ขออนุญาตนำโพสต์เฟซบุ๊ก วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ มาแชร์ความคิดเห็นเกี่ยวกับ นโยบายการเงินการคลังของประเทศ ที่มองในสามเสาหลักของเศรษฐกิจ นโยบายการเงิน นโยบายการคลังและนโยบายปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ในบริบทวิธีการทำงาน ข้อจำกัดและผลข้างเคียง
เริ่มจากนโยบายการเงิน มีวัตถุประสงค์ ในการดูแลปริมาณเงินทั้งระบบให้เหมาะสม สนับสนุนเศรษฐกิจโดยรวมเติบโตอย่างต่อเนื่อง ไม่ทำให้ค่าเงินด้อยค่าลง ไม่ว่าจากราคาสินค้าหรืออัตราแลกเปลี่ยน
เสถียรภาพของการเงินจากการลดอัตราดอกเบี้ยมากเกินไป หรือใส่ปริมาณเงินเข้าไปในระบบมากเกินไป อาจทำให้เกิดฟองสบู่ในอสังหาริมทรัพย์ ราคาสินทรัพย์ต่างๆ เกิดสภาวะหนี้ท่วม และคนจะมุ่งเก็งกำไรมากไป
เป็นเชื้อสะสมนำไปสู่วิกฤติการเงิน หรือวิกฤติค่าเงิน
จาก ข้อจำกัดที่ต้องผ่านกลไกตลาดในระบบการเงิน เช่นการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะต้องใช้เวลานานระหว่าง 12-18 เดือน ถึงจะเกิดผลกับเศรษฐกิจ บางช่วงที่เกิดวิกฤติรุนแรง แบงก์ชาติจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงแรง หรือต่อเนื่อง ผลข้างเคียงที่ตามมา มากมาย รวมถึงการกลับมาเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจเปิด ต้องเผชิญกับข้อจำกัดการไหลเข้าออกของเงินทุนระหว่างประเทศ ถ้าอัตราดอกเบี้ยนโยบายกับดอกเบี้ยในตลาดโลกมากเกินไป จะเกิดปัญหาเสถียรภาพตามมาอีก
ดังนั้น นโยบายการเงินไม่สามารถเข้าไปแก้เฉพาะจุดได้
“นโยบายการเงินเป็นเหมือนน้ำเกลือที่ฉีดเข้าเส้นเลือดหลักเพื่อรักษาอาการขาดน้ำหรือแร่ธาตุที่จำเป็นของร่างกาย แม้จะช่วยให้สดชื่นขึ้นบ้าง แต่น้ำเกลือไม่สามารถแก้ไขอาการป่วยที่ต้องการยาเฉพาะทาง ถ้าคิดแต่จะให้น้ำเกลือเข้าไปเพิ่มขึ้น นอกจากจุดที่เส้นเลือดตีบจะไม่ได้ประโยชน์แล้ว อาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมปอด กระทบกับการทำงานของไต กระเพาะปัสสาวะ ในระยะยาวไม่เป็นผลดีต่อร่างกายแน่นอน”
ปัญหาเศรษฐกิจไทย คือมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้รายได้และทรัพย์สินกระจุกตัว เศรษฐกิจในภาพรวมยังฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ธุรกิจขนาดใหญ่มีพลังและอำนาจเหนือตลาดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ธุรกิจเอสเอ็มอีก็ลำบาก ไม่สามารถแข่งขันได้ ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกที่เมืองเล็กๆจะได้ยินเสียงบ่นว่าเศรษฐกิจไม่ดีเอามากๆ เพราะต้องพึ่งเอสเอ็มอีเป็นหลัก โควิดที่ผ่านมาทำให้ธุรกิจ เอสเอ็มอีล้มละลาย และไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง
การแก้ปัญหาการเงินและสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ ควรให้ความสำคัญกับนโยบายกระจายสภาพคล่องทางการเงิน มากกว่านโยบายทางการเงิน ต้องแก้ที่เส้นเลือดเล็กตามจุดที่ตีบตันให้อวัยวะทั่วร่างกายได้รับสารอาหารอย่างทั่วถึง ควรเร่งปรับโครงสร้างหนี้ครัวเรือนให้เท่ากับขนาดและความรุนแรงของปัญหา เร่งรัดปรับโครงสร้างหนี้ ธุรกิจเอสเอ็มอี ดูแลกลุ่มเปราะบาง ข้าราชการ พนักงานของรัฐ และลูกจ้างบริษัททั่วไป
ทั้งหมดนี้น่าจะเป็นคำตอบของคำว่า ความเหมาะสมคืออะไร จะได้ไม่ต้องไปดันทุรัง.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th
คลิกอ่านคอลัมน์ "คาบลูกคาบดอก" เพิ่มเติม