ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการจัดงาน Monetary Policy Forum ครั้งที่ 1 ปี 67 ซึ่งเป็นการชี้แจงเศรษฐกิจ และนโยบายการเงิน โดยนายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท.กล่าวถึงอัตราเงินเฟ้อปีนี้ว่า ในระยะสั้นเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากยังมีมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ โดยเงินเฟ้อเดือน พ.ค.จะเริ่มเป็นบวก และกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปลายปีนี้ โดยปีนี้เงินเฟ้อพื้นฐานยู่ที่ 0.6% และเงินเฟ้อทั่วไปที่ 0.6% อย่างไรก็ตาม การแข่งขันจากสินค้าอุปโภคบริโภค ผัก ผลไม้นำเข้าจากจีน ซึ่งมีราคาไม่แพงเป็นปัจจัยเชิงโครงสร้างที่กดดันให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำในระยะต่อไป
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ธปท.ได้ทำแบบจำลองผลกระทบ โดยตั้งสมมติฐานว่า ดอกเบี้ยนโยบายลดลง 1% จะเป็นอย่างไร พบว่าแน่นอนภาระดอกเบี้ยจ่ายช่วงแรกของประชาชนจะลดลง แต่ระยะกลางภาระดอกเบี้ยจ่ายจะสูงขึ้น เพราะมีแรงจูงใจให้เกิดการก่อหนี้เพิ่มขึ้น นำมาสู่ภาระดอกเบี้ยจ่ายโดยรวมที่สูงขึ้น และอาจฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว โดยดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องมีส่วนเพิ่มการสะสมความเปราะบางของภาคเศรษฐกิจ
“คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับปัจจุบันเหมาะสมกับภาพรวมของเศรษฐกิจ และภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงกว่า 90% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) รวมทั้งยังเหมาะสมกับส่วนต่างดอกเบี้ยต่างประเทศ และการดูแลค่าเงินบาท ซึ่งอ่อนค่าลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม การประชุม กนง.ในรอบถัดไปเดือน มิ.ย.นี้ จะเห็นภาพเศรษฐกิจชัดเจนมากขึ้น ทั้งปัจจัยเชิงโครงสร้าง รวมถึงตัวเลขต่างๆ เช่น ตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก การเบิกจ่ายภาครัฐ การส่งออก ซึ่งเมื่อมีข้อมูลมากขึ้น ทำให้การตัดสินใจนโยบายการเงิน ดอกเบี้ยนโยบายเป็นไปอย่างรอบด้านมากขึ้นด้วย”
ด้านนายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท.กล่าวเพิ่มเติมว่า การคงอัตราดอกเบี้ยของ กนง.ที่ผ่านมา ไม่ได้ตั้งใจที่จะกดให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำเกินไปจนเศรษฐกิจขยายตัวไม่ได้ หรือทำให้หนี้ครัวเรือนลดลงอย่างรวดเร็ว เพราะกระบวนการแก้หนี้ครัวเรือนนั้น ต้องใช้เวลายาวนาน และอัตราดอกเบี้ยสูงไม่ได้ทำให้การก่อหนี้ลดลง แต่อาจจะประคองสถานการณ์ไม่ให้มีการก่อหนี้ที่ไม่เหมาะสมได้เท่านั้น และเท่าที่ ธปท.ทำแบบจำลองการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25-0.5% ไม่ได้เกิดผลต่างในการขยายตัวของเศรษฐกิจมากนัก และถ้าต้องลดดอกเบี้ยเยอะๆ คงไม่สามารถทำได้ ต้องดูให้เหมาะสมเพราะเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง
“มีคำถามว่า ธปท.เห็นว่าศักยภาพเศรษฐกิจลดลง แล้วทำไมดอกเบี้ยนโยบายไม่ลดให้เหมาะสมกัน จริงๆ แล้ว ผลกระทบจากการลดลงของศักยภาพเศรษฐกิจต่อดอกเบี้ยระดับที่เหมาะสมอยู่ที่ประมาณ 0.3% ในขณะนี้ศักยภาพเศรษฐกิจเราลดลงไม่มาก และมีโอกาสดีขึ้น ผลต่อการปรับดอกเบี้ยนโยบายจึงมีไม่มากอย่างที่คาดกัน อย่างไรก็ตาม กนง.พร้อมที่จะทบทวนอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ถ้ามีข้อมูลใหม่เข้ามา และส่งผลต่อภาพเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ”
ส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เรียก 4 ธนาคารพาณิชย์ขอให้ปรับลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางนั้น เป็นเรื่องของกลไกการตลาดที่ธนาคารแต่ละแห่งต้องไปพิจารณา อย่างไรก็ตาม เกณฑ์การปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบนั้น ทุกภาคส่วนเห็นความจำเป็น และ ธปท.ดำเนินการมาตลอด โดยเฉพาะการดูแลลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง เช่น ช่วงโควิดต้องปรับลดดอกเบี้ยรายย่อยก่อนรายใหญ่ รวมถึงมีมาตรการดูแลลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ส่วนธนาคารพาณิชย์จะมีการปรับการให้สินเชื่อเพื่อช่วยกลุ่มเปราะบางอย่างไรก็เป็นกระบวนการของธนาคารเอง ทางกนง.ก็จะจับตาว่าภาวะตลาดการเงิน โดยรวมมีการเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่