ธปท.เปิดเวทีแจงเหตุขึ้นดอกเบี้ย “เศรษฐา” เรียกพบหลังลือปลดผู้ว่า ธปท.

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ธปท.เปิดเวทีแจงเหตุขึ้นดอกเบี้ย “เศรษฐา” เรียกพบหลังลือปลดผู้ว่า ธปท.

Date Time: 30 ก.ย. 2566 06:44 น.

Summary

  • ผู้ว่า ธปท.ยอมรับ นายกฯเรียกพบจริง 2 ต.ค.นี้ ท่ามกลางกระแสไม่พอใจขึ้นดอกเบี้ยของ กนง. และกระแสปลดผู้ว่าฯ พร้อมแจงขึ้นดอกเบี้ยนโยบายล่าสุด ไม่ได้มาจากนโยบายรัฐกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เป็นการมองไปข้างหน้าถึงทิศทางเงินเฟ้อที่จะสูงขึ้น ลั่นหากไม่มีปัจจัยเซอร์ไพรส์ ดอกเบี้ยจะอยู่ระดับนี้ไปอีกสักพัก

Latest

ปลดล็อกเรื่องภาษี!

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายล่าสุดอีก 0.25% เมื่อวันที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นไปอยู่ที่ 2.5% ต่อปี ว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เป็นการมองภาพไปข้างหน้ามากกว่ามองตัวเลขในระยะสั้น และไม่ใช่การขึ้นไปก่อนล่วงหน้า เพื่อสกัดเงินเฟ้อไม่ให้สูงขึ้น หรือพยายามแตะเบรกเศรษฐกิจ

ย้ำขึ้นดอกเบี้ยไม่ใช่แตะเบรกเศรษฐกิจ

ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวต่อว่า บางคนอาจจะมองว่า ธปท.ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ลง แต่กลับขึ้นดอกเบี้ย ขอทำความเข้าใจว่า การตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ย กนง.ไม่ได้มองแค่ตัวเลขที่ผ่านมาแล้ว เช่น เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 โตต่ำกว่าคาด หรือเงินเฟ้อล่าสุดที่อยู่ที่ 0.9% แต่มองปัจจัยข้างหน้าที่จะเข้ามากระทบต่อการขยายตัวและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การขึ้นดอกเบี้ยไม่ได้ต้องการแตะเบรกเศรษฐกิจหรือสกัดเงินเฟ้อ แต่เป็นการมองไปในระยะยาว ดูความเสี่ยงไปข้างหน้า และโอกาสที่เงินเฟ้อจะสูงขึ้นได้ในหลายๆเรื่อง

นอกจากนี้ ยังยกตัวอย่างว่า เรื่องแรกที่ดูคือ ภาวะเศรษฐกิจในระยะต่อไป ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยปีหน้าจะขยายตัว 4.4% จึงไม่กังวลเรื่องเศรษฐกิจจะไม่ขยายตัว หรือขยายตัวต่ำ 2.เงินเฟ้อ ซึ่งมีโอกาสขยับสูงกว่าที่เป็นอยู่จาก 2 ปัจจัย ที่หนักที่สุดคือเอลนีโญที่คาดว่าจะหนักมากในช่วง 2 ปีนี้ และจะส่งผลให้ราคาอาหารสูงขึ้น อีกปัจจัยคือราคาน้ำมันที่ขณะนี้กลับมาสูงขึ้นต่อเนื่องและมีแนวโน้มสูงขึ้นอีก 3.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทำให้ความต้องการซื้อสินค้า และการผลิตอยู่ในระดับที่ใกล้กันมากขึ้น 4.ผลกระทบที่จะเกิดต่อเนื่องจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และ 5.การใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งแต่ละปัจจัยล้วนมีผลให้เงินเฟ้อกลับมาสูงขึ้นได้ และที่สำคัญคือหากทุกปัจจัยมาพร้อมๆกันยิ่งอาจจะส่งเสริมกันให้ผลลัพธ์ที่ได้เกินกว่าที่ ธปท.คาดไว้ได้

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ธปท.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาประมาณ 1 ปีกว่าๆ และเห็นได้ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจยังคงฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง พร้อมๆกับสามารถดูแลเงินเฟ้อให้ไม่พุ่งสูงเกินไปจนควบคุมไม่ได้จนกระทบต่อการดำรงชีพของประชาชนได้ และในขณะนี้เมื่อเศรษฐกิจไทยเติบโตได้ตามศักยภาพที่ 3-4% ต่อปี เงินเฟ้อมีโอกาสอยู่ในกรอบเป้าหมาย 1-3% อย่างยั่งยืน ขณะที่เสถียรภาพของระบบการเงินไม่ได้ถูกระทบมากนัก แม้มีปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง และการแสวงหาการลงทุนที่มีความเสี่ยงเพื่อได้อัตราผลตอบแทนที่สูง วงจรของดอกเบี้ยของไทยจึงกลับมาอยู่ในการลงจอดในจุดที่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจในระยะต่อไป

เตรียมข้อมูลแจงนายกฯ 2 ต.ค.นี้

นายเศรษฐพุฒิกล่าวอีกว่า หลังจากเราพยายามถอนคันเร่งมาระยะหนึ่ง การขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในครั้งล่าสุด ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเข้าสู่จุดสมดุล หรือจุดตรงกลางที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่องโดยไม่เกิดปัญหาด้านเสถียรภาพ และหากภาพเศรษฐกิจที่ ธปท.มองไปข้างหน้าในขณะนี้ไม่มีอะไรเปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญ ก็สามารถหยุดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่ตอนนี้ หรืออยู่จุดนี้ไปอีกสักพัก แต่จะบอกว่าจะไม่ขึ้นอีกเลยคงไม่ได้ เพราะหากภาวะเศรษฐกิจเปลี่ยนไป ความผันผวนรุนแรงกว่าที่คาดไว้ กนง.ก็อาจปรับนโยบายไปตามทิศทางนั้น ดังนั้น หากสัญญาว่าจะไม่ขึ้น แล้วในอนาคตจำเป็นต้องขึ้นอีก ตลาดจะปั่นป่วนมากกว่า ซึ่ง ธปท.ไม่ต้องการเป็นตัวซ้ำเติมความผันผวนในตลาดการเงินให้เพิ่มขึ้น แต่พูดได้ว่า การทยอยขึ้นดอกเบี้ยอย่างที่ผ่านมาจะไม่เกิดขึ้นไปอีกระยะ

สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5% ตนมองว่า ไม่ได้ตึงมากเกินไป จนทำให้ระบบมีปัญหาสภาพคล่อง แต่เมื่อดอกเบี้ยขึ้นมาจากระดับต่ำมากๆที่ 0.5% ในช่วงโควิด ก็เข้าใจหัวใจลูกหนี้ว่า ถ้าเป็นหนี้แล้วดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ก็ทำให้ภาวะการเงินตึงขึ้น แต่หากมองที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง ซึ่งมาจากอัตราดอกเบี้ยลบด้วยเงินเฟ้อคาดการณ์ที่ 2% ดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ที่ 0.5% ต่ำมาก และหากเทียบดอกเบี้ยนโยบายของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ของไทยต่ำสุด เทียบกับมาเลเซียที่ 3% เกาหลีใต้ 3% กว่า อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ 5-6% ส่วนการที่ค่าเงินบาทอ่อนค่ามาจากทั้งความกังวลของนักลงทุน จากปัจจัยความผันผวนในตลาดการเงินโลกที่สูงมาก และปัจจัยในประเทศ เช่น การดำเนินนโยบายของรัฐบาล การซื้อขายทองคำ เศรษฐกิจไทยผูกกับเงินหยวน โดยล่าสุด จากต้นปีถึงปัจจุบันมีเงินทุนต่างชาติไหลออกแล้ว 8,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง จะเชิญผู้ว่าการ ธปท.เข้าพบเพื่อหารืออัตราดอกเบี้ย หลัง กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยสัปดาห์ที่ผ่านมา นายเศรษฐพุฒิกล่าวว่า ท่านนายกฯได้เชิญให้ไปพบจริงในวันจันทร์ที่ 2 ต.ค.นี้ แต่ยังไม่ทราบสถานที่และเวลาที่ชัดเจน อีกทั้งยังไม่ได้กำหนดหัวข้อเรื่องที่จะพูดคุย ไม่ทราบว่าจะเป็นเรื่องอัตราดอกเบี้ยหรือเรื่องอื่นๆเพิ่มเติมหรือไม่ ซึ่งตนพร้อมให้ข้อมูลต่างๆที่ท่านนายกฯ สอบถาม ส่วนที่การนัดหารือครั้งนี้ จะเนื่องมาจากกรณีมีกระแสข่าวความไม่พอใจ หรือข่าวลือปลดผู้ว่าฯ ธปท. หรือไม่นั้น ผู้ว่าฯ ธปท.เพียงแค่ยิ้ม และปฏิเสธที่จะตอบคำถาม.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ