นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ในปี 2567 ธนาคารออมสิน ยังคงมุ่งมั่นภารกิจธนาคารเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้ประชาชนคนไทย ที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุน ได้เข้าถึงแหล่งทุนจากสถาบันการเงิน ตามนโยบายแก้หนี้ครัวเรือนของรัฐบาลที่ต้องการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน และหนี้นอกระบบ โดยดอกเบี้ยของสถาบันการเงินของรัฐอัตราดอกเบี้ยจะถูกกว่าอัตราดอกเบี้ยนอกระบบ ดังนั้นธนาคารออมสินจะพยายามหามาตรการต่างๆ สนับสนุนให้ประชาชนได้เข้าถึงแหล่งทุน มีอาชีพ สร้างรายได้ มีวินัยทางการเงิน การออม เพื่อหลุดพ้นจากการเป็นหนี้นอกระบบ และมีเงินไว้ใช้จ่ายในวัยเกษียณตามเจตนารมณ์ของธนาคารเพื่อสังคม
ทั้งนี้ การส่งเสริมการทำงานเพื่อสังคม ตามแนว Environmental, social, and corporate governance : ESG เป็นตามเทรนด์สำคัญของโลกเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน ซึ่งธนาคารออมสิน ได้ดำเนินการมาตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ความยากจน สร้างการเข้าถึงแหล่งทุนที่เป็นธรรม นำกำไรจากธุรกิจปกติมาสนับสนุนเชิงสังคม ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จมากในการช่วยคนเข้าถึงแหล่งทุนในระบบ ช่วยคนเข้าถึงดอกเบี้ยที่เป็นธรรม ช่วยคนไม่ให้เสียประวัติทางการเงิน และช่วยคนให้มีอาชีพ มีรายได้
สำหรับผลการดำเนินงานในรอบ 6 เดือนปี 2566 (ม.ค.-มิ.ย.) ธนาคารมีกำไรสุทธิ จำนวน 17,344 ล้านบาท มีสินเชื่อรวม 2.35 ล้านล้านบาท เงินฝากรวม 2.68 ล้านล้านบาท และมีสินทรัพย์รวม 3.16 ล้านล้านบาท พร้อมกับสามารถรักษาระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ได้ที่ 2.63% ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratios) 172.10% และมีเงินสำรองรวม แตะระดับ 106,595 ล้านบาท นับว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของธนาคาร และเชื่อว่าในปี 2566 ธนาคารออมสิน จะมีกำไร 33,000 ล้านบาท
“ตลอด 3 ปีกว่าที่ได้ทำงานขับเคลื่อนธนาคารออมสินเป็นธนาคารเพื่อสังคม ถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะทำให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุนได้มากกว่า 2 ล้านราย จากเดิมอยู่ที่ 1.57 ล้านราย รวมมีลูกค้ารายย่อยกว่า 3.57 ล้านราย และยังมีหลายรายที่กำลังจะเข้าสู่ระบบสินเชื่อของออมสิน มั่นใจว่าปี 2567 ลูกค้ารายย่อยน่าจะเกิน 4 ล้านราย”
เปลี่ยนแนวคิดจาก CSR สู่ CSV
นายวิทัยกล่าวว่า สำหรับผลกำไรที่เพิ่มขึ้นนั้น สะท้อนว่าแนวนโยบายการช่วยเหลือสังคมผ่านผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆของธนาคาร ในแนวคิดการสร้างมูลค่าร่วมกัน (Creating Shared Value หรือ CSV) เป็นแนวทางที่ช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจและความยั่งยืนให้แก่ธนาคาร และรวมถึงทุกภาคธุรกิจ ซึ่งจากเดิมภาคธุรกิจและธนาคารเองจะช่วยเหลือสังคมผ่านโครงการกิจกรรมเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility หรือ CSR) ซึ่งเป็นโครงการระยะสั้นและไม่ช่วยต่อยอดธุรกิจหรือสร้างมูลค่าให้กับธุรกิจและสังคมได้มากนัก
“จากเดิมกิจกรรมเพื่อสังคม หลายคนมองแค่เพียงการแจกของเท่านั้น แต่ธนาคารออมสิน จะต่อยอดจากการแจก เป็นการสร้างมูลค่าร่วมกัน ทั้งสร้างโอกาส สร้างงาน สร้างรายได้ ส่งเสริมวินัยการเงิน การออม ผ่านธนาคารชุมชน ธนาคารโรงเรียน เจาะกลุ่มไปถึงระดับฐานราก เพื่อให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น และเชื่อว่าในอนาคตก็ต้องเป็นลูกค้าออมสินแน่นอน เพราะธนาคารออมสิน มาปลูกฝังตั้งแต่เด็ก”
ในเร็วๆนี้ ธนาคารเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนตามนโยบายกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศ ไทย (ธปท.) รวมถึงการเปิดตัวบริษัทนอนแบงก์ (Non Bank) เพื่อเข้าแข่งขันลดดอกเบี้ยในตลาดสินเชื่อไม่มีหลักประกัน เพื่อให้บริการสินเชื่อรายย่อยได้ครอบคลุมความเสี่ยงที่สูงขึ้น เป็นแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนถูกลงและเป็นธรรม โดยจะอนุมัติสินเชื่อผ่านแอปพลิเคชัน ทำให้กระบวนการทำได้ง่ายขึ้น และการเร่งขยายเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อของบริษัท มีที่ มีเงิน จำกัด ให้สามารถอนุมัติสินเชื่อได้ภายในปีนี้ 7,000 ล้านบาท
ปลื้ม “ฮ่วมใจ๋ฮักขุนน่าน” โมเดล
นายวิทัยกล่าวเพิ่มเติมว่า ปีนี้เป็นปีที่ 2 ที่ได้พาสื่อมวลชนมาติดตามงานโครงการพัฒนาชุมชนแบบองค์รวม (Holistic Area-Based Development) ภายใต้ชื่อ “ออมสินฮ่วมใจ๋ฮักขุนน่าน” อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน ซึ่งมีภารกิจทั้ง 10 มิติ มีทั้งการวางรากฐานและงานโครงสร้างต่างๆ การขยายผลสร้างการมีส่วนร่วม และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ชุมชนมีความรู้ สามารถดูแลตัวเองได้อย่างเข้มแข็งต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้ ได้สนับสนุนงบประมาณราว 7 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างโรงแปรรูปผลผลิตกาแฟ ด้วยความร่วมมือของธนาคารออมสินกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อช่วยเกษตรกรลดต้นทุนและเพิ่มราคาขายผลิตผลกาแฟที่เก็บเกี่ยวได้มากขึ้นกว่า 10 เท่า และการส่งเสริมให้สมาชิกชุมชนเริ่มกิจการโฮมสเตย์ เพื่อเป็นรายได้เสริมในช่วงฤดูการท่องเที่ยว จากเดิมที่มีโฮมสเตย์เพียง 11 ราย ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 37 ราย สามารถสร้างรายได้เพิ่มนอกฤดูเกษตรกรรมให้ครัวเรือนได้มากขึ้นกว่าเท่าตัว ทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจชุมชนกว่า 5 หมู่บ้าน ซึ่งออมสินจะติดตามอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง เพื่อให้คุณภาพชีวิตของชุมชนดีขึ้น ลดหนี้ครัวเรือน ลดปัญหาสังคม
นอกจากนี้ ยังจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ของชุมชนบ้านห้วยฟองให้เริ่มมีเงินออมเป็นครั้งแรก จัดตั้งธนาคารโรงเรียนรูปแบบพิเศษ เป็นแหล่งเงินออมของนักเรียนและครูของโรงเรียนบ้านห้วยฟอง และโรงเรียนบ้านเปียงซ้อ เพียง 8 เดือนมีเงินออมรวมกันกว่า 800,000 บาท นับเป็นจุดเริ่มต้นการสร้างรากฐานที่เข้มแข็งแก่ชุมชน
ส่วนปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้ง มีการติดตั้งถังกักเก็บน้ำขนาดใหญ่พร้อมระบบกรองน้ำสะอาดเพื่อการบริโภค การติดตั้งระบบไฟฟ้าโซลาร์ส่องสว่างในชุมชนและโรงเรียน,การสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ จักรยานยนต์ พร้อมอาคารปฏิบัติงานแก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) รวมถึงระบบอากาศมาตรฐานการแพทย์สำหรับคลินิกทันตกรรม และอุปกรณ์การแพทย์ห้องฉุกเฉิน เป็นต้น
“โครงการออมสินฮ่วมใจ๋ฮักขุนน่าน เป็นการพัฒนาชุมชนแบบองค์รวมที่ธนาคารออมสินตั้งเป้าให้เป็นต้นแบบของการพัฒนาที่ยึดโยงกับบริบทแวดล้อมของพื้นที่ มุ่งหวังสร้างคุณค่าร่วมตามกรอบแนวคิด CSV ให้ธุรกิจเติบโต ควบคู่กับการสร้างประโยชน์เกิดแก่ชุมชนและสังคมอย่างเป็นรูปธรรม และกำลังมองหาพื้นที่ใหม่ในภาคใต้ เพื่อเข้าช่วยเหลือในลักษณะเดียวกัน ซึ่งต้องทำอย่างยั่งยืน ที่เก่าก็ยังดูแลสนับสนุนเพื่อให้เลี้ยงตัวเองได้ ส่วนที่ใหม่ก็ต้องเสาะหาสถานที่ที่ต้องพัฒนาชุมชนแบบองค์รวม”
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่