นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน THE STAN DARD ECONOMIC FORUM 2023 ในหัวข้อ Thailand Financial Landscape 2024 ภูมิทัศน์เศรษฐกิจการเงินไทยปี 2024 ว่า สิ่งจำเป็นและสำคัญของประเทศไทย คือ Resilience ที่เป็นเรื่องความทนทาน และความยืดหยุ่น ที่เศรษฐกิจไทยเมื่อล้มได้แต่ต้องกลับมาลุกเร็วได้ด้วย ซึ่งจะทำได้คงหนีไม่พ้นเรื่องเสถียรภาพ การมีกันชนต่างๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งทั้งฐานะการเงินเอกชน ครัวเรือนและภาครัฐ การกันพื้นที่สำหรับทำนโยบาย หรือ Policy space ทางด้านการเงินการคลัง การมีทางเลือกที่จะรับมือกับสถานการณ์วิกฤติ และสุดท้ายต้องสร้างการเติบโตแบบใหม่
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ธปท.จึงได้ปรับภูมิทัศน์ด้านการเงินใหม่ ออก Financial Landscape ภายใต้หลักการ “3 Open” ทั้ง Open Infrastructure, Open Data และ Open Competition ภูมิทัศน์การเงินสร้างความสมดุล เพื่อให้เกิดนวัตกรรมทางการเงินที่เอื้อประโยชน์ต่อระบบนิเวศทางการเงินของประเทศไทย สร้างความสมดุลควบคู่กับการดูแลความเสี่ยง โดยจำเป็นต้องเน้นความยืดหยุ่น ต้องใช้นวัตกรรมทางการเงินแบบใหม่ๆ ควบคู่กับการดูแลความเสี่ยง เน้นความยืดหยุ่น ต้องดูว่าอะไรที่มองว่าเสี่ยงเยอะ ก็กำกับเยอะ อะไรไม่เสี่ยงเยอะ ก็ยืดหยุ่นได้
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวต่อว่า การดำเนินการดังกล่าวนั้น ธปท.จะทำใน 3 มิติ หรือ 3 snapshot เรื่องแรกคือการชำระเงิน (เพย์เมนต์) ลดต้นทุนการออกธนบัตรของไทย ที่มีจำนวนพันธบัตรหมุนเวียนในระบบ 2.1 ล้านล้านบาท ซึ่งมีีต้นทุนที่ต้องใช้ประมาณ 5 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งที่ผ่านมาคนไทยใช้การโอนเงินผ่านอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Payment) มากขึ้น ล่าสุดมีคนลงทะเบียน PromptPay 76.3 ล้านบัญชี มีการใช้งานเฉลี่ย 56.4 ล้านธุรกรรมต่อวัน เฉลี่ย 500 ครั้งต่อคนต่อปี เพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่าใน 5 ปีที่ผ่านมา และมีการใช้ Mobile Banking เป็นอันดับ 1 ของโลก
“อยากเห็นเรื่องการใช้ดิจิทัลมากขึ้น สัดส่วนการใช้เงินสดสูงมาก โดยใน 5 ปีที่ผ่านมา มีการใช้เงินสด 68% ลดลงเหลือ 56% ขณะที่สิงคโปร์ จาก 40% เหลือ 19% แต่ทั้งหมดเงินสดไม่ได้หายไป บทบาทเงินสดยังมีอยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกล รวมทั้ง หันมาใช้ธนบัตรชนิดราคาเล็กๆ เช่น 20 บาทมากขึ้น และส่งเสริมให้ใช้ระบบชำระเงินข้ามประเทศ เช่น เชื่อมเพย์นาวกับสิงคโปร์ เป็นคู่แรกของโลก ค่าโอนลดลง และโอนได้เร็วจาก 1-2 วัน เป็น 1-2 นาที”
ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวต่อถึงที่ต้องดำเนินการ ในเรื่องที่ 2 ว่า จะทำอย่างไรเพื่อให้ระบบการเงินของไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน โดยภาคการเงินต้องหันมาทางความยั่งยืนมากขึ้น และต้องมีผลิตภัณฑ์เอื้อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดธุรกิจที่ย่ังยืน ซึ่ง ธปท.ได้ออกกฎระเบียบกฎเกณฑ์ และออก TAXONOMY เป็นเกณฑ์กลาง คล้ายๆไม้บรรทัดว่า ธุรกิจนี้ไปสู่กรีนได้จริงหรือไม่ แต่สิ่งที่ขาดอยู่คือ ผลิตภัณฑ์โปรแกรม ตอนนี้ ธปท.กำลังหารือกับธนาคารพาณิชย์ให้เกิดผลิตภัณฑ์ เช่น สินเชื่อเพื่อปรับกระบวนการใช้พลังงาน เป็นต้น
ขณะที่เรื่องที่ 3 เรื่อง Open Data for Consumer Empowerment หรือการเปิดเผยข้อมูลผู้บริโภคในระบบการเงิน โดยหากผู้บริโภคยินยอมเปิดเผยข้อมูลของตนไปยังผู้ให้บริการต่างๆ ผ่านช่องทางดิจิทัล เช่นจากเดิมต้องใช้กระดาษเวลาขอกู้ หากใช้ข้อมูลบนโลกออนไลน์ ดิจิทัลฟุตปริ้น เช่น ยื่นภาษีออนไลน์ จ่ายค่าน้ำค่าไฟ ซื้อของออนไลน์ ก็จะง่ายขึ้น ซึ่งพยายามทำให้เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ คาดว่า จะเปิดเผยได้วันที่ 30 พ.ย.นี้.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่