดก่อนปี 2509) มีระดับทักษะทางการเงินที่ 67.3% อยู่ในระดับต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงวัยอื่นๆ โดยการสำรวจในด้านความรู้ทางการเงินมีค่าเฉลี่ยที่ 60.9% ซึ่งมีระดับที่ต่ำกว่าภาพรวมคนไทยอย่างมีนัยสำคัญ
ด้านพฤติกรรมทางการเงินมีคะแนนที่ดีขึ้นในเกือบทุกหัวข้อ ยกเว้นการเลือกวิธีการออมที่เหมาะสมและการตั้งเป้าหมายระยะยาว โดยมีค่าเฉลี่ยที่ 68.4% ขณะที่ด้านทัศนคติทางการเงินอยู่ในระดับใกล้เคียงกับภาพรวมของคนไทย ที่ 76.0% คะแนนทัศนคติของ Gen Baby Boomer มีแนวโน้มลดลงตามช่วงอายุที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มหลังวัยเกษียณที่มีระดับคะแนนค่อนข้างต่ำ จึงควรสร้างความตระหนักในเรื่องการวางแผนทางการเงินและการเก็บออมสำหรับอนาคตเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถเก็บออมและมีเงินใช้จ่ายได้ตลอดช่วงอายุ
Gen X ต้องเริ่มวางแผนการออมวัยเกษียณ
ขณะที่ Gen X (ผู้ที่เกิดระหว่างปี 2509-2523) พบว่า มีระดับทักษะทางการเงินดีเป็นอันดับที่ 2 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงวัยอื่น โดยมีค่าเฉลี่ยคะแนนที่ 73.7% ด้านความรู้ทางการเงินมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ในข้อความเสี่ยงและผลตอบแทน มูลค่าของเงินตามกาลเวลา การกระจายความเสี่ยงในการลงทุน ส่งผลให้คะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 74.4% ด้านพฤติกรรมทางการเงินมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 71.4% อย่างไรก็ตาม ในคำตอบข้อบริหารจัดการเงินเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเงินไม่พอใช้ และการเลือกวิธีการแก้ไขปัญหาเมื่อเงินไม่พอใช้ คะแนนยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าช่วงวัยอื่นๆ ขณะที่ด้านทัศนคติทางการเงิน มีคะแนนเฉลี่ยสูงเป็นอันดับที่ 2 ของทุกช่วงวัย ที่ 77.3% โดยมีระดับลดลงจากการสำรวจครั้งก่อนเล็กน้อย โดยอาจยังต้องเร่งพัฒนาในด้านทัศนคติให้ตระหนักถึงความสำคัญในการวางแผนทางการเงินและการออมเพื่ออนาคต พร้อมกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมในการตั้งเป้าหมายระยะยาวและการเลือกวิธีการออมที่เหมาะสมเพิ่มเติมเพื่อให้มีความพร้อมในการเกษียณอายุ
Gen Y ได้คะแนนทักษะการเงินสูงสุด
สำหรับกลุ่ม Gen Y (ผู้ที่เกิดระหว่างปี 2524-2543) มีระดับทักษะทางการเงินสูงที่สุดเมื่อเทียบระหว่างช่วงวัย สอดคล้องกับองค์ประกอบ ทางการเงินทั้ง 3 ด้าน ได้คะแนนเฉลี่ย 75.7% โดยด้านความรู้ทางการเงินจากพัฒนาการที่ดีขึ้นในทุกหัวข้อ ทำให้มีคะแนนเฉลี่ย 78.6% ด้านพฤติกรรมทางการเงิน มีคะแนนเฉลี่ยที่ร้อยละ 72.4% ขณะที่ด้านทัศนคติทางการเงินได้คะแนน 77.5% ซึ่งเป็นช่วงวัยเดียวที่มีระดับทัศนคติทางการเงินดีขึ้น และอยู่ในระดับที่สูงกว่าช่วงวัยอื่น
อย่างไรก็ตาม พบว่า ช่วงวัยนี้เป็นวัยที่คนบางส่วนเพิ่งเริ่มต้นเข้าสู่การทำงานและเริ่มสร้างความมั่นคงให้กับชีวิต แต่พบว่าคนในช่วงวัยนี้อาจยังบริหารจัดการเงินเพื่อให้เพียงพอกับการดำเนินชีวิตได้ไม่ดีนัก จึงควรต้องเร่งปลูกฝังทัศนคติให้เห็นความสำคัญการวางแผนเพื่ออนาคต และกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมทางการเงินที่ดีต่อไป
Gen Z สนใจใช้วันนี้มากกว่าออม
ส่วน Gen Z (เกิดตั้งแต่ 2540 ขึ้นไป) ได้คะแนนระดับทักษะทางการเงินเฉลี่ย 72.7% แม้จะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า Gen Y และ Gen X แต่ช่วงวัยนี้กลับมีพัฒนาการที่สูงกว่าทุกช่วงวัย โดยเป็นผลจากทั้งองค์ประกอบด้านความรู้และพฤติกรรมทางการเงินที่มีระดับดีขึ้น ด้านความรู้ทางการเงินมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 77.4% เช่นเดียวกับด้านพฤติกรรมทางการเงิน ช่วงวัยนี้มีพัฒนาการสูงกว่าช่วงวัยอื่นๆ ค่อนข้างมาก โดยมีคะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อนถึง 9.2% มาอยู่ที่ 69.6% แม้จะยังมีคะแนนต่ำกว่า Gen Y และ Gen X แต่ก็ห่างกันไม่มากนัก ด้านทัศนคติทางการเงิน มีคะแนนเฉลี่ย 71.3% ซึ่งอยู่ในระดับต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงวัยอื่นในทุกหัวข้อ รวมถึงมีคะแนนเฉลี่ยรายข้อที่ลดลงจากปี 2563 ค่อนข้างมากโดยเฉพาะหัวข้อ “ใช้ชีวิตเพื่อวันนี้เท่านั้น ไม่ต้องวางแผนเพื่อวันข้างหน้าก็ได้” สะท้อนให้เห็นว่าคนในช่วงวัยนี้ที่ส่วนใหญ่ยังไม่คำนึงถึงการวางแผนการเงิน เพื่ออนาคตมากนัก
“วัยทำงาน” เจอปัญหาภัยการเงินสูงสุด
ขณะที่การสำรวจทักษะทางการเงินดิจิทัล และการตระหนักรู้เรื่องภัยทางการเงิน พบว่าระดับทักษะทางการเงินดิจิทัลของคนไทย คนส่วนใหญ่กว่า 73.3% ทราบว่าการแชร์ข้อมูลส่วนบุคคลบนสื่อโซเชียลมีเดียมีความเสี่ยงที่มิจฉาชีพอาจนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ ทั้งนี้ สัดส่วนผู้มีความรู้ในเรื่องความเสี่ยงจากการแชร์ข้อมูลส่วนบุคคลนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นผกผันกับอายุ โดยมีกลุ่ม Gen Baby Boomer มีเพียง 61.8% เท่านั้นที่ตอบว่าทราบถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งมีสัดส่วนค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับช่วงวัยอื่นๆ และพบว่ามีคนไทยเพียง 21.0% ที่มีพฤติกรรมการเปลี่ยนรหัสผ่านการเข้าใช้งานระบบออนไลน์เป็นประจำ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกลุ่ม Gen Baby Boomer ที่มีสัดส่วนผู้มีพฤติกรรมที่ดีน้อยกว่ากลุ่ม Gen Z ถึง 2.75 เท่า
สำหรับหัวข้อที่เป็นจุดอ่อนร่วมของคนทุกช่วงวัยคือทัศนคติต่อการใช้ระบบ ไวไฟ (Wi-Fi) สาธารณะเพื่อซื้อของออนไลน์โดยมีเพียง 34.8% ที่ตระหนักว่าการกระทำดังกล่าวไม่ ปลอดภัย โดยคนแต่ละช่วงวัยได้คะแนนในข้อนี้ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของประเทศ ขณะที่ด้านความตระหนักรู้ด้านภัยทางการเงิน เมื่อพิจารณาตามช่วงวัย พบว่ากลุ่มคนที่อยู่ในวัยทำงาน (Gen Y และ X) เป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนการพบเหตุการณ์ภัยทางการเงินมากกว่าช่วงวัยอื่น และ Gen Baby Boomer เป็นช่วงวัยประสบเหตุการณ์น้อยที่สุด.