กูรูดัง “การเงิน” เปิดแนวคิด พลิกชีวิต คนอยากรวย ส่อง 10 อย่าง ที่อภิมหาเศรษฐี  “ไม่ทำ” กัน

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

กูรูดัง “การเงิน” เปิดแนวคิด พลิกชีวิต คนอยากรวย ส่อง 10 อย่าง ที่อภิมหาเศรษฐี “ไม่ทำ” กัน

Date Time: 4 ก.พ. 2567 10:53 น.

Video

บุกโรงงาน PANDORA ช่างไทยผลิตจิวเวลรี่ แบรนด์โลกแสนล้าน | On The Rise

Summary

  • Thairath Money ร่วมกับ aomMONEY จัดงานเสวนา “Money ที่รัก” รับเดือนแห่งความรัก กูรูการเงินชื่อดัง “ก้อย-วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ” เปิด 6 แนวคิด พลิกชีวิตคนอยากรวย กับส่อง 10 อย่าง ที่อภิมหาเศรษฐี “ไม่ทำ” กัน ปลดล็อกปัญหาหนี้ เงินเดือนสูงแต่ไร้เงินออม ขณะ “หนึ่ง-พนิดา ชูกุล” เจ้าของเพจ MadamFinney เปิดนิยาม “ความรักเงิน” แนะให้รู้จัก “เงิน” มากกว่าที่เห็น ใช้ให้เป็นมากกว่าที่ “คิด” 

Latest


นับเป็นเวทีทอล์กแรกของวงการสื่อไทย ที่คนฟังต้องจิ้มระหว่าง “ความรัก” กับ “เงิน” คุณจะเลือกอะไร? แต่จะดีกว่าไหม หากชีวิตประสบความสำเร็จทั้งการเงินและความรัก ขณะเดียวกันรักที่มี ก็สามารถช่วยต่อยอดเป็นความมั่นคง มั่งคั่ง ให้กับชีวิตได้ 

วานนี้ (3 ก.พ. 67) Thairath Money (สื่อในเครือไทยรัฐออนไลน์) ร่วมกับ aomMONEY เพจชื่อดังเรื่องการเงิน จัดเสวนาพิเศษ “Money ที่รัก” เปิดเวที พูดคุยกับ “ก้อย-วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ” นายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทยคนแรก และ “หนึ่ง-พนิดา ชูกุล” ผู้ตรวจสอบบัญชี เจ้าของเพจ MadamFinney ผ่านประสบการณ์ “รักและไม่รักเงิน” ให้ได้รู้จักเงินมากกว่าที่เห็น ใช้ให้เป็นมากกว่าที่คิด ซึ่งจัดขึ้นที่โรงภาพยนตร์ Screen X Paragon Cineplex สยามพารากอน ชั้น 6 

รสนิยมสวนรายได้ จุดเริ่มต้นของปัญหาการเงิน 

โดย “วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ” นักวางแผนทางการเงิน” และผู้เขียนหนังสือชื่อ “เงินไม่ใช่ทุกอย่าง แต่ทุกอย่างเริ่มต้นที่เงิน” กล่าวว่า ทัศนคติเรื่องการเงินนับเป็นรากฐานสำคัญของชีวิตคนเรา และเป็นจุดเริ่มต้นของการวางแผนทางการเงิน 

อย่างไรก็ตาม ด้วยค่านิยมทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน เช่น การอวดไลฟ์สไตล์ เพื่อสร้างภาพให้ตัวเองดูดีในสายตาเพื่อนฝูงผ่านโซเชียลมีเดีย ก่อเกิดรสนิยมสูงกว่ารายได้ และการใช้เงินไม่ถูกไม่ควรตามมา

อีกประการที่แนวโน้มน่าห่วง คือ รูปแบบบริการทางการเงินสมัยใหม่ อย่าง Buy Now Pay Later (ใช้ก่อนจ่ายทีหลัง) ได้เป็นสิ่งเร้าที่ทำให้คนไทยมีปัญหาทางเงินมากขึ้นในทุกช่วงวัย และหลายครอบครัวพังก็เพราะปัญหาการเงิน 

“อยากแนะ ไม่มีเงินอย่าเพิ่งซื้อ หรือเที่ยวก่อนผ่อนทีหลัง เป็นเรื่องที่น่ากลัว เราต้องเก็บเงินให้ได้ก่อนค่อยใช้ หรือค่อยไปเที่ยว ทำแบบนี้ชีวิตจะมีภูมิคุ้มกัน และไม่มีปัญหาทางการเงินตามมา” 

เช่นเดียวกับเทรนด์การใช้ชีวิตรูปแบบ YOLO (You Only Live Once) ที่กำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มคนเจน Z โดยเน้นใช้ชีวิตให้คุ้มค่า เพราะสิ้นหวังกับอนาคตนั้น ก็เป็นแนวคิดที่น่ากังวล เพราะการวางแผนที่ดี สามารถทำให้เราใช้ชีวิตอย่างราบรื่นได้ 

สูตรสำเร็จเรื่องเงิน ไม่มีตายตัว  

กูรูการเงิน ยังชี้ว่า เรื่อง “การเงิน” เป็นเรื่องที่คนทุกช่วงวัยสามารถเรียนรู้ได้ ขณะเดียวกัน พ่อแม่-ผู้ปกครองเอง ก็สามารถเป็นผู้ช่วยให้บุตรหลานได้เช่นกัน ด้วยการสอนให้เห็นคุณค่าของเงิน สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องว่า “เงินทอง” เป็นของหายาก

ทั้งนี้ วัยต่ำกว่า 25 ปี อยากแนะให้ระมัดระวังการใช้จ่าย จะได้มีเงินเก็บออม ขณะคนวัยหลัง 26 ปีขึ้นไป มีโอกาสจะเกิดปัญหาสภาพคล่องสูง เพราะมักมีการก่อหนี้ต่างๆ เกิดขึ้น จึงควรใช้ชีวิตให้เหมาะสมกับรายได้ของตัวเอง คบเพื่อนที่ดีเพื่อเกื้อกูลชีวิตต่อกันไปในทางที่ถูกต้องเหมาะสม  

อีกอย่างพึงรู้ไว้ว่า สูตรสำเร็จ หรือทางลัดทางการเงิน ไม่มีจริงในโลก โดยไลฟ์โค้ชต่างๆ เราเลียนแบบได้บางอย่างเท่านั้น เพราะปัจจัย แวดล้อม หรือยุคสมัยต่างกัน ให้เลือกนำมาปรับใช้ในบางข้อที่เหมาะกับวิธีการของเรา แต่ที่ทำได้เลยคือเทคนิค “การออมก่อนใช้” และคิดแบบวิเคราะห์ ไม่ว่าจะซื้อของ หรือการลงทุน ผ่านการไตร่ตรอง ข้อดี-ข้อเสีย ก่อนใช้เงิน

สรุป 6 เคล็ดลับการวางแผนการเงิน ที่ทุกๆ คนเริ่มต้นทำได้ 

  1. ประหยัด ไม่ใช้ทิ้ง ใช้ขว้าง ไม่กินทิ้งกินขว้าง 
  2. ใช้ข้าวของให้สมกับฐานะของเรา ใช้หรูน้อยกว่าสถานะไม่เป็นไร แต่ใช้เว่อร์กว่า เป็นแน่ๆ คือเดือดร้อน
  3. ในช่วงที่ยังหนุ่มสาว มีรายได้ จงออม ออม และออม
  4. เงินออมต้องจัดสรรไปลงทุนอย่างมีหลักการ
  5. ปรับการลงทุนให้เหมาะสมกับสถานการณ์
  6. เผื่อแผ่แก่ผู้อื่น “ยิ่งให้ ยิ่งได้”

10 ประการ ที่อภิมหาเศรษฐี “ไม่ทำ” กัน 

  • ไม่มี-ไม่ใช้ “บัตรเครดิต”
  • ไม่ซื้อลอตเตอรี่
  • ไม่นิยมของหรู 
  • ไม่ซื้อ “ของ” ตามแรงจูงใจ 
  • ไม่จ่ายค่าปรับ (จ่ายทุกอย่างให้ตรงเวลา เพื่อไม่ให้เสียดอกเบี้ย /ค่าปรับจ่ายช้า)
  • ไม่ซื้อเสื้อผ้าราคาแพงเว่อร์
  • ไม่ซื้อรถหรู
  • ไม่ซื้อบ้านหรูเกินไป
  • ไม่ใช้เงินกับกิจกรรมสันทนาการที่เกินเหมาะ
  • ไม่ทิ้งเงินไว้ในบัญชีที่ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อนำเงินบางส่วนไปลงทุนต่อยอด

วางแผนอนาคตร่วมกับ “เงิน” ให้เป็นเหมือนคู่รัก ชีวิตจะสุข

ด้าน “พนิดา ชูกุล”  ผู้ตรวจสอบบัญชี เจ้าของเพจ MadamFinney กล่าวว่า ความสัมพันธ์กับเงินแต่ละคนต่างกัน หากรักเงินไม่เป็น ก็เหมือนบริหารความสัมพันธ์ไม่เวิร์ก หรือรักเงินไม่ถูกวิธี และหลายคนแม้จะมีความรู้ แต่ก็ใช่จะใช้เงินเป็น-รักเงินถูก ก่อให้เกิดผลกระทบตามมา ตัดโอกาสความก้าวหน้าทางอาชีพ และการแสวงหาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

สิ่งที่อยากให้พึงระวัง คือ กับดักเรื่องหนี้บัตรเครดิต-การใช้จ่ายเกินตัว พบหลายคนรายได้เยอะ แต่เงินเก็บไม่มี และมีหนี้สูง มองไปข้างหน้าไม่เห็นอนาคต ซึ่งในทางแก้ไขนั้น เริ่มด้วยวิธีง่ายๆ ดังนี้ 

  1. ยอมรับปัญหาการเงินของตัวเองอย่างจริงใจ และตั้งเป้าอยากพาตัวเองออกจากปัญหาดังกล่าว 
  2. จัดแจงปัญหา และวางแผนปลายทางที่เราต้องการเห็น 
  3. ประเมินจุดแข็ง หรือข้อดีของตัวเอง เพื่อนำไปสู่การหาทางแก้ไขที่เหมาะสม
  4. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย มีวินัยทางการเงินอย่างจริงจัง

“หลายคนหย่าร้างกับเรื่องเงินมาหลายครั้ง ถ้าเป็นความสัมพันธ์กับคน เป็นคู่รัก เราเปลี่ยนคู่ได้ แต่กับเงิน คนเดียวที่จะเปลี่ยนคือตัวเราเองที่ต้องปรับ ถ้ารักเงิน แต่ดูแลเงินให้ดี สร้างอนาคตไปด้วยกัน” 

ทั้งนี้ MadamFinney ยังมีแนวคิดที่เชื่อว่า การหารายได้เสริมแบบไม่เสียงาน คือการเพิ่มความสุขให้กับชีวิตในหลายๆ ด้าน เป็นต้น 

อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่ https://www.thairath.co.th/money/investmen

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ