นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยว่า 4 เดือนแรกของปี 67 สามารถบริหารเงินลงทุน 1.35 ล้านล้านบาท ได้ผลตอบแทนมากกว่า 3% ซึ่งสูงกว่าผลตอบแทนทั้งปีของปี 66 ซึ่งอยู่ที่ 1.46% และนับจากนี้หลังตนเข้ามาดำรงตำแหน่ง ได้ตั้งมาตรฐานขั้นต่ำในการสร้างผลตอบแทนให้กับสมาชิก กบข.ไว้ที่ไม่ต่ำกว่าเงินเฟ้อเฉลี่ย 10 ปี บวกเพิ่มอีก 2% เพื่อให้สมาชิก กบข.มีเงินเพียงพอในการใช้จ่ายยามเกษียณ และคาดว่าผลตอบแทนทั้งปีในปีนี้จะดีกว่าปีที่ผ่านมา
สาเหตุที่ผลตอบแทนปีนี้เพิ่มขึ้น เพราะได้มีการจัดสรรเงินออกไปลงทุนในตลาดต่างประเทศมากถึง 60% โดยส่วนใหญ่ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงคือ พันธบัตรหรือตราสารหนี้ และลงทุนในสินทรัพย์ที่เป็นโภคภัณฑ์มากขึ้น คือ น้ำมัน, ทองคำ ซึ่งเป็นตัวที่รองรับความเสี่ยงจากความผันผวน ที่เกิดจากสภาวะสงครามได้ดี ขณะที่สัดส่วนการลงทุนในประเทศ 40% ก็ให้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น แยกเป็นลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้รวมกันกว่า 20% และลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ไทย โดยโรงแรมในภูเก็ตยังให้ผลตอบแทนที่ดี รวมทั้งการลงทุนในบริษัทไทยที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ และกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ก็ให้ผลตอบแทนที่ดีเช่นกัน
นายทรงพล ยังกล่าวว่า กบข.ยังคงมองหาโอกาสในการหาผลตอบแทนจากสินทรัพย์ทางเลือกใหม่ๆเพิ่มขึ้น โดยปีนี้คาดว่าจะสรุปแผนลงทุน ในการสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับคนวัยเกษียณ (Retirement Complex) ที่ได้ลงนามร่วมลงทุน กับองค์กรการลงทุนเพื่อบริหารทุนสำรองของบรูไนดารุสซาลาม (Brunei Investment Agency) ไปแล้ว เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุและรองรับข้าราชการที่จะเกษียณด้วย รวมถึงมองหาโอกาสการลงทุนใหม่ๆ ในประเทศทั้งในภาคเกษตรอุตสาหกรรม พลังงานสีเขียว ธุรกิจเพื่อสุขภาพ และธุรกิจดาวน์สตรีมปิโตรเคมี “การร่วมลงทุนใน Retirement Complex นั้น กบข.ยังไม่ได้กำหนดวงเงินลงทุน เพราะกำลังศึกษา แต่มีความเป็นไปได้ว่าอาจให้สมาชิก กบข.ร่วมลงทุนเพิ่มเติมในส่วนของการสมัครใจ เช่น ลงทุนคนละ 500 บาทต่อเดือน ถ้ามีคนสนใจ 1 ล้านคน 1 ปี ก็จะมีเงินลงทุนรวม 6,000 ล้านบาท และเปิดรับนักลงทุนที่สนใจเข้าร่วมลงทุนด้วย แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบและแนวทางการลงทุน”
นายทรงพล กล่าวต่อว่า ปีนี้จะมีการทบทวนพอร์ตการลงทุนใหม่ ภายในไตรมาส 3 ปีนี้ ซึ่งเป็นไปตามกลยุทธ์ ที่จะมีการทบทวนแผนการลงทุนทุก 3 ปี เมื่อทำเสร็จแล้ว ต้องเสนอขออนุมัติจากกระทรวงการคลัง รวมทั้งศึกษาความเพียงพอของเงินเกษียณ ของสมาชิก กบข. เพราะข้าราชการมีหลายอาชีพ หลายตำแหน่ง มีรายได้ไม่เท่ากัน และมีไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตไม่เหมือนกัน ซึ่งผลการศึกษาในการประมาณการค่าใช้จ่ายการดำรงชีวิตหลังเกษียณของข้าราชการ สำรวจเมื่อปี 65 จำเป็นต้องทบทวนความเพียงพอใหม่ เพื่อให้ผลตอบแทนจากการลงทุนมากพอ ที่จะลดช่องว่างรายได้กับค่าใช้จ่ายให้แคบลง ขณะเดียวกันจะหาแนวทางเพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่ายให้กับสมาชิกด้วย ควบคู่กับการเพิ่มทางเลือกการลงทุนใหม่ๆ ที่แตกต่างไปจากในอดีต จากปัจจุบันที่มีแผนลงทุนให้เลือกตามความเสี่ยงของช่วงอายุที่จะมีการปรับอัตโนมัติ และแผนลงทุนที่ให้เลือกเองแบบสมัครใจ โดยจะมีการศึกษาทางเลือกในการรับผลตอบแทนรูปแบบใหม่ เช่น รับเงินปันผลระหว่างทาง การเลือกออมระยะสั้น เช่น ออมเงินครบ 15 ปี แล้วรับเงินต้นและผลตอบแทนออกไปได้คล้ายกับประกัน หรือการรับเป็นสิทธิใช้บริการ Retirement Complex การรับสิทธิ์รักษาพยาบาลส่วนเพิ่ม เป็นต้น เพื่อตอบโจทย์ชีวิตหลังเกษียณให้สมาชิกอยู่ได้อย่างมีอิสรภาพทางการเงิน.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่