เศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ แนะจับตาประชุม กนง. ย้ำแบงก์ชาติต้องเป็น "อิสระ" ชี้ "ลดดอกเบี้ย" ไม่ใช่ยาวิเศษ

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

เศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ แนะจับตาประชุม กนง. ย้ำแบงก์ชาติต้องเป็น "อิสระ" ชี้ "ลดดอกเบี้ย" ไม่ใช่ยาวิเศษ

Date Time: 6 ก.พ. 2567 14:28 น.

Video

บุกโรงงาน PANDORA ช่างไทยผลิตจิวเวลรี่ แบรนด์โลกแสนล้าน | On The Rise

Summary

  • เศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ แนะจับตา กนง. ประชุมนัดแรกของปี ย้ำแบงก์ชาติต้องเป็นอิสระ ดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ส่วนการเงิน การคลังต้องเล่นคนละบทบาท อย่าก้าวก่ายกัน พร้อมมองการลดดอกเบี้ยอาจไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจเสมอไป ด้านกรุงไทย ชี้ เศรษฐกิจไทยยังไม่เผชิญกับภาวะเงินฝืด แม้อัตราเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง ต่ำสุดในรอบเกือบ 3 ปี

Latest


รศ.ดร.พรชนก คัมภีรยส คูเวนเบิร์ค อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาเศรษฐศาสตร์การเงินระหว่างประเทศ ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า ผลการประชุมกนง. ทุกนัดเป็นเครื่องมือในการส่งสัญญาณบอกว่าแบงก์ชาติคิดอย่างไรกับระบบเศรษฐกิจ สำหรับนัดแรกของปี 2567 นี้เป็นที่จับตาอย่างยิ่ง นักลงทุนต่างชาติรอฟังอยู่ว่าหากคงดอกเบี้ยไว้ เป็นเพราะอะไร เพราะความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายการเงินสำคัญอย่างยิ่งต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ 

สำหรับประเทศไทยใช้นโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น แบงก์ชาติดูทั้งเสถียรภาพด้านราคา การขยายตัวทางเศรษฐกิจ และเสถียรภาพของระบบการเงิน แม้หลายฝ่ายอยากเห็นการใช้นโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นให้ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงๆ ลดภาระหนี้ 

แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของนโยบายการเงิน หน้าที่ของแบงก์ชาติคือ ดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ยั่งยืน และทั่วถึง แม้กระแสการลดดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นทั้งโลกในปีนี้ แต่เป้าหมายนโยบายการเงินของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ความเหมาะสมของดอกเบี้ยนโนบายแต่ละประเทศจึงต่างกันได้ 

การเงินการคลังต้องเล่นคนละบทบาท

จากข่าวการแทรกแซงทางการเมืองต่อการกำหนดนโยบายการเงิน ความเป็นอิสระของแบงก์ชาติยิ่งต้องชัดเจน รัฐบาลมีนโยบายการคลัง มีการใช้จ่ายภาครัฐ แบงก์ชาติมีนโยบายการเงิน เพิ่มลดดอกเบี้ย เพิ่มลดสภาพคล่อง สองฝ่ายมีจุดมุ่งหมายเดียวกันให้เศรษฐกิจของประเทศเจริญเติบโต แต่ต้องเล่นคนละบทบาท "อย่าก้าวก่ายกัน"

“ขณะที่นโยบายการคลังใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตรงจุดกว่าและเห็นผลเร็วกว่านโยบายการเงิน แต่มาพร้อมกับต้นทุนของคนทั้งประเทศ นโยบายการเงินควรทำหน้าที่ช่วยสนับสนุนให้การเติบโตเป็นไปอย่างมีเสถียรภาพ คือตบให้อยู่ในร่องในรอย เพราะการเติบโตหวือหวา ร้อนแรงเกินควร อาจดูดีในระยะสั้นแต่อาจส่งผลร้ายต่อระบบในท้ายที่สุด”

มีหลายประเทศที่นโยบายการคลังและนโยบายการเงินไปทางเดียวกัน ไม่มีใครขัดใคร แล้วก็ชวนกันลงเหวในที่สุด เช่น ประเทศในฝั่งอเมริกาใต้ช่วงยุค 80 ภาครัฐใช้จ่ายเยอะ รายได้ไม่พอกับรายจ่าย ต้องยืมเงินธนาคารกลาง ทำให้สภาพคล่องในระบบเพิ่มสูง คือใช้ทั้งนโยบายการคลังและนโยบายการเงินแบบขยายตัว

สุดท้ายระบบเศรษฐกิจที่ร้อนแรงก็นำไปสู่วิกฤตืการเงิน หรือประเทศตุรกีที่ขึ้นชื่อเรื่องการขาดอิสระในการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลาง รัฐบาลพลิกตำราเศรษฐศาสตร์โดยให้ธนาคารกลางแก้ปัญหาเงินเฟ้อด้วยการลดดอกเบี้ยนโยบาย มีการปลดผู้ว่าธนาคารกลางบ่อยครั้ง สุดท้ายก็เกิดวิกฤติเศรษฐกิจและวิกฤติความเชื่อมั่นจากต่างชาติ 

ลดดอกเบี้ยไม่ใช่ยาวิเศษ

นักเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ อธิบายต่อว่า การลดดอกเบี้ยอาจไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจเสมอไปและถ้าทำได้อาจใช้เวลาเป็นปี เราจะเห็นว่าหลังจากวิกฤติซับไพรม์ ธนาคารกลางทั้งหลายลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หลายประเทศใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบ แต่ก็ยังใช้เวลานานกว่าระบบเศรษฐกิจจะฟื้น หรือการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารในประเทศพัฒนาแล้วที่เร็วและแรงในรอบที่ผ่านมา ก็ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจถดถอยอย่างที่กลัวกัน

“ช่วงที่ผ่านมาหลายฝ่ายพูดเหมือนนโยบายการเงินเป็นยาวิเศษ ไม่ลดดอกเบี้ยจะทำให้ประเทศแย่ ฟื้นจากโควิดช้ากว่าเพื่อนบ้าน ไม่เห็นใจคนจน นโยบายการเงินกลายเป็นแพะรับบาป จริงๆ แล้วเราทุกคนรู้ว่าเศรษฐกิจไทยมีปัญหาเพราะปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก นอกจากเราต้องพึ่งพิงภายนอกประเทศ ในประเทศเราเองก็มีปัญหาทั้งจากสังคมสูงวัย คุณภาพการศึกษา การเมือง ความไม่เท่าเทียม สารพัดอย่างซึ่งแก้ไม่ได้ด้วยอัตราดอกเบี้ย และถ้าไม่แก้ปัญหาอย่างจริงจัง เราจะเป็นกบต้มเหมือนที่พูดกัน”

แต่ถ้าไม่ลดดอกเบี้ยแล้วทำอะไรได้อีก รศ.ดร.พรชนก ถามต่อว่า ทำไมถึงอยากลดดอกเบี้ย? ถ้าเป็นเพราะอยากลดภาระหนี้ ทั้งรัฐบาลและแบงก์ชาติมีมาตรการเฉพาะจุดที่ทำได้ หรือหากอยากให้มีการลงทุนเพิ่ม ไม่ใช่แค่ลดดอกเบี้ยเพื่อลดต้นทุน แต่ต้องสร้างให้เกิดโอกาสการลงทุนที่ทำกำไร 

หลายคนมีภาพว่าเศรษฐกิจไทยกำลังวิกฤติ จริงๆ แล้วการลดดอกเบี้ยนโยบายให้ผลในวงกว้าง มีทั้งข้อดีข้อเสีย และถ้าไม่ระวังก็นำไปสู่วิกฤติได้เช่นกัน คนมีรายได้น้อยอาจกู้มาบริโภค หนี้สินเพิ่ม ชำระคืนไม่ได้ เกิดหนี้เสีย คนมีรายได้สูงหันไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เก็งกำไร ฟองสบู่แตก เงินบาทอาจอ่อนค่าลง ระบบการเงินมีปัญหา เป็นหน้าที่ของแบงก์ชาติที่ต้องนำเรื่องทั้งหลายนี้ไปพิจารณา การเพิ่มลดหรือคงดอกเบี้ยนโยบายแบงก์ชาติต้องตอบได้ว่าทำไปเพราะอะไร ต้องไม่ทำเพราะแรงกดดัน

เศรษฐกิจไทยยังไม่เผชิญกับภาวะเงินฝืด 

ด้าน Krungthai COMPASS ชี้เศรษฐกิจไทยยังไม่เผชิญกับภาวะเงินฝืด แม้อัตราเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง แตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 3 ปี โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ม.ค. ติดลบที่ -1.11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัว 4 เดือนติดต่อกัน จากการลดลงของราคาในหมวดพลังงานและอาหารสด ส่วนราคาพลังงานหดตัวจากมาตรการลดภาระค่าครองชีพของภาครัฐ ขณะที่ราคาอาหารสดลดลงตามราคาผักสดและเนื้อสุกร สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.52% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 

ดังนั้นแม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบต่อเนื่อง แต่ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังมิได้เผชิญกับภาวะเงินฝืด เนื่องจาก 1. มาตรการภาครัฐเพื่อบรรเทาค่าใช้จ่ายด้านพลังงานถือเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อติดลบ 2. อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งมีสัดส่วนกว่า 2 ใน 3 ของตะกร้าเงินเฟ้อ ยังคงเป็นบวกอย่างต่อเนื่อง บ่งชี้ว่าสินค้าหลายหมวดมีราคาอยู่ในระดับสูง และ 3. หากเทียบรายเดือน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปขยายตัว 0.02%MoM กลับมาเป็นบวกได้ในรอบ 5 เดือน 

นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงโดยเฉพาะวิกฤติทะเลแดงที่อาจกดดันให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้นในระยะข้างหน้า ด้วยปัจจัยข้างต้น คาดว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.5 ต่อปีไว้ ในการประชุมวันที่ 7 ก.พ. 2567 นี้


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ