“ครูสตางค์ปล่อยของ” ก้าวสำคัญสร้างห้องเรียนความรู้ทางการเงิน ปลูกฝัง “เด็กไทย” ให้ใช้เงินเป็น

Personal Finance

Banking & Bond

Content Partnership

Content Partnership

Tag

“ครูสตางค์ปล่อยของ” ก้าวสำคัญสร้างห้องเรียนความรู้ทางการเงิน ปลูกฝัง “เด็กไทย” ให้ใช้เงินเป็น

Date Time: 5 เม.ย. 2567 20:30 น.
Content Partnership

Summary

  • ความรู้ทางการเงินเป็นเรื่องสำคัญและได้รับการกล่าวมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าต้องอยู่ในหลักสูตรการศึกษาของนักเรียนไทย บนเวทีนำเสนอและจัดแสดงผลงานของ “ครูสตางค์” ในการสร้างห้องเรียนการเงินในสถานศึกษา

ความรู้ทางการเงินเป็นเรื่องสำคัญและได้รับการกล่าวมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าต้องอยู่ในหลักสูตรการศึกษาของนักเรียนไทย บนเวทีนำเสนอและจัดแสดงผลงานของ “ครูสตางค์” ในการสร้างห้องเรียนการเงินในสถานศึกษา เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงผู้เชี่ยวชาญจากทั้งวงการศึกษาและการเงินการลงทุนได้ชี้ประเด็นผ่านการเสวนาเรื่อง “บทบาทที่แตกต่างบนเส้นทางการร่วมผลักดันความรู้ทางการเงินสู่ระบบการศึกษา” ไว้อย่างน่าสนใจ

ผลการสํารวจเมื่อปี 2565 พบว่า คนไทยมีพัฒนาการของระดับทักษะทางการเงินที่ดีขึ้น โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 71.4% สูงขึ้นจากปี 2563 ที่ 67.4% ซึ่งหากเทียบกับอีก 26 ประเทศที่เข้าร่วมโครงการสำรวจทักษะทางการเงินของ OECD ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 60.5% อาจกล่าวได้ว่าประเทศไทยมีพัฒนาการเรื่องนี้ดีขึ้น หากมองลึกลงไปที่ กลุ่ม Gen Z พบว่าพัฒนาการด้านความรู้ทักษะทางการเงินที่สูงกว่าทุกช่วงวัย แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ทัศนคติของคนกลุ่มนี้กลับมีแนวโน้มลดลง และมีคะแนนเฉลี่ยน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับวัยอื่น สะท้อนให้เห็นว่าคนในช่วงวัยนี้อาจไม่ได้คำนึงถึงการวางแผนทางการเงินเพื่ออนาคตสักเท่าไรนัก

ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องวางรากฐานความรู้ทางการเงิน และเร่งปลูกฝังทัศนคติเพื่อเสริมสร้างวินัยทางการเงินที่ดีให้กับคนวัยนี้ เช่น ออมก่อนใช้ ออมเผื่อฉุกเฉิน ออมเผื่อเกษียณ ซึ่งจะนำไปสู่ความเป็นอยู่ทางการเงินที่ดี (Financial well-being) ในอนาคต

เพราะ “ความรู้ทางการเงิน” คือ ทักษะสำคัญของชีวิต

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตระหนักถึงความสำคัญในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ ทั้งจากปัจจัยเรื่องหนี้ครัวเรือนไทยที่สะสมมานานและมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ฉุดรั้งสถานะความเป็นอยู่ที่ดีทางการเงินของประชาชน

อีกทั้งยังเห็นถึงการดำเนินนโยบายแก้ปัญหาหนี้ในเชิงป้องกัน โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะทางการเงิน (Financial Literacy) แก่กลุ่มวัยเรียน เพื่อปลูกฝังความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมทางการเงินที่เหมาะสม สามารถรับมือกับความท้าทายต่างๆ ในอนาคตได้อย่างมั่นคง การส่งผ่านความรู้ทางการเงินจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มี “คุณครู” ที่เป็นฟันเฟืองสำคัญ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงดำเนินโครงการบ่มเพาะ พัฒนา และสร้างครูแกนนำภายใต้ชื่อ “ครูสตางค์” เพื่อส่งต่อความรู้ทางการเงินภายในสถานศึกษาให้เป็นวงกว้างและยั่งยืน โดยเป็นการประยุกต์ความรู้ทางการเงินไปใช้กับการเรียนการสอนจริงในห้องเรียน เกิดเป็น “ห้องเรียนการเงิน” ในสถาบันการศึกษา จึงเป็นที่มาและทำให้เกิดโครงการ “ครูสตางค์ปล่อยของ”

ด้วยมุ่งหวังให้โครงการนี้ สร้างแรงบันดาลใจ ให้ครูแกนนำลองสร้างห้องเรียนการเงิน ออกแบบห้องเรียนเรื่องความรู้ทางการเงินที่หลากหลายต่อการปรับใช้ และทำให้ความรู้ทางการเงินแก่เยาวชนคนไทยให้เกิดขึ้นได้จริง

บนเวทีนำเสนอและจัดแสดงผลงานของครูสตางค์ในการสร้างห้องเรียนการเงินในสถานศึกษา ซึ่งถูกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา หนึ่งในช่วงสำคัญของงานคือ เวทีสัมมนา หัวข้อ “บทบาทที่แตกต่างบนเส้นทางการร่วมผลักดันความรู้ทางการเงินสู่ระบบการศึกษา” เป็นการเปิดมุมมองเชิงนโยบายต่อการร่วมผลักดันความรู้ทางการเงินสู่ระบบการศึกษา จากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

เริ่มแรก นวพร วิริยานุพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านดุลยภาพการออมและการลงทุน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ฉายภาพว่า ในส่วนของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลังได้มีการจัดทำแผนระดับชาติ “แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงิน ปี 2565-2570” ซึ่งกำหนดกรอบการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้มีความชัดเจนเพื่อพัฒนาทักษะทางการเงินให้ครอบคลุมทุกช่วงวัยทั่วประเทศ และร่วมผลักดันพัฒนาเนื้อหาทักษะทางการเงินให้บรรจุอยู่ในระบบการศึกษาไทย

ขณะที่ปัจจัยแห่งความสำเร็จที่จะเป็นส่วนช่วยให้ทักษะทางการเงินมีความก้าวหน้าได้แก่ 1.โครงสร้างทางการศึกษา ที่สถานศึกษาจะต้องเอื้อต่อการเรียนรู้ในห้องเรียน หลักสูตรการเรียนที่ครอบคลุมเด็กทุกช่วงวัย และที่สำคัญคือครูผู้สอน 2.สื่อสังคมออนไลน์ ที่จะต้องมีการสอดแทรกเกร็ดความรู้ในเรื่องทางการเงินเข้าไป 3.กลไกการขับเคลื่อนทักษะทางการเงิน ที่จะต้องมีความต่อเนื่อง และเห็นผลเป็นรูปธรรม

อรมนต์ จันทพันธ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายคุ้มครองและตรวจสอบบริการทางการเงิน ธปท. ระบุว่า “ทักษะทางการเงิน” เป็น “ทักษะของชีวิต” ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยสร้างโอกาสให้กับชีวิตของทุกคนในอนาคต และยังป้องกันภัยที่จะมาถึงตัวได้

การที่จะมีอิสระทางการเงินได้ จะเป็นต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็ก ดังนั้นการสอน “วิชาทางการเงิน” และผลักดันให้ห้องเรียนทางการเงินสามารถเกิดขึ้นได้จริง ทาง ธปท. มีส่วนช่วยในผลักดัน ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำร่างกรอบสมรรถนะทางการเงิน ว่าแต่ละช่วงชั้นเรียน นักเรียนควรจะรู้ มีทัศนคติ และความสามารถที่จะทำอะไรเรื่องการเงินได้บ้าง เพื่อเป็นแนวทางให้ครูนำไปใช้ผลิตสื่อการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ การจัดทำเนื้อหาความรู้ทางการเงิน (content book) ที่ถูกต้องและครบถ้วน การจัดทำตัวอย่างแผนการสอนในแต่ละช่วงชั้นเผยแพร่บนเว็บไซต์ Satang story ของ ธปท. เพื่อเป็นแนวทางให้ครูผู้สอนสามารถนำไปปรับใช้ รวมไปถึงการสร้างชุมชนครูทางการเงินให้เข้มแข็ง เพื่อให้ครูสามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์การสร้างห้องเรียนทางการเงินร่วมกันได้

ติดกระดุมเม็ดแรก ปูทางสู่ความรู้ทางการเงินที่มีคุณภาพ

ด้าน พรรณวดี ลดาวัลย์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาความรู้ตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มองว่า ความรู้ทางการเงินเป็นเรื่องสำคัญ หากไม่มีพื้นฐานทางการเงินที่ดีพอ เปรียบเสมือนการติดกระดุมเม็ดแรกผิด มันจะผิดหมด จึงต้องมีการปลูกฝังที่ดี ซึ่งในส่วนของ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีการส่งเสริมเรื่องของความรู้ทางด้านการเงินการลงทุน ในลักษณะนอกห้องเรียน ผลักดันเนื้อหาองค์ความรู้ทางการเงินการลงทุน ในระบบการศึกษา ผ่านโครงการเงินทองเป็นของมีค่า, เศรษฐศาสตร์เพชรยอดมงกุฎ

สนับสนุนให้นักเรียนมีองค์ความรู้ในเรื่องของการเงิน ส่วนที่อาคารตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็มี Investory หรือพิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุน ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจในการเริ่มต้นวางแผนการเงินและการลงทุนให้แก่เยาวชนและประชาชนทั่วไปที่สนใจ นอกจากนี้ ยังมีการสนับสนุนวางแผนเรื่องการออมผ่านโครงการต่างๆ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาพฤติกรรมด้านการเงินเพื่อความมั่นคงของชีวิต

“เพราะการเลี้ยงเด็กหนึ่งคนให้เติบโต ไม่ใช่แค่พ่อแม่พี่น้อง คุณครู แต่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน อาจจะมากน้อยต่างกัน เพื่อให้เด็กในวันนี้เป็นผู้ใหญ่ที่ดีในวันหน้า เพราะความรู้ทางการเงินไม่ใช่แค่วิ่งร้อยเมตรแล้วจะชนะ แต่คือการวิ่งมาราธอน”

ขณะที่ ดร.จรูญศรี แจบไธสง รองผู้อำนวยการ สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. มองว่า การที่เด็กจะก้าวไปสู่วัยผู้ใหญ่ที่มีอิสระทางการเงิน จะต้องได้รับการปลูกฝัง ดังนั้นบทบาทสำคัญคือ ต้องให้ความรู้ เกี่ยวกับการเงิน เพื่อให้เด็กสามารถประคับประคองไปสู่จุดที่ดำเนินชีวิตได้

ที่ผ่านมาได้มีการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอน ด้านความรู้ทางการเงินของนักเรียน ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งรูปแบบการดำเนินงานมี 47 โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ โดยแต่ละโรงเรียนจะมีครู 1 ท่านเป็นแกนนำ มีการนำสื่อการสอน เช่น บอร์ดเกมการเงินมาใช้ และในอนาคตจะมีการขยายขอบเขตให้ครอบคลุมโรงเรียนมากยิ่งขึ้น

อีกทั้งแนวทางการจัดการเรียนรู้ในด้านของ Financial Literacy ที่ครูจะได้รับการพัฒนาในเรื่องของการออกแบบการจัดการเรียนการสอน ทั้งสอนการฝากเงิน การออม การคิดดอกเบี้ยให้เป็น นักเรียนในแต่ละชั้นเรียนจะมีการเรียนรู้ทางการเงินที่แตกต่างกันออกไปจะทำให้รู้ว่าการที่จะสอนให้เด็กมีองค์ความรู้ทางด้านการเงิน เด็กต้องรู้อะไรบ้าง ต้องทำอะไรได้ ต้องมีคุณลักษณะแบบไหน ฉะนั้นหากกรอบเสร็จสิ้น ทั้งหมดนี้ก็จะนำไปสู่การขับเคลื่อนในห้องเรียนที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น


Author

Content Partnership

Content Partnership