11 ความรู้ “วางแผนทางการเงิน” ใช้ได้ทั้งชีวิตส่วนตัว และการทำธุรกิจ

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

11 ความรู้ “วางแผนทางการเงิน” ใช้ได้ทั้งชีวิตส่วนตัว และการทำธุรกิจ

Date Time: 21 ม.ค. 2567 12:00 น.

Video

3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

Summary

  • 11 องค์ความรู้ เกี่ยวกับ ทักษะการเงิน และการวางแผนทางการเงิน ที่นำไปปรับใช้ได้ทั้งชีวิตส่วนตัว และการทำธุรกิจ ตั้งแต่ การออมเงิน, ความรู้การลงทุน, การแผนเพื่อเกษียณ, การวิเคราะห์การเงินไปจนถึง สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากรัฐบาล

Latest


การวางแผนทางการเงิน และทักษะทางการเงินที่ดี เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้บุคคลมีความเป็นอยู่ทางการเงินที่ดี และสามารถทำให้เราผ่านพ้นความท้าทายต่างๆ ได้อย่างมั่นคง เช่น ความท้าทายทางเศรษฐกิจ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาวะ หนี้สินภาคครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น ในปัจจุบันเช่นนี้ ขณะเดียวกัน ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ การเตรียมพร้อมเพื่อวัยเกษียณ จึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งหาก ชีวิตแสวงหา ความมั่นคง อาจต้องเริ่มวางแผนการเงินตั้งแต่วันนี้เสียเลย 

11 ความรู้ วางแผนทางการเงิน 

ข้อมูลจากธนาคารกรุงไทย และสมาคมนักวางแผนทางการเงินไทย ระบุว่า การเงินมีหลากหลายมิติ และการมีความรู้รอบด้านจะช่วยนำมาปรับใช้ในการให้บริการวางแผนการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมทั้งชีวิตส่วนตัว และการทำธุรกิจด้วย ได้แก่ 

1. รู้จักตัวเองด้วยการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย

การทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายจึงเป็นจุดเริ่มต้นการวางแผนการเงินที่ดีที่สุด เราจะเห็นว่าตัวเองมีรายรับจากกี่ช่องทาง จำนวนทั้งหมดเท่าไร ใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง ทั้งรายจ่ายรายเดือนที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เช่น ค่าใช้จ่ายสำหรับครอบครัว ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ หนี้บัตรเครดิตนอกจากจะรู้ว่าเงินของเราไปอยู่ตรงไหนบ้างแล้ว ยังทำให้เห็นว่าควรลดรายจ่ายไหนที่ไม่จำเป็น และที่สำคัญคือ รายรับต้องมากกว่ารายจ่าย 

2. วางแผนการออมเงินตามเป้าหมายชีวิต

เราควรตั้งเป้าหมายชีวิตเพื่อวางแผนการใช้เงินและกำหนดทิศทางการออมเงินให้สำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ เช่น ต้องการเก็บเงินซื้อบ้าน ซื้อรถ เที่ยวต่างประเทศ ซึ่งหากยังไม่แน่ใจหรือไม่มีเทคนิคการเก็บออมในใจ อาจเริ่มต้นด้วยการแบ่งเงินจากรายได้ ประมาณ 10-20% มาเก็บออมไว้ทันที หากกลัวว่าจะเก็บเงินไม่อยู่ สามารถใช้การตัดผ่านบัญชีอัตโนมัติ

3.เก็บเงินสำรองฉุกเฉินเมื่อเกิดเรื่องไม่คาดฝัน

หากพรุ่งนี้ต้องตกงาน กิจการขาดทุนหนัก หรือต้องใช้เงินก้อนโตกะทันหัน เงินสำรองฉุกเฉินเป็นสิ่งที่ต้องมีให้พร้อม ถ้าเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นเมื่อไรก็หยิบเงินก้อนนั้นมาใช้ได้เลย ซึ่งควรมีกระแสเงินสดอย่างน้อย 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายทั้งหมด

4. วางแผนค่าใช้จ่ายเพื่อสุขภาพ

เราควรคำนึงถึงค่าใช้จ่ายเพื่อสุขภาพเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นค่ารักษาพยาบาล ค่าจ้างพยาบาลพิเศษหากเป็นโรคร้ายและไม่สามารถดูแลตัวเองได้ หรือค่าใช้จ่ายสำหรับบ้านพักคนชรา ซึ่งวางแผนการเงินเพื่อค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทำได้หลายวิธี ทั้งการออมเงินเป็นประจำทุกเดือนด้วยตนเอง หรือการซื้อประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ หรือประกันโรคร้ายแรงไว้ก็ช่วยได้อีกทางหนึ่ง

5.วางแผนการเงินเพื่อชีวิตเกษียณ 

การวางแผนทางการเงินอาจเริ่มต้นจากการคำนวณคร่าว ๆ ว่า ตอนนี้คุณอายุเท่าไร ต้องการเกษียณตอนไหน และอยากมีเงินใช้เดือนละเท่าไร เช่น ตอนนี้คุณอายุ 30 ปี ต้องการเกษียณตอนอายุ 55 ปี และอยากมีเงินใช้หลังจากเกษียณเดือนละ 20,000 บาท (เสียชีวิตตอนอายุ 80 ปี) เท่ากับว่าคุณมีเวลา 25 ปีในการเก็บเงิน และใช้เงินหลังเกษียณอีก 25 ปีเช่นกัน เพราะฉะนั้นคุณต้องมีเงินก้อนประมาณ 6,000,000 บาทนั่นเอง

6.ลงทุนให้เงินทำงานแทนเรา

การวางแผนทางการเงินด้วยการลงทุนนับเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะมีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าการเก็บเงินไว้เฉย ๆ แถมยังได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอีกด้วย ซึ่งขึ้นอยู่กับสินทรัพย์ที่ลงทุนและระดับความเสี่ยงที่รับได้ ซึ่งปัจจุบันมีเทคนิคการลงทุนให้เลือกมากมาย เช่น ลงทุนให้หุ้น กองทุนรวม ตราสารหนี้ หรือสินทรัพย์ทางเลือกอย่างทองคำ น้ำมัน อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ 

7.ความรู้เรื่องภาษี 

ภาษีนับเป็นเรื่องใกล้ตัวที่หลายหลงลืมความสำคัญ แต่ทุกคนที่ทำงานมีรายได้ไม่สามารถหลีกหนีมันได้ เพราะนี่คือหน้าที่ และก็เป็นหน้าที่อีกเช่นกัน ที่เราต้องวางแผนทางภาษี เพื่อรับประโยชน์ของการได้สิทธิลดหย่อนต่าง ๆ แล้วได้ภาษีคืนกลับมา แต่หลายคนอาจไม่ได้วางแผน หรือถึงขั้นไม่ได้จ่ายภาษีด้วย ซึ่งอาจเป็นเรื่องใหญ่ได้ เพราะจะมีโทษทั้งทางแพ่งและทางอาญา

8.กฎหมาย 

แม้จะมีความรู้ทางการเงินก็ควรมีศึกษาเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงินด้วย โดยเฉพาะ สำหรับคนที่ทำธุรกิจ ซึ่งสามารถหาข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการวางแผนการเงิน ในกลุ่ม กฎหมายเอกชน (Private Law) และ กฎหมายบริษัท (Corporate Law) มาศึกษาได้ 

9.การวิเคราะห์ทางการเงิน

การวิเคราะห์ทางการเงินเป็นการนำข้อมูลทางบัญชีทั้งหมดมาวิเคราะห์ เพื่อวางเป้าหมายทางการเงิน จนมาซึ่งอาชีพ นักวางแผนทางการเงิน โดยหัวข้อความรู้เกี่ยวกับการวางแผนการเงิน ระดับเข้มข้น มีตั้งแต่  การวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงิน / อัตราส่วนทางการเงินส่วนบุคคล / การบริหารเงินสด และการจัดทำงบประมาณ และ การจัดการงบการเงินส่วนบุคคลด้วย

10.หนี้ 

การเป็นหนี้ไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายเสมอไป เพราะบางครั้งเราอาจต้องใช้เงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตและอนาคตแต่ยังมีเงินไม่พอในตอนนี้ เช่น บ้าน การทำกิจการส่วนตัว ซึ่งหลักการสำคัญในการตัดสินใจเป็นหนี้คือ ควรเลือกก่อหนี้ดีซึ่งได้แก่ หนี้ที่จะสร้างอนาคตหรือความมั่นคงระยะยาวและหลีกเลี่ยงการก่อหนี้ที่พึงระวังซึ่งได้แก่ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มหรือไม่ได้ช่วยเพิ่มความมั่นคงทางการเงิน เช่น หนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค เป็นต้น เพราะเมื่อเป็นหนี้แล้วเรามีหน้าที่ต้องใช้คืนเงินต้นรวมถึงดอกเบี้ย ค่าปรับ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่จะตามมาทั้งหมด

11.สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากรัฐบาล 

ความรู้อย่างหนึ่งที่ต้องมีติดตัว คือ ความรู้ที่เกี่ยวข้องด้านการเงินเกี่ยวกับรายละเอียดสวัสดิการที่รัฐมีให้ เช่น สวัสดิการเด็ก เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เบี้ยยังชีพคนพิการ สวัสดิการค่าคลอดบุตร เป็นต้น

อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ