ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยสถิติการดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ในช่องทางความช่วยเหลือของ ธปท. ผ่าน 3 โครงการ เพื่อให้ลูกหนี้เข้าถึงการแก้ไขหนี้มากขึ้น คือ 1.โครงการคลินิกแก้หนี้ ซึ่งเป็นการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่เป็นหนี้เสียบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน 2.โครงการทางด่วนแก้หนี้ เป็นช่องทางสำหรับประชาชนและธุรกิจที่เป็นลูกหนี้ที่ชำระหนี้ไม่ไหว โดย ธปท.จะช่วยรับเรื่องและเป็นตัวกลางส่งข้อมูล ติดต่อ หรือเจรจากับสถาบันการเงินในกรณีจำเป็น เพื่อให้การปรับโครงสร้างหนี้มีโอกาสสำเร็จ 3.โครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน เป็นที่ปรึกษาแก้หนี้และช่วยวางแผนทางการเงิน หรือฟื้นฟูธุรกิจ
โดยพบว่า ณ สิ้นเดือน ต.ค.66 ที่ผ่านมา โครงการได้ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านคลินิกแก้หนี้สะสมตั้งแต่ต้นโครงการแล้วทั้งสิ้น 140,004 ราย เป็นลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ 76,481 ราย และเป็นลูกหนี้ของผู้ประกอบการสินเชื่อที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน หรือ นอนแบงก์ 63,523 ราย ซึ่งการประเมินผลสามารถช่วยลูกหนี้ให้ปรับโครงสร้างหนี้ได้ทั้งสิ้นเฉลี่ย 85% ของลูกหนี้ที่เข้าโครงการ
ขณะที่การช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านทางด่วนแก้หนี้ มีลูกหนี้สะสมตั้งแต่ต้นโครงการทั้งสิ้น 286,505 ราย เป็นลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ 190,539 ราย และเป็นลูกหนี้นอนแบงก์ 95,966 ราย โดยสามารถช่วยลูกหนี้ให้ปรับโครงสร้างหนี้ได้ทั้งสิ้นเฉลี่ย 85% ของลูกหนี้ที่เข้าโครงการ
ส่วนการเข้ารับคำปรึกษาทางการเงิน และการแก้หนี้กับโครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน มีลูกหนี้ขอรับคำปรึกษาสะสมตั้งแต่ต้นโครงการจนถึงสิ้นเดือน ต.ค.66 อยู่ที่ 9,029 ราย
“ลูกหนี้ที่มีปัญหาการเงิน เริ่มผ่อนส่งไม่ได้ ควรจะเริ่มต้นด้วยการปรึกษาธนาคารเจ้าหนี้ของตนเอง เพื่อปรับโครงสร้างหนี้เป็นช่องทางแรก ซึ่ง ธปท.ได้ให้นโยบายในการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ลูกหนี้สามารถมาขอความช่วยเหลือในการปรับโครงสร้างหนี้ผ่านช่องทางต่างๆของ ธปท.หากไม่ได้รับความเป็นธรรม”
ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ผ่านมา ยังคงห่วงพัฒนาการของคุณภาพสินเชื่อ ที่อาจได้รับแรงกดดันจากความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และครัวเรือนบางส่วนที่ยังเปราะบางจากภาระหนี้ที่สูงขึ้นและรายได้ที่ยังฟื้นตัวช้า โดย กนง.สนับสนุนการดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่