ภาวะเศรษฐกิจกดดัน-ค่าครองชีพ ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ บวกกับอัตราดอกเบี้ยไทย ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง กำลังพ่นพิษ คนเป็นหนี้ โดยเฉพาะ หนี้ประเภทที่อยู่อาศัย ที่ผู้ขอสินเชื่อ ต้องผ่อนระยะนาน ยาว 30 ปี ค่างวดต่อเดือนสูง แต่สัดส่วนหักเข้าเงินต้นไม่มาก
ทำให้หลายคนเผชิญกับการแบกต่อไม่ไหว ข้อมูลจาก เครดิตบูโร ระบุ หนี้ที่กำลังจะเสีย 60-70% ของสินเชื่อที่อยู่อาศัย มาจากคนผ่อนบ้าน-คอนโดมิเนียม ระดับราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท
ทั้งนี้ สำหรับคนที่กำลังผ่อนคอนโดฯ ไม่ว่าจะซื้อไว้เพื่อปล่อยเช่า หรือ ซื้อเพื่ออยู่อาศัยเอง และเริ่มรู้สึกว่า กำลังจะผ่อนต่อไม่ไหว มีทางออกอย่างไรบ้าง
ข้อมูลแนะนำจาก สมาคมนักวางแผนการเงินไทย ระบุ เมื่อคอนโดฯ ขาดผู้เช่าเป็นเวลานาน หรือกรณีที่ซื้ออยู่อาศัยเอง หากเจ้าของขาดสภาพคล่อง (รายได้หดหาย) อาจทำให้ผ่อนชำระไม่ไหวจนต้องประกาศขาย/ปล่อยเช่า
5 ทางออก ผ่อนคอนโดฯ ไม่ไหว
ในระหว่างนี้ เจ้าของควรต้องรีบเข้าไปขอ “ประนอมหนี้” กับธนาคารตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนเกิดปัญหาจากการผิดนัดชำระหนี้ ที่จะนำไปสู่การคิดค่าปรับ ฟ้องร้อง และยึดทรัพย์ในลำดับถัดไป และต้องพยายามอย่าให้ผิดนัดชำระหนี้ เพื่อให้การเจรจากับธนาคารได้เงื่อนไขที่ดีที่สุด โดยมีทางเลือกดังนี้
- ขอขยายเวลาชำระหนี้ เพื่อให้หนี้ก้อนเดิมถูกชำระต่องวดต่ำลง โดยระยะเวลาในการขอกู้เงินขยายได้สูงสุด 30 ปี และอายุของผู้กู้เมื่อรวมกับระยะเวลาที่ขอขยายเวลากู้จะต้องไม่เกิน 70 ปี และหากมีดอกเบี้ยคงค้างอยู่จะต้องชำระให้หมดก่อนถึงจะขยายเวลาได้ กรณีไม่สามารถชำระดอกเบี้ยคงค้างได้ สามารถขอกู้เพิ่มพร้อมกับขยายระยะเวลาเงินกู้ได้แต่มีเงื่อนไขว่าต้องชำระค่างวดให้เป็นปกติก่อนเป็นระยะเวลา 3 เดือนติดกัน อัตราเงินผ่อนงวดใหม่ เรียกว่า “วงเงินที่ขอกู้เพิ่มรวมกับเงินต้นคงเหลือ” จะเพิ่มได้ไม่เกิน 25% ของค่างวดเดิม
- ขอชำระเฉพาะดอกเบี้ย วิธีนี้จะใช้ได้กับลูกหนี้ที่มีประวัติการชำระเงินดีเท่านั้น และขอเจรจาผ่อนผันกับธนาคารได้แค่ครั้งเดียว โดยระยะเวลาการผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ยจะทำได้นานสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน
- ขอชำระค่าผ่อนต่ำกว่างวดปกติ โดยยอดชำระต่อเดือนต้องสูงกว่าดอกเบี้ยในแต่ละเดือนตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป คือ ยังเป็นการผ่อนชำระทั้งต้นและดอกเบี้ยแต่ชำระในยอดที่ต่ำลง สามารถขอชำระค่างวดต่ำกว่าปกติได้นานสูงสุดไม่เกิน 2 ปี และดำเนินการด้วยวิธีนี้ได้เพียงครั้งเดียว ดังนั้น คอนโดฯ ที่เพิ่งเริ่มกู้มักจะใช้วิธีนี้ไม่ได้เนื่องจากยอดผ่อนมักเป็นดอกเบี้ยถึง 80–90% การประนอมหนี้วิธีนี้จึงลดยอดผ่อนได้ไม่มาก
- ขอพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นการขอพักชำระหนี้แบบเลื่อนจ่าย ทั้งส่วนของเงินต้นและดอกเบี้ย โดยทางธนาคารจะให้ระยะเวลาประมาณ 3–6 เดือนสำหรับการพักชำระหนี้ประเภทนี้ ซึ่งการพิจารณาขึ้นอยู่กับธนาคารเห็นว่าเหมาะสมหรือไม่ ประกอบกับเครดิตที่ดีของลูกหนี้
- การขอรีไฟแนนซ์ (Refinance) หรือการขอเปลี่ยนธนาคารขอสินเชื่อ เพื่อปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงหรือขยายเวลาการผ่อนชำระให้นานขึ้น โดยต้องอยู่ในเงื่อนไขที่สามารถรีไฟแนนซ์ได้ด้วย เช่น ผ่อนชำระมาแล้วเกิน 1–3 ปี (แล้วแต่ข้อกำหนดของธนาคารเดิม) โดยการรีไฟแนนซ์ก็มีค่าใช้จ่ายที่ต้องคำนึงถึงเช่นกัน เช่น ค่าประเมินหลักประกัน ค่าจำนองที่ดิน ค่าอากรแสตมป์ ค่าธรรมเนียมในการปล่อยกู้ของสถาบันการเงินแห่งใหม่ ค่าประกันอัคคีภัยกับสถาบันการเงินแห่งใหม่ เป็นต้น ทั้งนี้ การขอรีไฟแนนซ์ที่ธนาคารแห่งใหม่ ต้องทำในขณะที่ประวัติการผ่อนชำระที่ธนาคารเดิมยังคงผ่อนสม่ำเสมอไม่เสียประวัติด้วย
อ่านข่าวหุ้น ข่าวการเงิน และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่