ไซยะบุรีฯ เปิดจองกรีนบอนด์สกุลเงินบาท วันที่ 20, 24 และ 25 ต.ค. 66 นี้ พร้อมยืนยันภาวะเศรษฐกิจของ สปป.ลาว ไม่กระทบรายได้บริษัท
นายวรพจน์ อุชุไพบูลย์วงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด หรือ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี หรือ XPCL บริษัทร่วมในเครือของ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKPower และเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้วที่มีกำลังการผลิตมากที่สุดของกลุ่ม CKPower กล่าวว่า วันที่ 20, 24 และ 25 ต.ค. 66 นี้ XPCL เปิดจองหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมสกุลเงินบาท อายุ 3 -5 ปี ให้แก่ผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือ ผู้ลงทุนรายใหญ่ โดย XPCL ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือองค์กรที่ A- แนวโน้มคงที่ ส่วนอันดับเครดิตหุ้นกู้อยู่ที่ BBB+ จากทริสเรทติ้ง จำนวน 3 ชุด คือ
หุ้นกู้ชุดที่ 1 อายุ 3 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนตุลาคม ปี 2569 อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 5.15 ต่อปี
หุ้นกู้ชุดที่ 2 อายุ 4 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนตุลาคม ปี 2570 อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 5.30 ต่อปี
หุ้นกู้ชุดที่ 3 อายุ 5 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนตุลาคม ปี 2571 อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 5.55 ต่อปี
โดยผู้ลงทุนสถาบัน หรือผู้ลงทุนรายใหญ่ ที่สนใจหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของ XPCL สามารถจองซื้อขั้นต่ำ 100,000 บาท และทวีคูณครั้งละ 100,000 บาท ได้ที่ผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ทั้ง 5 แห่ง คือ ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งรวมถึง บล. อินโนเวสท์ เอกซ์, บล.เกียรตินาคินภัทร ซึ่งรวมถึงธนาคารเกียรตินาคินภัทร และ บล.กรุงไทย เอ็กซ์สปริง
สำหรับหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมสกุลเงินบาทของ XPCL ที่เสนอขายในครั้งนี้เป็นไปตามมาตรฐาน Green Bond Principles 2021 และ ASEAN Green Bond Standards 2018 และได้ผ่านการสอบทานโดยองค์กรรับรองมาตรฐานชั้นนำของโลก DNV
ในฐานะผู้สอบทานอิสระ (Independent External Reviewer) โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้รับไปชำระคืนเงินกู้ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ อีกทั้งช่วยลดต้นทุนทางการเงินเฉลี่ย
นายวรพจน์ กล่าวว่า ขอให้ผู้ลงทุนมั่นใจว่า XPCL จะไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณเศรษฐกิจของ สปป.ลาว เพราะธุรกิจผลิตไฟฟ้านั้นถือเป็นรายได้หลักที่สำคัญของ สปป.ลาว ในการเป็น Battery of Asia ขณะเดียวกัน บริษัทมีการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างรัดกุม โดยจัดการกระแสเงินสดที่เกี่ยวกับการดำเนินงานผ่านบัญชีของธนาคารพาณิชย์ไทยที่เปิดในประเทศไทย
รวมถึงมีการสำรองเงินสดล่วงหน้าเพื่อให้มีความพร้อมในการชำระดอกเบี้ย จ่ายคืนเงินกู้ และไถ่ถอนหุ้นกู้ ซึ่งบัญชีทั้งหมดก็อยู่ในประเทศไทยเช่นเดียวกัน โดย XPCL มีรายได้เป็นสกุลเงินบาทและดอลลาร์สหรัฐ และมีค่าใช้จ่ายที่เป็นสกุลเงินกีบในสัดส่วนที่น้อยมาก จึงไม่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงินกีบอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด
สำหรับ XPCL ได้รับสัมปทานจากรัฐบาล สปป.ลาว ให้ออกแบบ พัฒนา ก่อสร้าง และดำเนินการ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี มีกำลังผลิตติดตั้ง 1,285 เมกะวัตต์ ซึ่งไฟฟ้าที่ผลิตได้เกือบทั้งหมดจำหน่ายให้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีระยะเวลาสัมปทาน 31 ปี นับตั้งแต่วันเริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2562
ทั้งนี้ XPCL ผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำได้เฉลี่ยประมาณ 7,400 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี (GWh/Year) ซึ่งจัดเป็นพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) เป็นพลังงานสะอาดที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สามารถช่วยหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 3.8 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี (tCO2e)
โดย XPCL มีผู้ถือหุ้นหลักเป็นบริษัทพลังงานชั้นนำในประเทศไทย ได้แก่ CKPower (TRIS Rating: A) ถือหุ้น 42.5% บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC (TRIS Rating: AA+) ถือหุ้นผ่านบริษัทย่อยที่ 25% และบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO (TRIS Rating: AA+) ถือหุ้น 12.5%
สำหรับผลการดำเนินงานของ XPCL ในปี 2565 มีรายได้ 16,230 ล้านบาท มีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จำนวน 14,730 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วน EBITDA Margin ร้อยละ 91
ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 มีรายได้จำนวน 5,211 ล้านบาท มี EBITDA จำนวน 4,567 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วน EBITDA Margin ร้อยละ 88 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 ของบริษัทอยู่ที่ระดับ 1.8 เท่า ซึ่งต่ำกว่าข้อกำหนดหุ้นกู้ที่ให้ดำรงอัตราส่วนดังกล่าวไม่ให้สูงเกิน 3.0 เท่า.