คนไทยโอนพุ่ง 5.08 ล้านล้าน ปี 66 แอปแบงก์ล่ม 19 ครั้งรวม 26 ชั่วโมง

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

คนไทยโอนพุ่ง 5.08 ล้านล้าน ปี 66 แอปแบงก์ล่ม 19 ครั้งรวม 26 ชั่วโมง

Date Time: 16 ก.พ. 2567 06:39 น.

Summary

  • ธปท.เผยยอดโมบายแบงกิ้ง ปี 66 ล่ม 19 ครั้ง รวม 26 ชั่วโมง ชี้คนไทยส่วนใหญ่หันมาใช้ธนาคารผ่านมือถือเป็นธุรกรรมหลัก สิ้น พ.ย. 66 มีจำนวนทั้งสิ้นกว่า 106 ล้านบัญชี มูลค่าธุรกรรม 5.08 ล้านล้านบาท ย้ำปีนี้ต้องล่มน้อยลง เร่งระบบตรวจจับและติดตามบัญชีเกือบเท่าเวลาจริง ป้องกันมิจฉาชีพไซเบอร์

Latest

เปิด 5 ข้อควรระวัง “เด็กจบใหม่” อยากรวยเร็ว จะเริ่มต้นลงทุนต้องรู้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้รายงานสถิติระบบเทคโนโลยีสารสนเทศขัดข้อง กระทบต่อการให้บริการสำคัญของธนาคารพาณิชย์  ประจำปี 2566 โดยพบว่า มีการขัดข้องของระบบโมบาย แบงกิ้ง หรือแอปพลิเคชันธนาคารในมือถือจำนวนทั้งสิ้น 19 ครั้ง รวม 26 ชั่วโมง โดยการขัดข้องสูงสุดเป็นของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 6 ครั้ง เวลาในการขัดข้องรวม 4 ชั่วโมง ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 4 ครั้ง จำนวน 7 ชั่วโมง ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) 4 ครั้ง จำนวน 5 ชั่วโมง นอกจากนั้น ขณะที่เป็นการขัดข้องของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) 2 ครั้ง รวม 3 ชั่วโมง ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) 1 ครั้ง จำนวน 3 ชั่วโมง ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) 1 ครั้ง จำนวน 2 ชั่วโมง และธนาคารกสิกรไทย 1 ครั้ง จำนวน 2 ชั่วโมง

นอกจากนั้นยังมีการขัดข้องของระบบอิเล็กทรอนิกส์แบงกิ้งจำนวน 2 ครั้ง ซึ่งทั้งสองครั้งเป็นของธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) ส่วนการขัดข้องของการให้บริการเครื่องเอทีเอ็ม และเครื่องฝากเงินอัตโนมัติ มีจำนวน 4 ครั้ง เป็นของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารทิสโก้ จำกัด และธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) รายละ 1 ครั้ง สุดท้ายเป็นการขัดข้องของการให้บริการของสาขา โดยมีการขัดข้องทั้งสิ้น 4 ครั้ง เป็นของธนาคารแห่งประเทศจีน จำกัด ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) รายละ 1 ครั้ง

 ทั้งนี้ หากพิจารณาธุรกรรมการชำระเงินผ่านบริการ Mobile Banking และ Internet Banking พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก โดยธุรกรรมทางการเงินส่วนใหญ่ปรับมาอยู่ในโทรศัพท์มือถือเป็นหลัก โดยตัวเลขล่าสุดเดือน พ.ย.ปี 2566 มีจำนวนบัญชีลูกค้าที่ใช้บริการโมบาย แบงกิ้งทั้งสิ้น 106,439,691 บัญชี เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน 10,794,163 บัญชี ปริมาณรายการธุรกรรมทั้งสิ้น 2,679,189,000 รายการ เพิ่มขึ้น 642,628,000 รายการ คิดเป็นมูลค่าการทำรายการผ่านโมบายแบงกิ้งทั้งสิ้น 5.802 ล้านล้านบาท ขณะเดียวกัน คนไทยกลับใช้บริการอินเตอร์เน็ต แบงก์กิ้งลดลง จากยอดเดือน พ.ย.2565 ที่ผ่านมามีการใช้ทั้งสิ้น 41,115,075 บัญชีลดมาเหลือ 27,995,116 บัญชีในเดือน พ.ย.2566 แต่มีมูลค่าการทำรายงานทั้งสิ้น 2.878 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ย.2565 จำนวน 118,000 ล้านบาท เนื่องจากธุรกรรมที่ทำผ่านอินเตอร์เน็ต แบงกิ้ง จะมีมูลค่าต่อรายการสูง

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ธปท.ได้ติดตามการดำเนินการของธนาคารพาณิชย์ และได้กำชับในเรื่องการให้บริการ โดยเฉพาะการทำธุรกรรมผ่านโมบายแบงกิ้ง ในปี 2567 ให้เกิดการขัดข้องน้อยที่สุด และใช้ระยะเวลาในการแก้ไขเร็วที่สุด เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการอย่างสะดวก นอกจากนั้นยังได้กำชับให้ธนาคารพาณิชย์ ดำเนินการปรับระบบโมบายแบงกิ้งให้ทันสมัยตลอดเวลา เพื่อรับมือกับการเข้ามาเจาะระบบ หรือใช้ช่องโหว่ของระบบมิจฉาชีพ

โดยได้มีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่น่าสงสัย รวมทั้งเพิ่มมาตรการตรวจจับและติดตามบัญชีหรือธุรกรรมต้องสงสัย เพื่อให้จำกัดความเสียหายได้เร็วขึ้น และลดการใช้บัญชีม้า โดย ธปท.ได้กำหนดเงื่อนไขการตรวจจับและติดตามธุรกรรมเข้าข่ายผิดปกติ หรือกระทำความผิด โดยให้สำนักงานรายงานไปสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) รวมทั้งให้สถาบันการเงินต้องมีระบบตรวจจับและติดตามบัญชีหรือธุรกรรมต้องสงสัยแบบ near real-time เพื่อให้สามารถระงับธุรกรรมได้ทันทีเป็นการชั่วคราวเมื่อตรวจพบ.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ