แน่นอนว่าเมื่อพูดถึงเรื่อง “กู้” หากเป็นร้านที่มีการจดทะเบียนการค้าก็คงจะง่าย แสนง่าย แต่กลับกันถ้าหากเป็นเพียงแค่กลุ่ม “พ่อค้าแม่ค้า” ที่ขายสินค้าตามตลาดนัด หาบเร่ แผงลอย รถเข็น รถพุ่มพวง จะสามารถกู้ได้หรือไม่?
ไม่มีทะเบียนการค้า อยากขอสินเชื่อ ทำได้หรือไม่?
เนื่องจากเป็นเพียงแค่ร้านค้าขายเล็กๆ น้อยๆ ไม่ได้จดทะเบียนการค้า หรือ ทะเบียนพาณิชย์ จนกลายเป็นคำถามของหลายๆ คนว่ามีรายได้เท่านี้จะสามารถขอสินเชื่อกับธนาคารได้หรือไม่ โดยเฉพาะช่วงที่ “ชักหน้าไม่ถึงหลัง” จึงอยากจะมีทุนมาหมุนเวียน ธนาคารกสิกรไทย หรือ Kbank จึงได้ชวนทำความเข้าใจว่าถึงแม้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ จะมีการกำหนดไว้ว่าธุรกิจที่ได้รับการยกเว้น “ไม่ต้องจดทะเบียนการค้า” กำหนดไว้ 6 ประเภท1 ประกอบด้วย
- พ่อค้าแม่ค้าที่อยู่ในเกณฑ์ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจดทะเบียนการค้า
- กลุ่มที่ต้องจดทะเบียนการค้าแต่ยังไม่ได้ทำการจดทะเบียนการค้าให้เรียบร้อยก็ตาม
ซึ่งพ่อค้าแม่ค้าทั้ง 2 กลุ่มนี้สามารถขอสินเชื่อจากธนาคารได้ เนื่องจากธนาคารไม่ใช้เรื่องของทะเบียนการค้าเป็นเหตุผลในการปฏิเสธการให้สินเชื่อ
5 วิธีเตรียมตัว ขอสินเชื่อให้ผ่าน
ดังนั้นเมื่อพ่อค้าแม่ค้ารู้แล้วว่า “ทะเบียนการค้า” เป็นเพียงเอกสารประกอบการขอสินเชื่อประเภทหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ปัจจัยหลักในการพิจารณาอนุมัติหรือปฏิเสธการให้สินเชื่อ หากต้องการขอสินเชื่อจากธนาคารควร ก็ควรที่จะมีการเตรียมตัวให้พร้อมก่อนการยื่นขอสินเชื่อจากธนาคาร โดยหลักการง่ายๆ มี 5 ข้อดังนี้
- เช็กเครดิตตัวเองให้เรียบร้อยก่อนขอสินเชื่อ
ด้วยการตรวจสอบเครดิตบูโร 2 เพื่อจะได้รู้สถานะหนี้ในปัจจุบันของตนเองว่ามีสถานะหนี้เป็นอย่างไร ผ่อนได้ตามเงื่อนไขหรือไม่ หรือถูกฟ้องร้องดำเนินคดีไปแล้วหรือไม่ ซึ่งมีหลายเคสที่บางคนจำไม่ได้ว่าเคยมีการกู้เงินแทนบุคคลในครอบครัวหรือญาติพี่น้องเพื่อนำไปใช้จ่าย หรือบางคนเคยมีการค้ำประกันให้ใครคนอื่น แล้วถูกฟ้องร้องดำเนินคดีโดยที่เราไม่รู้ตัว
ซึ่งในรายงานเครดิตบูโรจะบอกสถานะหนี้อย่างละเอียด หากพบว่าตนเองเป็นหนี้ที่ผ่อนไม่ชำระไม่ตรงตามเงื่อนไขหรือกำลังถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ให้รีบแก้ไขให้เรียบร้อยก่อนการขอสินเชื่อจากธนาคาร เพราะเรื่องประวัติการชำระหนี้เป็นหนึ่งในหลายๆ เรื่องที่เป็นปัจจัยในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อของธนาคาร หากมีข้อสงสัยเรื่องการอ่านรายงานเครดิตบูโร สามารถสอบถามได้จากเจ้าหน้าที่สินเชื่อของธนาคาร
- เก็บรวบรวมเอกสารทางการค้าไว้ทั้งหมด
ไม่ว่าจะเป็นบิลซื้อ-บิลขาย (บิลเงินสด หรือใบกำกับภาษี, ใบออเดอร์สั่งสินค้า, สัญญาว่าจ้างต่างๆ, รวมทั้งสัญญาเช่าแผงหรือร้านค้า ใบเสร็จค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ฯลฯ) เอกสารเหล่านี้สามารถนำมาใช้เป็นเอกสารเพื่อยืนยันความสม่ำเสมอของรายรับ-รายจ่าย และสามารถนำมาใช้เป็นเอกสารประกอบการขอสินเชื่อได้ สำหรับบางรายที่ไม่มีเอกสารทางการค้า ก็ไม่ต้องกังวล เพราะธนาคารไม่ได้พิจารณาจากเอกสารทางการค้าเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ใช้ในการพิจารณาอีกหลายปัจจัย
- จัดทำสมุดบัญชีรับจ่าย
เพื่อจะได้รู้ว่าในแต่ละเดือนมีรายได้และค่าใช้จ่ายเดือนเท่าไร มีกำไรเดือนละเท่าใด นอกจากจะนำมาใช้เป็นเอกสารประกอบการขอสินเชื่อแล้ว ยังช่วยให้พ่อค้าแม่ค้ารู้ว่าในแต่ละเดือนร้านค้ามีรอยรั่วทางการเงินตรงไหนบ้าง รายรับ กับรายจ่ายสัมพันธ์กันหรือไม่ นอกจากนี้อาจจะทำให้ได้ส่วนลดจากการสั่งวัตถุดิบที่เพิ่มมากขึ้นด้วย
- แยกบัญชีร้านค้ากับบัญชีใช้ส่วนตัวออกจากกัน (บัญชีเงินฝากธนาคาร)
พ่อค้าแม่ค้าหลายรายมีการใช้เงินปนกันไปปนกันมา โดยหลายๆ ครั้งนำเงินที่ต้องใช้หมุนเวียนในร้านค้า (เงินที่ต้องใช้ซื้อวัตถุดิบ หรือสินค้ามาขาย) ถูกนำไปใช้จ่ายส่วนตัว เพราะเห็นว่ามีเงินเหลือเยอะ ซึ่งเป็นการเข้าใจผิดทำให้มีปัญหาตามมาทันทีคือ ขาดเงินทุนที่ใช้หมุนเวียนหรือไม่มีเงินไปใช้ซื้อวัตถุดิบหรือสินค้ามาขาย หรือที่เรียกว่า “ขาดสภาพคล่อง” ส่วนใหญ่ต้องไปหยิบยืมจากเจ้าหนี้นอกระบบ จนทำให้ต้องหลุดเข้าสู่วงจรอุบาทว์ เป็นหนี้ไม่สิ้นสุด
- เตรียมเอกสารหลักทรัพย์
การขอสินเชื่อกับธนาคารสามารถนำบ้านที่เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ขอสินเชื่อหรือเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลในครอบครัวนำมาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ หากใช้รถเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันต้องเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ขอสินเชื่อ ไม่สามารถนำของบุคคลในครอบครัวมาค้ำประกันได้
ซึ่งการใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันจะทำให้ได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่าสินเชื่อที่ไม่ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ที่สำคัญทำให้พ่อค้าแม่ค้ามีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น มีกำไรเหลือเพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่หาเงินมาได้เพื่อเอามาจ่ายดอกเบี้ยอย่างเดียว
ส่วนข้อควรรู้ในการขอสินเชื่อกับธนาคารคือ ควรขอสินเชื่อเท่าที่จำเป็นต้องใช้ รวมทั้งควรมีเงินสดสำรองขั้นต่ำ 6-12 เท่าของค่าใช้จ่ายทั้งหมดในแต่ละเดือน และหากมีเงินเหลือควรนำมาโปะหนี้ ส่วนกรณีที่พ่อค้าแม่ค้ามีสินเชื่อประเภทเงินกู้ เมื่อโปะเพิ่มไปแล้ว หากมีความจำเป็นต้องใช้เงินจะไม่สามารถดึงเงินกลับมาใช้ได้ทันที และรักษาเครดิตให้ดี ขณะเดียวกันเมื่อขอสินเชื่อได้แล้ว สิ่งที่สำคัญคือผ่อนชำระให้ตรงตามเงื่อนไขที่ตกลงไว้กับธนาคาร หากในอนาคตจำเป็นต้องขอสินเชื่อเพิ่มเติม จะสามารถทำได้โดยง่าย ไม่ยุ่งยากนั่นเอง
ดังนั้นหลายคนที่กังวลว่าถ้าเราไม่มีทะเบียนการค้า ค้าขายรับเงินสด ไม่ได้เดินบัญชี ธนาคารจะยอมปล่อยกู้ไหม บอกเลยว่าไม่ต้องกังวลเพราะหากเราเปิดดำเนินการกิจการจริงมีหน้าร้านจริง ธนาคารจะมีเจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบพื้นที่ (Checker Out) เพื่อยืนยันการดำเนินของกิจการ
รวมทั้งธนาคารจะมีการพิจารณาจากหลายปัจจัย อาทิ ประวัติการใช้วงเงินสินเชื่อที่ผ่านมามีการผ่อนชำระตรงตามเงื่อนไขหรือไม่ หรือ เอกสารทางการค้า ไม่ว่าจะเป็นบิลซื้อหรือบิลขาย สัญญาเช่า นอกจากนั้นยังดูจากบัญชีรายรับรายจ่าย การหมุนเวียนบัญชี และหลักทรัพย์ที่นำมาค้ำประกัน จึงไม่ต้องกังวลมากนัก แต่ทางที่ดี ก่อนจะเริ่มขอสินเชื่อ ควรที่จะเตรียมความพร้อมให้เรียบร้อยแล้วค่อยยื่นเรื่องขอสินเชื่อกับธนาคาร เพราะการทำธุรกรรม หรือดำเนินการใดๆ ก็ตาม หากคน “ยื่นเรื่อง” พร้อม “เอกสาร” พร้อม “โอกาส” ที่จะได้รับก็ย่อมมีเปอร์เซ็นต์สูงเช่นเดียวกัน