4 วิธีบริหารหนี้ กลางวิกฤติ “รายได้ลด” เอาตัวรอดอย่างไร เมื่อรายจ่ายมากกว่ารายรับ

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

4 วิธีบริหารหนี้ กลางวิกฤติ “รายได้ลด” เอาตัวรอดอย่างไร เมื่อรายจ่ายมากกว่ารายรับ

Date Time: 28 ธ.ค. 2566 12:30 น.

Video

ทางรอดเศรษฐกิจไทยในยุค AI ครองโลก | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • ทำอย่างไร เมื่อรายได้ลด แต่ต้องจ่ายหนี้เท่าเดิม Thairath Money รวบรวมวิธีแก้หนี้ฉบับคน “รายได้ลด” ทำอย่างไรให้ปิดหนี้ได้ โดยไม่ต้องใช้วิธี “ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย”

Latest


ชีวิตคนเรามักเจอกับความไม่แน่นอนอยู่เสมอ การวางแผนรับมือความเสี่ยงที่ไม่คาดคิด โดยเฉพาะคนเป็นหนี้ที่มีภาระจ่ายหนี้ทุกเดือน จึงต้องบริหารการเงินมากกว่าปกติ ในยามที่เจอวิกฤติไม่คาดฝัน

ในภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ดีนัก ทำให้รายได้ของเราที่เคยได้ทุกเดือนนั้นลดลง แต่ต้องจ่ายหนี้เท่าเดิม ใครเจอปัญหานี้ก็ต้องหนักใจ แต่ทุกปัญหามีทางออกเสมอ เพียงแค่มี “สติ”


Thairath Money รวบรวมวิธีแก้หนี้ฉบับคน “รายได้ลด” ทำอย่างไรให้ปิดหนี้ได้ โดยไม่ต้องใช้วิธี “ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย” 

4 วิธีปลดหนี้ ทางรอดเมื่อ “รายได้ลด”


1. สำรวจภาระหนี้ทั้งหมด

ก่อนเริ่มวางแผนจัดการหนี้ การตรวจสอบภาระหนี้สินของตัวเอง ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุด เนื่องจากจะทำให้เราเห็นภาพรวมของหนี้ทั้งหมด และสามารถวางแผนขั้นต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีรายละเอียดที่ต้องทำตามนี้

  • เช็กว่ามีหนี้อยู่กี่ประเภท ใครบ้างที่เป็นเจ้าหนี้
  • หนี้แต่ละก้อนมียอดคงค้าง และอัตราดอกเบี้ยเท่าไร
  • มีหนี้ค้างชำระบ้างหรือไม่ ถ้ามีให้ตรวจสอบว่าค้างชำระมานานแค่ไหนแล้ว
  • หนี้แต่ละก้อนต้องจ่ายค่างวดเท่าไร

2. สำรวจสถานะการเงินของตัวเอง

หลังจากรู้ภาระหนี้ทั้งหมดของตัวเองแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ สำรวจรายรับ รายจ่าย และทรัพย์สินที่เรามีอยู่ ว่ามีเพียงพอที่จะจ่ายหนี้ในแต่ละเดือนได้หรือไม่ ด้วยการ

  • จัดทำแผนใช้เงินของตนเอง โดยเขียนแจกแจงรายละเอียดของรายรับและรายจ่าย พร้อมรวมยอดทั้งหมด เพื่อใช้ในการวางแผนการเงินในขั้นตอนต่อไป
  • เปรียบเทียบยอดรวมของรายรับและรายจ่าย เพื่อดูว่ารายรับปัจจุบัน เพียงพอกับรายจ่ายหรือไม่
  • สำรวจทรัพย์สินที่มีอยู่ปัจจุบัน โดยดูว่าชิ้นไหนสามารถแปลงเป็นเงินสดได้ทันที ชิ้นไหนเพื่อการลงทุน และชิ้นไหนที่เป็นทรัพย์สินส่วนตัว แล้วคำนวณราคาขายที่เป็นไปได้ เพื่อดูว่ายอดรวมจากการขายทรัพย์สินต่างๆ ว่าครอบคลุมการชำระหนี้แค่ไหน

3. วางแผนจัดการหนี้

เมื่อรู้ถึงสถานะการเงิน และภาระหนี้สินของตัวเองในปัจจุบันว่าไม่มีเงินเพียงพอที่จะใช้หนี้ เนื่องจากรายจ่ายมากกว่ารายรับ ให้เริ่มจัดการวางแผนตามนี้

  • ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น หารายได้เสริมจากงานหลัก แบ่งเงินมาชำระหนี้ โดยเว้นค่ากินอยู่ไว้ส่วนหนึ่ง เพื่อไม่ให้ลำบากจนต้องไปขอกู้เพิ่ม
  • จัดประเภทและเรียงลำดับหนี้สิน ที่ต้องชำระก่อน-หลัง โดยหากหนี้สินมีหลายก้อนและอัตราดอกเบี้ยไม่เท่ากัน ให้เลือกปิดหนี้ก้อนที่ดอกเบี้ยแพงที่สุดก่อน  เพื่อลดภาระดอกเบี้ยที่จะต้องจ่ายในอนาคต หากมีหนี้แต่ละก้อนอัตราดอกเบี้ยเท่าๆ กัน ให้เลือกปิดหนี้ก้อนที่มียอดคงเหลือน้อยที่สุด เพื่อลดจำนวนเจ้าหนี้ และทำให้เรามีเงินเหลือเพื่อนำไปชำระหนี้ก้อนอื่นได้ 
  • ชำระหนี้ให้ได้ตามกำหนดเวลา เพื่อไม่ให้โดนค่าปรับ และเป็นการรักษาประวัติทางการเงิน
  • ตัดใจขายทรัพย์สินบางส่วนของตัวเอง หากลดรายจ่าย เพิ่มรายได้แล้ว ยังไม่สามารถปิดหนี้ได้ทั้งหมด

4. เจรจาหนี้กับเจ้าหนี้

หากทำตามแผนจัดการหนี้ที่วางไว้ แต่ยังไม่สามารถปิดหนี้ได้ ให้รีบติดต่อสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ เพื่อขอเจรจาต่อรองการชำระหนี้ โดยไม่ต้องรอให้เป็นหนี้เสีย 

โดยแต่ละสถาบันการเงินจะมีเงื่อนไขช่วยเหลือลูกหนี้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การเงินของแต่ละคน เช่น รีไฟแนนซ์ ยืดระยะเวลาหนี้ พักชำระหนี้ชั่วคราว ลดอัตราดอกเบี้ย หรืออื่นๆ


โดยสิ่งแรกที่ต้องทำเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง คือ “ประเมินความสามารถชำระหนี้” ว่าจ่ายได้มากแค่ไหน ระยะเวลาเท่าไร แล้วค่อยพิจารณาความคุ้มค่าของแต่ละทางเลือก เพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสมกับเรา ไม่รีบร้อนรับเงื่อนไขที่ทำไม่ได้ เพราะอาจต้องเสียเวลามาปรับโครงสร้างหนี้ใหม่อีกรอบ

อ่านเทคนิคการบริหารเงิน การลงทุน ต่อได้ที่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ