เปิด 4 ทางออก ผ่อนบ้านไม่ไหว ต้องทำยังไง? หลัง หนี้เสีย กลุ่ม “สินเชื่อบ้าน” พุ่ง 100%

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

เปิด 4 ทางออก ผ่อนบ้านไม่ไหว ต้องทำยังไง? หลัง หนี้เสีย กลุ่ม “สินเชื่อบ้าน” พุ่ง 100%

Date Time: 18 ธ.ค. 2566 14:56 น.

Video

คนไทยจ่ายภาษีน้อย มนุษย์เงินเดือนรับจบ ปัญหาอยู่ที่ระบบหรือคนกันแน่ ? | Money Issue

Summary

  • เปิด 4 ทางออก ผ่อนบ้านไม่ไหว ต้องทำยังไง? หลัง หนี้เสีย กลุ่ม “สินเชื่อบ้าน” พุ่ง ยอดค้างจ่ายเพิ่ม 100% มูลค่า 1.36 แสนล้าน ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ แนะ การเข้าไปขอปรึกษาธนาคารโดยตรงไม่ใช่เรื่องเลวร้าย เราสามารถขอผ่อนผันชำระยอดหนี้ค้างชำระ, ขยายเวลาผ่อน, ขอจ่ายค่างวดต่ำกว่าปกติ และขอลดอัตราดอกเบี้ยเป็นกรณีพิเศษได้ หากเข้าเงื่อนไขของบธนาคาร

Latest


บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือ เครดิตบูโร เพิ่งรายงานว่า ขณะนี้ สถานการณ์ “หนี้เสีย” ในประเทศไทย เริ่มมีสัญญาณน่ากังวลมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม “สินเชื่อบ้าน” หรือ “ที่อยู่อาศัย” 

ทั้งนี้ พบว่า หนี้ผ่อนบ้าน ที่อยู่ในโซนอันตราย จากการที่ลูกค้าค้างจ่ายค่างวดบ้าน ช่วง 1-3 เดือน รวมมูลค่ากว่า 1.36 แสนล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นมาถึง 100% จากปีก่อน โดยเฉพาะกลุ่มบ้านราคา 1-3 ล้านบาท ตลาดหลักของผู้พัฒนาที่ดิน และผู้ซื้อ คนรายได้ปานกลางที่เริ่ม “ผ่อนบ้านไม่ไหว” 

สะท้อนภาพยากลำบากถึงการผ่อนบ้านให้หมดครบทุกงวด ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจเปราะบาง และดอกเบี้ยธนาคารต่างๆ สูงเช่นนี้ เพราะ ถ้าซื้อบ้าน 3 ล้าน หากใช้หลักเกณฑ์ในการคำนวณเงินผ่อนบ้านคร่าวๆ ล้านละ 7,000 บาทต่อเดือน สำหรับบ้าน 3 ล้านบาท ก็จะผ่อนเดือนละประมาณ 20,000 บาทเลยทีเดียว ไม่นับรวมอาจเกิดเหตุฉุกเฉินทำให้เราผ่อนบ้านไม่ไหวขึ้นมา ต้องทำอย่างไร?

ข้อมูลจากแพลตฟอร์มด้านอสังหาริมทรัพย์ชื่อดัง ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ ชี้ว่า “ผ่อนบ้านไม่ไหว ทำอย่างไร กลายเป็นคำถามของใครหลายๆ คน โดยเฉพาะในช่วงนี้ จากที่เราอาจเคยได้ยินว่าการขอสินเชื่อบ้านให้ผ่านนั้นก็ว่ายากแล้ว แต่การผ่อนบ้านให้หมดครบทุกงวดนั้นยากยิ่งกว่า อย่างไรเสีย เรื่องดังกล่าวมีทางออก”

4 ทางออก “ผ่อนบ้านไม่ไหว”

1. สำรวจเงินสำรอง

เมื่อผ่อนบ้านไม่ไหว อันดับแรกที่ควรทำก่อนเลย คือ สำรวจเงินสำรอง หากเรามีเงินที่เก็บไว้ใช้จ่ายเมื่อมีเหตุฉุกเฉิน เงินสำรอง จะเป็นตัวช่วยได้ดี โดยเงินสำรองนับว่ามีความสำคัญมาก ไม่ว่าจะกู้ซื้อบ้าน ซื้อรถ หรือนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ใดๆ ก็ตาม ควรมีเงินสำรองกันไว้ก่อน 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน เพราะเมื่อเกิดปัญหาฉุกเฉินจะได้ไม่กระทบกับการดำเนินชีวิต หรือต้องหยิบยืมให้เป็นหนี้เป็นสินเพิ่มขึ้นอีก 

นอกจากนี้แนะให้ลองปรับลดค่าใช้จ่ายไม่จำเป็นลงร่วมด้วย อะไรที่ประหยัดปรับลดได้ เช่น ค่าช็อปปิ้ง ค่ากาแฟ ค่าสังสรรค์นอกบ้าน เพื่อให้แต่ละเดือนเหลือเงินมากขึ้นที่จะนำมาจ่ายค่าผ่อนบ้านในแต่ละงวดนั่นเอง

2. หาทางเพิ่มรายได้

แต่หากปรับลดค่าใช้จ่ายลงแล้วยังผ่อนบ้านไม่ไหวอยู่ อย่าเพิ่งท้อถอย หาทางเพิ่มรายได้ ดูว่าถนัดอะไร มีความสามารถด้านไหน แปลงความชอบเหล่านั้นมาเป็นอาชีพเสริมเพิ่มเงินในกระเป๋า เช่น ขายของออนไลน์ รับจ้างถ่ายรูป สอนพิเศษ รายได้เล็กๆ น้อยๆ รวมกันอาจเป็นเงินก้อนใหญ่ที่ช่วยต่อลมหายใจให้กับการผ่อนบ้านได้

3. ขอรีไฟแนนซ์บ้าน

การรีไฟแนนซ์บ้านนับเป็นทางออกสำหรับผู้ที่ผ่อนบ้านไม่ไหว แต่ผ่อนบ้านมาได้อย่างน้อย 3 ปี เพราะเราสามารถรีไฟแนนซ์บ้าน หรือย้ายสินเชื่อบ้านไปอีกธนาคารหนึ่ง โดยไม่โดนเบี้ยปรับ เนื่องจากการรีไฟแนนซ์ จะได้รับโปรโมชันดอกเบี้ยจากธนาคารใหม่ที่ถูกกว่า และสามารถ ขยายเวลาผ่อนชำระออกไป ทำให้ยอดผ่อนบ้านต่อเดือนลดลงได้

4. ปรึกษาธนาคารเพื่อขอกู้เพิ่ม, ขยายเวลาผ่อน, ผ่อนผันยอดหนี้บ้าน

อย่างไรก็ตาม เมื่อทดลองมาแล้วทุกทาง แต่ยังหาทางออกไม่ได้ ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ แนะว่า การเข้าไปปรึกษาแบบตรงๆ ก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย เพื่อจะได้รู้ว่าธนาคารมีทางออกอย่างไรให้เราได้บ้าง โดยหลักการทั่วๆไป เราอาจสามารถขอลดยอดผ่อนต่อเดือน หรือขยายระยะเวลาผ่อนบ้านออกไปได้ 

  • ขอผ่อนผันชำระยอดหนี้ค้างชำระ โดยขอผ่อนชำระคืนยอดหนี้ที่ค้างได้นานสูงสุด 36 เดือนติดต่อกัน โดยแบ่งเป็น 3 กรณี ได้แก่ การขอเฉลี่ยหนี้ค้างชำระทั้งหมดออกเป็นงวดๆ งวดละเท่ากัน และผ่อนชำระคืนติดต่อกันทุกเดือน / เป็นการขอชำระหนี้ที่ค้างทั้งหมดในเวลาที่ตกลง / การขอชำระหนี้ที่ค้างเป็นเงินก้อนแบ่งเป็นงวดๆ ตามเวลาที่ตกลง
  • ขอขยายเวลาชำระหนี้ ผู้กู้ที่อายุยังไม่มาก อาจสามารถขอขยายระยะเวลาผ่อนให้นานขึ้น เหมือนกับการขอสินเชื่อบ้านปกติที่สามารถกู้ได้นาน 30 ปี โดยที่ระยะเวลาผ่อนเมื่อรวมกับอายุของผู้กู้แล้ว ต้องไม่เกินเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด เช่น ไม่เกิน 60 ปี สำหรับพนักงานประจำ หรือ 65 ปี สำหรับผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัว
  • ขอกู้เพิ่มเพื่อชำระดอกเบี้ยที่ค้างชำระ กรณีที่ลูกหนี้ไม่สามารถชำระดอกเบี้ยที่ค้างทั้งหมดได้ ลูกหนี้สามารถขอกู้เพิ่มเพื่อชำระดอกเบี้ยที่ค้างชำระพร้อมกับขยายเวลากู้เงินได้
  • ขอชำระแต่ดอกเบี้ยประจำเดือน ปกติเงื่อนไขแบบนี้จะให้เฉพาะกับลูกหนี้ที่มีประวัติการส่งชำระคืนที่ดีเท่านั้น
  • ขอชำระต่ำกว่าเงินงวดปกติ เงื่อนไขนี้มักกำหนดให้จำนวนเงินที่ชำระต่ำกว่าเงินงวดปกตินั้น ต้องมากกว่าดอกเบี้ยประจำเดือนอย่างน้อย 500 บาท ระยะเวลาผ่อนชำระได้นานสูงสุดไม่เกิน 2 ปี และขอดำเนินการได้เพียงครั้งเดียว
  • ขอลดอัตราดอกเบี้ยเป็นกรณีพิเศษ เป็นการขอผ่อนผันในกรณีที่ลูกหนี้ถูกปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มขึ้นจากอัตราปกติ ลูกหนี้สามารถแจ้งขอลดอัตราดอกเบี้ยในวันที่ชำระเงินได้
  • ขอโอนบ้านให้กับสถาบันการเงินเป็นการชั่วคราว ในกรณีลูกหนี้ขอโอนบ้านให้กับสถาบันการเงินเป็นการชั่วคราว และซื้อคืนภายหลัง ปกติสถาบันการเงินจะรับโอนหลักประกันโดยหักลบกลบหนี้ในจำนวนไม่เกิน 90% ของมูลค่าหลักประกัน หากมีหนี้ส่วนเกินลูกหนี้จะต้องชำระให้เสร็จสิ้นภายในวันโอน โดยสถาบันการเงินจะคิดค่าเช่าในอัตราเดือนละ 0.4-0.6% ของมูลค่าหลักประกัน

ทั้งนี้ จากแนวทางบางส่วนข้างต้น อย่างการขอลดยอดผ่อนต่อเดือน  หรือขยายระยะเวลาผ่อนบ้านออกไป สิ่งที่ต้องรู้คือ นั่นจะทำให้ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายสำหรับการผ่อนบ้านหลังนี้จะสูงขึ้น และกว่าจะหมดหนี้บ้านก็ต้องใช้เวลานานขึ้นเช่นกัน.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ