ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้รายงานผลดำเนินงานและสถานการณ์หนี้เสีย ยอดผิดนัดชำระของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 6 แห่ง ประจำปี 66 ประกอบด้วย ธนาคารออมสิน ธนาคาร อาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือเอ็กซิมแบงก์ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
สำหรับภาพรวมการดำเนินธุรกิจ ณ สิ้นเดือน ธ.ค.66 ทั้ง 6 แบงก์รัฐ มีสินเชื่อรวม 6 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.27% จากสิ้นปี 65 อยู่ที่ 5.81 ล้านล้านบาท เงินฝากรวม 6.23 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.71% จากปีก่อน 6 ล้านล้านบาท ขณะที่หนี้เสียลดจากปีก่อนที่ 300,000 ล้านบาท เหลือ 252,000 ล้านบาท คิดเป็น 3.69% ของสินเชื่อรวม โดยมีการตั้งสำรอง 314% ของหนี้เสีย ส่วนยอดลูกหนี้ที่มีแนวโน้มเป็นหนี้เสีย โดยผิดนัดชำระตั้งแต่ 1-3 เดือน อยู่ที่ 275,000 ล้านบาท คิดเป็น 4.03% ของสินเชื่อรวม ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 14.82% และมีกำไรสุทธิรวม 61,806 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 50,946 ล้านบาทในปี 65
ทั้งนี้ ตัวเลขที่น่าสนใจคือ ลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระตั้งแต่ 1-3 เดือน ที่มีแนวโน้มจะกลายเป็นหนี้เสีย มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนจาก 247,262 ล้านบาทในสิ้นปี 65 เพิ่มเป็น 275,567 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 28,305 ล้านบาท โดยตัวเลขที่น่าจับตาที่สุด คือการผิดนัดชำระหนี้สินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้นจากปี 65 ซึ่งอยู่ที่ 199,237 ล้านบาท เพิ่มเป็น 224,062 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 24,825 ล้านบาท ส่วนมากมาจากยอดผิดนัดสินเชื่อที่อยู่ อาศัย บ้าน คอนโดมิเนียมที่เพิ่มเป็น 143,598 ล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 124,222 ล้านบาท และการบริโภคอื่นจากสินเชื่อมีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน เพิ่มเป็น 73,811 ล้านบาท จากปีก่อน 69,211 ล้านบาท
ขณะที่ภาคเกษตรกรรมหนี้ผิดนัดอยู่ที่ 14,458 ล้านบาท ลดจากปีก่อนที่อยู่ที่ 18,068 ล้านบาท แต่ธุรกิจขายส่งและขายปลีก ซ่อมยานยนต์และรถจักรยานยนต์ เพิ่มเป็น 11,282 ล้านบาท จากปี 65 อยู่ที่ 8,074 ล้านบาท
ขณะที่สถานะหนี้เสียหรือเอ็นพีแอล สิ้นปี 66 อยู่ที่ 252,503 ล้านบาท ลดลงจากปี 65 ที่อยู่ที่ 300,380 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากหนี้เสียภาคเกษตร ลดลงจาก 115,000 ล้านบาท เหลือ 63,176 ล้านบาท หนี้เสียภาคการผลิตมี 12,172 ล้านบาท ทรงตัว ขณะที่การขายส่งขายปลีก ซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ หนี้เสียอยู่ที่ 17,861 ล้านบาท ส่วนยอดหนี้เสียส่วนใหญ่มาจากหนี้อุปโภคบริโภคส่วนบุคคล อยู่ที่ 124,545 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ที่ 122,559 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นหนี้เสียเกิดจากการซื้อบ้าน ที่อยู่อาศัยถึง 78,458 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 9,000 ล้านบาท แต่หนี้เสียจากการบริโภคอื่น มีหนี้เสีย 43,692 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่อยู่ที่ 50,559 ล้านบาท
นายพรชัย ฐีระเวช ผอ.สศค.ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เผยว่า ตั้งแต่ 1 ธ.ค.66-23 พ.ค.67 มีประชาชนที่เป็นหนี้นอกระบบได้รับอนุมัติให้ความช่วยเหลือทางการเงินไปแล้ว 11,569 ราย ยอดอนุมัติรวมทั้งสิ้น 551 ล้านบาท.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่