อึ้ง! กู้หมื่นห้าผ่อน 18 ปีไม่หมด ธปท.เปิดโอกาสลูกหนี้ปิดจบ “หนี้เรื้อรัง” 1 เม.ย.นี้

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

อึ้ง! กู้หมื่นห้าผ่อน 18 ปีไม่หมด ธปท.เปิดโอกาสลูกหนี้ปิดจบ “หนี้เรื้อรัง” 1 เม.ย.นี้

Date Time: 14 มี.ค. 2567 07:50 น.

Latest

ปลดล็อกเรื่องภาษี!

น.ส.อรมนต์ จันทพันธ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายคุ้มครองและตรวจสอบบริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 1 เม.ย.นี้ ลูกหนี้เรื้อรังกลุ่มเปราะบาง ซึ่งเป็นลูกหนี้ที่ดีส่งค่างวดขั้นต่ำมาตลอด แต่ไม่มีโอกาสจบปิดหนี้ได้ ในส่วนสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับประเภทวงเงินหมุนเวียน (ไม่รวมสินเชื่อจำนำทะเบียน สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล และบัตรเครดิต) และสินเชื่อบัตรกดเงินสด สามารถเข้าสู่มาตรการแก้หนี้เรื้อรังได้เร็วขึ้น

“โดยที่ผ่านมา ธปท.พบว่ากลุ่มที่เป็นหนี้เรื้อรังในกลุ่มสินเชื่อส่วนบุคคลที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตรา 25% ต่อปี หากชำระตามวงเงินที่ชำระขั้นต่ำ 3% ต่อเดือน จะถูกนำไปตัดดอกเบี้ยถึง 2.1% ตัดเงินต้นเพียง 0.9% ดังนั้น หากมีการกู้เงิน 15,000 บาท โดยจ่ายขั้นต่ำต่อไปเรื่อยๆ จะใช้เวลาปิดหนี้ถึง 18 ปี มีภาระดอกเบี้ยรวม 29,000 บาท แต่ถ้าเข้าร่วมมาตรการจะปิดจบหนี้ได้ภายใน 8.5 ปีเท่านั้น ภาระดอกเบี้ยรวมเหลือ 17,500 บาท”

น.ส.อรมนต์ กล่าวต่อว่า ลูกหนี้ที่มีสิทธิเข้าร่วมโครงการจะมี 2 กลุ่มคือ 1.ลูกหนี้ที่เริ่มมีปัญหาหนี้เรื้อรัง (General PD) คือลูกหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้นมาแล้ว 3 ปี แต่ไม่ถึง 5 ปี โดยลูกหนี้จะได้รับการแจ้งเตือนจากเจ้าหนี้ให้จ่ายหนี้เพิ่มขึ้น หรือให้ความช่วยเหลือให้สามารถปิดจบหนี้เร็วขึ้นตามมาตรการ โดยต้องขอปรับโครงสร้างหนี้ หรือโปะปิดหนี้ได้ทันที

2.ลูกหนี้ที่เป็นหนี้เรื้อรัง (Severe PD) คือลูกหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้นรวม มาแล้ว 5 ปี และมีรายได้ต่อเดือนน้อยกว่า 2 หมื่นบาท สำหรับลูกหนี้สถาบันการเงิน หรือน้อยกว่า 1 หมื่นบาท สำหรับเจ้าหนี้ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) โดยลูกหนี้จะได้รับการแจ้งเตือน และสมัครใจเข้าร่วมมาตรการปิดจบหนี้เรื้อรัง (opt-in) ด้วยการเปลี่ยนประเภทสินเชื่อเป็นสินเชื่อที่ผ่อนชำระเป็นงวดให้ปิดจบหนี้ได้ภายใน 5 ปี ลดดอกเบี้ยลงเหลือไม่เกิน 15% ต่อปี โดยลูกหนี้จะต้องปิดวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนเดิมก่อน

“ลูกหนี้จะได้รับการแจ้งเตือนเป็นรายบัญชีผ่านช่องทางที่ได้ตกลงกับเจ้าหนี้ เช่น จดหมาย, อีเมล, SMS, Application และหากลูกหนี้ต้องการทราบสถานะของตัวเอง สามารถติดต่อสาขา หรือ Call Center ของผู้ให้บริการและในกรณีที่ลูกหนี้มีหลายบัญชี อาจเลือกบางบัญชีเข้ามาตรการก่อนก็ได้ เพื่อให้ยังมีสภาพคล่องในการดำรงชีพ”.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ