นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้สัมภาษณ์ระหว่างการเดินทางพาสื่อมวลชนและตัวแทนเกษตรกรศึกษาดูงานเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเกษตรไทย ณ เมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อต้นเดือน พ.ค.67 ที่ผ่านมา ว่า การนำกลุ่มเกษตรกรหัวขบวน ซึ่งเป็นลูกค้าของ ธ.ก.ส. ภายใต้โครงการ “สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย” หรือโครงการล้านละร้อย มาศึกษาดูงานในครั้งนี้ เป็นการสร้างโอกาสทางการเรียนรู้ เปิดประสบการณ์จริง จะได้นำความรู้ที่ได้รับไปปรับปรุงต่อยอดกิจการของเกษตรกรเอง นับเป็นครั้งที่ 2 แล้วจากก่อนหน้านี้ได้พาไปศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น
โดยกลุ่มเกษตรกรที่พามาครั้งนี้เป็นเกษตรกรในภาคเกี่ยวข้องกับการปลูกดอกไม้ การส่งออกดอกไม้ การแปรรูปสินค้าเกษตร และการท่องเที่ยวชุมชน รวมทั้งสิ้น 10 ราย ได้แก่ 1.ไอเลิฟ ฟาวเวอร์ ฟาร์ม 2.วิสาหกิจชุมชนบ้านตาติด 3.ลองเลย 4.ไร่ภูตะวันออร์แกนิกฟาร์ม 5.พีเจ ริช อินเตอร์กรุ๊ป 6.เอ็นพีพี ออคิด 7.ชุมชนบ้านนาต้นจั่น 8.ชุมชนบ้านไหนหนัง 9.ทีมผำ และ 10.เดอะฟิกเนเจอร์การ์เด้นท์ โดยกลุ่มที่พาไปดูงานครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ เป็นรุ่นทายาทของเกษตรกรที่ดำเนินการมายาวนาน และต้องการยกระดับสินค้าของตัวเองให้เข้าสู่ระดับสากล และช่วยยกระดับชุมชนบริเวณรอบๆพื้นที่การเกษตรเพื่อเติบโตไปด้วยกัน
ทั้งนี้ ธ.ก.ส.เห็นว่า การพาเกษตรกรไปดูงานจะช่วยให้ปรับโลกทัศน์ ให้เห็นด้วยตาตัวเอง ได้ซึมซับ นำความจริงที่ได้สัมผัสมาปรับปรุงการทำงานของตัวเอง เพราะสถานที่แต่ละแห่งที่พาไป ทั้งตลาดซื้อขายส่งดอกไม้สดที่ใหญ่ที่สุดในโลก Flora Holland Aalsmeer เป็นสถานที่ส่งออกดอกไม้นานาชนิดไปทั่วโลก การท่องเที่ยววิถีชุมชนที่จัดการปัญหาทุกอย่างในชุมชนด้วยคนชุมชนเอง รวมทั้งการแปรรูปสินค้าเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีมาช่วย
“ผมมองว่า หากเราช่วยเปิดโอกาสสร้างประสบการณ์ที่ดีให้เกษตรกร หวังว่าจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจ และนำสิ่งที่ได้เห็นมาพัฒนาปรับใช้กับการเกษตรบ้านเราได้ เช่น ที่สวนดอกไม้ที่เนเธอร์แลนด์ จะออกแบบดีไซน์การปลูกก่อน เพื่อให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว หากเกษตรกรไทยนำไอเดียการดีไซน์พื้นที่ก่อน เพื่อไปปลูกผัก นอกจากจะขายผักได้ ยังจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว หรือเกษตรเชิงท่องเที่ยว เพื่อหารายได้เพิ่มอีกทางหนึ่ง”
ทั้งนี้ จากการสอบถามเกษตรกรที่ร่วมทริปในครั้งนี้ต่างให้ความเห็นตรงกันว่า ดีใจที่ ธ.ก.ส. ได้เปิดโอกาสให้เกษตรกรที่เป็นลูกค้า ได้เดินทางไปศึกษาดูงานในต่างประเทศ ได้เรียนรู้วิถีเกษตรกร การนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ ทำให้เกิดไอเดีย เพราะหาก ธ.ก.ส. ไม่พาไปดูงานครั้งนี้ ก็คงไม่มีโอกาสที่จะได้เดินทางไปดูงานในต่างประเทศ ดังนั้นการดูงานครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสที่ดี พร้อมจะเก็บเกี่ยวทุกประสบการณ์ที่พบเจอ นำมาปรับใช้ในเกษตรกรรมของตัวเอง
นายฉัตรชัยกล่าวต่อว่า สำหรับทิศทางการทำงานของ ธ.ก.ส.ในปี 67 นั้น ยังคงมุ่งเน้นที่จะสนับสนุนเงินทุนเพื่อเกษตรกร ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี การพัฒนาตลาดและองค์ความรู้การยกระดับผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะเป็นแกนกลางการเกษตร โดย ธ.ก.ส.มุ่งสู่การเป็นธนาคารพัฒนาชนบทที่ยั่งยืน
ส่วนยุทธศาสตร์ขององค์กร คือ การเพิ่มประสิทธิภาพ การบริหารจัดการสินทรัพย์และรายได้อย่างสมดุล การยกระดับการบริหารจัดการคุณภาพสินเชื่ออย่างยั่งยืน การพัฒนา สร้างความสัมพันธ์ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก เพิ่มขีดความสามารถองค์กรและบุคลากรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล สร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจแก่องค์กรและลูกค้าด้วยนวัตกรรม
“ผมรับตำแหน่งผู้จัดการ ธ.ก.ส.ครบ 1 ปี เมื่อวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยพยายามอย่างเต็มที่ที่จะช่วยเหลือเกษตรกรไทย ซึ่งเป็นฐานรากของประเทศให้แข็งแกร่ง มีองค์ความรู้ ปรับเปลี่ยนวิธีการทำเกษตร ด้วยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรมาใช้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ช่วยลดต้นทุน ลดคนกลางให้ได้มากที่สุด แม้จะช่วยเกษตรกรไม่ได้ทุกราย แต่จะเน้นลูกค้า ธ.ก.ส.ก่อน เพราะใกล้ชิดกัน”
สำหรับผลประกอบการในปี 66 ที่ผ่านมา โดยรอบปีบัญชีของ ธ.ก.ส. (1 เม.ย.66-31 มี.ค.67) ธ.ก.ส.ได้เติมเม็ดเงินสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องและกระตุ้นการลงทุนภาคการเกษตรไปแล้วกว่า 859,575 ล้านบาท ทำให้มียอดสินเชื่อคงค้าง 1.69 ล้านล้านบาท มียอดเงินฝากสะสม 1.89 ล้านล้านบาท มีกำไรสุทธิกว่า 7,000 ล้านบาท มีสินทรัพย์ 2.30 ล้านล้านบาท หนี้สินรวม 2.14 ล้านล้านบาท อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) 12.75% สูงกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่