ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ธนาคารผู้แทนสมาคมธนาคารไทย ได้มีโอกาสเข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน สถานการณ์หนี้ครัวเรือน รวมถึงการดูแลช่วยเหลือเพิ่มเติมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนกลุ่มเปราะบาง เมื่อวันที่ 23 เม.ย.2567 นำไปสู่การประกาศลด ดอกเบี้ยโดยนายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เมื่อวันที่ 25 เม.ย.2567 ระบุเห็นถึงความจำเป็นในการออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมสำหรับลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ในระหว่างเศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่และไม่ทั่วถึง ด้วยการลดดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ลง 0.25% สำหรับลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ทั้งลูกค้าบุคคลและเอสเอ็มอี เป็นเวลา 6 เดือนนั้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 เม.ย.2567 ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้นำร่องประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ลง 0.25% ต่อปี มีผลตั้งแต่วันที่ 29 เม.ย.2567 เป็นเวลา 6 เดือน ถือเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกที่ประกาศลดดอกเบี้ยตามมติของสมาคมธนาคารไทย
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ในฐานะประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการสมาคมฯ ได้มีมติร่วมกันปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% เพื่อช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยและกลุ่ม เปราะบางตามนโยบายรัฐบาล โดยร่วมกันปรับลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงสำหรับลูกค้ารายย่อยทุกกลุ่มลง 0.25% อันได้แก่ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ลูกค้ารายย่อย (MRR-Minimum Retail Rate) อัตราดอกเบี้ยตามประกาศ (Prime Rate) และอัตรากำไรอ้างอิงสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (SPRR-Standard Profit Rate for Prime Retail Customer) มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.67 เป็นระยะเวลา 6 เดือน
ขณะที่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะประธานบอร์ดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธ.ก.ส. ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามนโยบายนายกรัฐมนตรี โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR ลง 0.25% เป็นระยะเวลา 6 เดือน ให้กับเกษตรกรลูกค้ากลุ่มเปราะบางและเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหาในการผลิต จนทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง รวมถึงลูกหนี้เอ็นพีแอลที่อยู่ระหว่างปรับโครงสร้างหนี้ โดยมีลูกค้าที่จะได้รับประโยชน์กว่า 1.2 ล้านบัญชี มีผลตั้งแต่ 1 พ.ค.- 31 ต.ค. 67 “ที่ผ่านมา ธ.ก.ส.ได้ออกมาตรการต่อเนื่อง อาทิ มาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรรายย่อยวงเงินไม่เกิน 300,000 บาท มีผู้เข้าร่วมโครงการ 1.85 ล้านราย วงเงินกว่า 257,000 ล้านบาท และยังเตรียมขยายมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยผ่านโครงการพักชำระหนี้เฟส 2 เร็วๆนี้”
ด้านธนาคารออมสินประกาศลดดอกเบี้ย MRR ลง 0.25% ทำให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 6.595% ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ และเป็นการลดดอกเบี้ย ครั้งที่ 2 ของปี 2567 รวม ดอกเบี้ย MRR ลดลงแล้ว 0.40% ทั้งนี้ ดอกเบี้ยจะปรับลดลงอัตโนมัติ ลูกค้าไม่ต้องติดต่อธนาคาร
ขณะที่ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D แบงก์ ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย MRR ลง 0.25% ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน มีผลตั้งแต่ 1 พ.ค.67 เป็นต้นไป เช่นเดียวกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ ธอส. ปรับลดอัตราดอกเบี้ย MRR 0.25% ต่อปี สำหรับลูกค้า ที่มีอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัวเพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับลูกค้ากว่า 1.8 ล้านบัญชี รวมลูกค้า กลุ่มรายได้น้อย และกลุ่มเปราะบาง
สำหรับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ประกาศปรับลดอัตรา ดอกเบี้ย Prime Rate ลง 0.25% ต่อปี จาก 6.60% เหลือ 6.35% ต่อปี นับเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดีที่ต่ำที่สุดในระบบ เป็นเวลา 6 เดือน มีผลตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย.67 เป็นต้นไป เช่นเดียวกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ตามนโยบายรัฐบาล เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีรายย่อยและกลุ่มเปราะบาง มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2567.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่