เป็นหนี้บ้าน จ่าย “ดอกเบี้ย” แพง เพราะไม่รู้! เปิด 4 เรื่องที่คนไทยมักเข้าใจผิด เกี่ยวกับ ดอกเบี้ย

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

เป็นหนี้บ้าน จ่าย “ดอกเบี้ย” แพง เพราะไม่รู้! เปิด 4 เรื่องที่คนไทยมักเข้าใจผิด เกี่ยวกับ ดอกเบี้ย

Date Time: 3 พ.ย. 2566 10:51 น.

Video

เปิดทริกวางแผนการเงิน เพื่อชีวิตที่มีประสิทธิภาพ

Summary

  • จากข่าวผ่อนบ้าน หมื่นบาท ธนาคารตัดเงินต้น แค่ 5 บาท สู่ ความรู้พื้นฐานเรื่อง “ดอกเบี้ย” ที่สำคัญของคนเป็นหนี้ ชวนไขข้อข้องใจ 4 เรื่องใหญ่ เกี่ยวกับ ดอกเบี้ย ที่คนไทยมักเข้าใจผิด บัตรเครดิตคิดดอกเบี้ยอย่างไร, ผ่อนบ้านมาหลายปี แต่ดอกเบี้ยไม่ลด เป็นเพราะอะไร, ดอกเบี้ยซื้อรถแบบลดต้นลดดอก และ โปรผ่อนต่ำ ดอกเบี้ยถูก ดีจริงหรือ? พร้อมสรุปวิธีลดดอกเบี้ยแบบง่ายๆ

Latest


เรียกว่า เป็นทุกข์ของคน “เป็นหนี้” ก็ว่าได้ อีกทั้งยังชวนให้หาคำตอบ ปรากฏโพสต์ของผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง แปะสลิปจ่ายหนี้ “สินเชื่อบ้าน” โดยเป็น ยอดชำระ จำนวน 10,900 บาท พบระบบตัดเป็นเงินต้นแค่ 5.50 บาท ที่เหลือ 10,894.50 บาท เข้าดอกเบี้ย ส่งผลยอดเงินต้นคงเหลือชำระ มากกว่า 2.14 ล้านบาท โอด ฝากถึงคนกู้บ้าน “ยอดตัดเข้าเงินต้นน้อย ชาติไหนจะใช้หนี้หมด” 

ดราม่า ผ่อนบ้านตัดเงินต้น 5 บาท 

จากโพสต์ดราม่าดังกล่าว ส่งผลมีผู้แสดงความคิดเห็น และแชร์ต่อเป็นจำนวนมาก บ้างตัดพ้อ เป็นปัญหาที่ตนเองกำลังเผชิญอยู่ จ่ายเท่าไร เงินต้นก็ไม่ลด, บ้างระบุ ดอกเบี้ยแพง กำลังซ้ำเติมคนรายได้น้อย เรื่อยไปจนถึง การเรียกร้องให้รัฐบาล และสถาบันการเงิน ช่วยแบ่งเบาภาระให้ เพราะบางคนผ่อนหนี้ แต่ยอดยังไม่พอชำระ “ดอกเบี้ย” ของแต่ละงวดด้วยซ้ำ 

ขณะเดียวกัน ก็มีความเห็นบางส่วน ที่ระบุว่า เคสดังกล่าว อาจเจอกับ “ดอกเบี้ยลอยตัว” หรือเป็นกรณีเฉพาะ ที่ได้เข้าร่วมโปรโมชันกับสถาบันการเงิน ในรูปแบบ “โปรผ่อนต่ำ” สำหรับคนจะซื้อบ้าน แต่ความสามารถในการผ่อนชำระน้อย 

โดย “การผ่อนต่ำ” จะเป็นเครื่องมือ เพื่อทำให้ผู้กู้ กู้ซื้อบ้านได้ และอาจต้องแลกมาด้วย ระยะเวลาและดอกเบี้ยที่มากกว่าปกติ หรือน่าจะเป็นกลุ่มลูกหนี้ ที่มีการขอปรับโครงสร้างหนี้ และเงื่อนไขปลอดเงินต้น จ่ายเฉพาะดอกเบี้ย หรือไม่ เพราะคำนวณจากตัวเลขดังกล่าวแล้ว เกินไปกว่าระบบผ่อนชำระสินเชื่อบ้านทั่วๆไป ที่แม้ดอกเบี้ยจะแพง แต่ก็จะตัดเข้าเงินต้นมากกว่านี้ 

ไขข้อข้องใจ ว่าด้วยเรื่อง “ดอกเบี้ย”

แม้ท้ายที่สุด ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า ประเด็นดังกล่าว สถาบันการเงินมี ที่มาใน การคิดคำนวณดอกเบี้ยสูง อย่างไร? ต้องยอมรับว่า สำหรับคนเป็นหนี้ และคนทั่วไป เรื่อง “ดอกเบี้ย” มีบทบาทความสำคัญอย่างมาก และควรเป็นเรื่องพื้นฐาน ที่เราต้องทราบ เพราะบ่อยครั้ง เราไม่รู้ หรือ เข้าใจผิด ก็มักทำให้เกิดผลเสียอื่นๆตามมา ไม่ว่าจะเป็น ลูกหนี้ต้องเสียดอกเบี้ยมากๆ ทั้งๆ ที่มีวิธีช่วยประหยัดดอกเบี้ยได้ หรือการเสียดอกเบี้ยมากโดยไม่รู้ตัว เพราะเข้าใจผิดเรื่องเงื่อนไขการคำนวณนั่นเอง 

ThairathMoney เจาะข้อมูลเผยแพร่น่ารู้ ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับ ความรู้พื้นฐานเรื่องดอกเบี้ย และ 4 ความเข้าใจผิด ที่คนไทยมักไม่รู้ ดังนี้ 

  • ถ้าจ่ายหนี้บัตรเครดิตไม่เต็มจำนวน จะคิดดอกเบี้ยอย่างไร? 

จากหัวข้อนี้ เชื่อว่า หลายคน คงเข้าใจว่า การใช้บัตรเครดิต ซื้อของแล้ว พอถึงงวดชำระ ก็สามารถจ่ายแค่บางส่วนได้ และจะเสียดอกเบี้ยแค่ส่วนที่ยังไม่จ่าย ซึ่ง ความเข้าใจนี้ ถือว่าผิด! เพราะนั่นจะทำให้เราเสียดอกเบี้ยแพงขึ้นอย่างมาก 

เนื่องจาก หากเราจ่ายค่าบัตรเครดิตเต็มจำนวนและจ่ายตรงตามเวลาที่กำหนด เราจะไม่ต้องเสียดอกเบี้ยเลย เพราะบัตรเครดิตมีระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยให้แก่คนที่ “จ่ายเต็ม จ่ายตรง” ซึ่งนับเป็นคุณสมบัติหลักที่ทำให้คนส่วนใหญ่เลือกใช้จ่ายด้วยบัตรเครดิต

“หากเราจ่ายแค่บางส่วน เช่น รูด 10,000 บาท แต่จ่ายแค่ 7,000 บาท เราก็จะหมดสิทธิ์ที่จะได้ระยะเวลาปลอดดอกเบี้ย และจะถูกคิดดอกเบี้ยจาก 2 ส่วน คือ ส่วนแรก ยอดเต็มจำนวน 10,000 บาท โดยคิดดอกเบี้ยย้อนกลับไปเริ่มตั้งแต่วันที่เรารูดบัตรหรือวันที่บันทึกรายการ จนถึงวันก่อนวันที่เราชำระ และส่วนที่สอง ธนาคารหรือบริษัทบัตรเครดิตจะคิดดอกเบี้ยจากยอดค้าง 3,000 บาท นับจากวันที่เราชำระจนถึงวันก่อนวันที่เราชำระครั้งต่อไป "


ดังนี้ หากจะใช้บัตรเครดิต เราสามารถจ่ายเต็มจำนวนได้ใช่หรือไม่ เพื่อจะทำให้เราไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย และได้ประโยชน์จากการใช้บัตรเครดิตอย่างแท้จริง

  • ผ่อนบ้านมาหลายปี จ่ายแต่ดอกเบี้ย เงินต้นแทบไม่ลด

เป็นประเด็นที่กำลังร้อน อยู่ในโซเซียลขณะนี้ โดย ธปท. ชี้แจงว่า ดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เป็นแบบลดต้นลดดอก (effective rate) โดยในการชำระแต่ละงวด จะแยกเป็นเงินต้นและดอกเบี้ย

หากจำนวนเงินที่เราชำระเท่ากันทุกงวด ในช่วงปีแรกๆ ค่างวดที่ชำระส่วนใหญ่จะเป็นดอกเบี้ย และถูกนำมาตัดเงินต้นแค่เล็กน้อยเท่านั้น เพราะเงินต้นยังมีจำนวนสูงอยู่ แต่เมื่อเราชำระไปหลายปีแล้ว ค่างวดจะเปลี่ยนสัดส่วนมาหักชำระเงินต้นได้เยอะขึ้นและเหลือส่วนที่เป็นดอกเบี้ยน้อยลง เพราะเงินต้นมีจำนวนลดลงเรื่อย ๆ

เมื่อรู้แบบนี้แล้ว หากเรามีเงินเหลือใช้ในแต่ละเดือน จึงควรแบ่งมาผ่อนบ้านให้มากขึ้น หรือที่เรียกว่า “ทยอยโปะ” เพื่อช่วยให้ผ่อนบ้านหมดเร็วขึ้นและเสียดอกเบี้ยน้อยลง ซึ่งถ้าโปะตรงวันกำหนดชำระของแต่ละงวด เงินที่เราจ่ายเพิ่มจะถูกนำไปตัดเงินต้นเต็มๆ 

อีกอย่างคือ หากสินเชื่อบ้านของเรากำลังจะหมดโปรโมชันอัตราดอกเบี้ยต่ำ ควรรีบเข้าไปขอลดดอกเบี้ยกับเจ้าหนี้เดิมหรือที่เรียกว่า “retention” หรืออาจขอ “refinance” กับเจ้าหนี้ใหม่ แต่ก็อย่าลืมเปรียบเทียบให้รอบคอบก่อนว่าค่าธรรมเนียมต่างๆ คุ้มที่จะเปลี่ยนเจ้าหนี้หรือไม่

  • ดอกเบี้ยซื้อรถเปลี่ยน วิธีคิดจากแบบเงินต้นคงที่ มาเป็นแบบลดต้นลดดอกแล้ว

เชื่อว่า หลายคนน่าจะยังไม่รู้ ปัจจุบันการเช่าซื้อรถยังคงใช้อัตราดอกเบี้ยที่คำนวณแบบ “เงินต้นคงที่ (flat rate)” อยู่ โดยคิดดอกเบี้ยจากเงินต้นทั้งก้อน เพียงแต่ต้องระบุอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี และมีการแจ้งตารางชำระแบบลดต้นลดดอกไว้ในสัญญาด้วย เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่ออื่นได้ 

จึงทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่าการเช่าซื้อรถได้เปลี่ยนวิธีการคิดดอกเบี้ยเป็นแบบ “ลดต้นลดดอก” แล้ว และคิดว่าเงินที่จ่ายค่างวดเกินไปหรือการทยอยโปะจะช่วยลดดอกเบี้ย และทำให้ปิดหนี้ได้เร็วขึ้น

ฉะนั้น หากลูกหนี้ต้องการรับส่วนลดดอกเบี้ย จึงจะต้อง “โปะปิดบัญชี” โดยชำระยอดคงค้างให้หมดในงวดเดียว ถึงจะได้รับส่วนลดดอกเบี้ยอยู่ 60-100% ของดอกเบี้ยที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าเราชำระค่างวดไปมากเท่าไรแล้ว

  • อย่าหลงกล ดอกเบี้ยถูก แค่ 2% 

ปัจจุบันมีสินเชื่อมากมาย ที่ออกโปรฯ ผ่อนน้อย ดอกถูก หรือ รู้หรือไม่? อัตราดอกเบี้ยที่โฆษณาในโบรชัวร์ที่เขียนแค่ “อัตราดอกเบี้ย” โดยไม่ได้ระบุอัตราดอกเบี้ยว่าเป็นต่อปี ต่อเดือน หรือต่อวัน เป็นการให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน และอาจทำให้คนเข้าใจผิดว่าไม่แพง ฉะนั้น หากต้องการกู้เงิน จึงควรต้องถามพนักงานหรือบริษัทที่เราจะกู้เงินให้ชัดเจน และแปลงอัตราดอกเบี้ยให้เป็นต่อปีตามสูตรนี้

อัตราดอกเบี้ยต่อปี = อัตราดอกเบี้ยที่ระบุในโบรชัวร์ X ตัวคูณเพื่อแปลงอัตราดอกเบี้ย

สมมติว่า อัตราดอกเบี้ยที่ระบุในโบรชัวร์ คือ 2% ต่อเดือน ให้นำ 12 ไปคูณกับ 2% ก็จะเท่ากับอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 24% ต่อปี แพงหรือไม่ถามใจตัวเองดู

สรุป 4 วิธี ประหยัดดอกเบี้ย - ช่วยลดดอกเบี้ย 

  1. บัตรเครดิตต้องจ่ายเต็มจำนวนและตรงเวลา เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากระยะเวลาปลอดดอกเบี้ย (และไม่ควรใช้บัตรเครดิตถอนเงินสดออกมา)
  2. สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยควรทยอยโปะถ้าพอจ่ายไหว เพราะจะช่วยลดเงินต้นได้เพิ่มขึ้นและประหยัดดอกเบี้ยได้ ที่สำคัญควรโปะในวันที่ครบกำหนดชำระของทุกเดือนหากต้องการตัดเงินต้นได้เต็มจำนวน
  3. เช่าซื้อรถยนต์ต้องจ่ายเงินก้อนโปะปิดบัญชีครั้งเดียว ถึงจะได้รับส่วนลดดอกเบี้ย
  4. ดูอัตราดอกเบี้ยให้ชัดเจน และแปลงให้เป็นเปอร์เซ็นต์ต่อปี เพื่อเปรียบเทียบความคุ้มค่าในการขอสินเชื่อจากเจ้าหนี้หลายๆ ราย จะได้ไม่เสี่ยงกับดอกเบี้ยแสนแพง และหนี้สินที่พอกพูนจนจ่ายไม่ไหว

Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ