น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานโฆษกพบสื่อ และการแถลงข่าวภาพรวมเศรษฐกิจเดือน ธ.ค. และไตรมาสที่ 4 ปี 66 ว่า ตัวเลขเศรษฐกิจไทยโดยรวมในไตรมาสที่ 4 และเดือน ธ.ค.ขยายตัวชะลอลง ตามรายรับภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวลดลง 0.2% ในไตรมาสที่ 4 ขณะที่การส่งออกลดลง 1% จากไตรมาสก่อนหน้าตามเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้า เครื่องชี้การผลิตภาคอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4 ลดลง 5.1% จากระยะเดียวกันปีก่อน และการลงทุนภาคเอกชนไตรมาสที่ 4 ชะลอลง 1.5% การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากรายจ่ายลงทุนของทั้งรัฐบาลกลางและรัฐวิสาหกิจ อย่างไรก็ดี เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนและภาคบริการยังขยายตัวต่อเนื่องโดยขยายตัว 1.2% และเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง โดยในไตรมาส 4 ลดลง 0.45% จากระยะเดียวกันปีก่อน ส่วนแนวโน้มเดือน ม.ค.67 กิจกรรมทางเศรษฐกิจคาดว่ายังได้รับแรงส่งจากการบริโภคและภาคการท่องเที่ยว แต่ยังต้องติดตามการส่งออกจากการฟื้นตัวของการค้าโลกผลกระทบจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ และทิศทางนโยบายของภาครัฐ
“จากตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 4 ที่ชะลอตัวกว่าที่คาด และ ธปท.เริ่มเห็นความชัดเจนว่ามีปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ฉุดรั้งการฟื้นตัวทั้งในภาคส่งออกการผลิตอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว ทำให้การแข่งขันของไทยในหลายภาคมีปัญหา ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 7 ก.พ.นี้ จะมีการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 66 ลงจากที่เคยคาดไว้ 2.4% ส่วนที่ผ่านมามีคนมองว่า ธปท.ประมาณการเศรษฐกิจสูงเกินไป หากมองในช่วงต้นปี 66 ทุกคนมองเศรษฐกิจจะโตสูงเช่นกัน”
ต่อข้อถามว่าเศรษฐกิจไทยวิกฤติหรือไม่ น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า หากมองในภาพรวมถือว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าแต่ยังฟื้นตัวอยู่ ซึ่งการมองว่าวิกฤติหรือไม่นั้นจึงขึ้นอยู่กับมุมมอง หากวิกฤติในภาพรวมก็คงต้องดูว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) หดตัวแค่ไหน มีเงินไหลออกหรือไม่ แต่หากมองเป็นรายคน ก็ยอมรับยังมีวิกฤติเป็นรายคน และมีปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงมาก ทำให้ยังมีจำนวนคนที่มีความเดือดร้อนสูงอยู่มาก ซึ่งหากรัฐจะใช้มาตรการกระตุ้นโดยใส่เงินเข้าไปช่วยจะทำได้หรือไม่ มองว่าหากเป็นภาพรวมการใช้จ่ายยังเติบโตได้ แต่หากเป็นการใช้มาตรการช่วยเหลือแบบเฉพาะกลุ่มของคนที่เปราะบาง รัฐบาลก็สามารถทำส่วนนี้ได้ ส่วนเรื่องปัญหาเชิงโครงสร้างนั้น เมื่อ ธปท.เห็นชัดขึ้นว่ากระทบเศรษฐกิจโดยรวมก็รีบมาบอก เพื่อให้แก้ปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น
ต่อข้อถามว่านโยบายการเงินจะเข้ามาช่วยแก้การชะลอตัวของเศรษฐกิจได้หรือไม่ นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ในหลักการสามารถดูแลเศรษฐกิจได้แน่นอน แต่ในขณะนี้เศรษฐกิจไทยอ่อนแอจากภาคการส่งออกและการผลิต ซึ่งดอกเบี้ยคงจะช่วยได้บ้าง อาจจะช่วยการส่งออกได้ในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน แต่ต้องพิจารณาด้วยว่า ดอกเบี้ยของไทยก็ต่ำมากอยู่แล้ว โดยเป็น 1 หรือ 2 ประเทศที่ดอกเบี้ยต่ำมากที่สุดในโลก และถ้าทำให้เงินบาทอ่อนลงไปก็จะมีคนกลุ่มหนึ่งได้ประโยชน์แต่อีกกลุ่มเสียประโยชน์ ดังนั้น การใช้นโยบายการเงินแบบนี้ก็เป็นแค่การซื้อเวลา แต่หากต้องการความยั่งยืน นโยบายการเงินคงไม่ได้ตอบโจทย์ปัญหาเชิงโครงสร้าง แต่ช่วยด้านการใช้จ่าย ซึ่งขณะนี้การใช้จ่ายในประเทศก็ฟื้นตัวต่อเนื่องค่อนข้างดีอยู่แล้ว
“สิ่งที่ ธปท.พยายามทำเพิ่มเติม คือช่วยดูแลลูกหนี้ในกลุ่มเปราะบาง และให้ความเป็นธรรมต่อลูกหนี้ รวมทั้งให้มีภาระการผ่อนส่งลดลงตามความสามารถมากขึ้น นอกจากนั้น ยังพยายามให้ลูกหนี้ใหม่เข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น จากการเข้าถึงข้อมูลลูกหนี้ที่ดีขึ้น รวมทั้งช่วยเจ้าหนี้เข้าใจความเสี่ยงของลูกหนี้เพื่อให้ได้ดอกเบี้ยที่ลดลงด้วย”.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่