คุณปิติ ดิษยทัต เลขานุการ กนง.คณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย แถลงว่า กนง.มีมติเป็นเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 ให้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.25 เป็นร้อยละ 2.50 ต่อปี โดยให้มีผลทันทีตั้งแต่วันที่มีมติ 27 กันยายน 2566 เป็นการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องครั้งที่ 8 นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 จากร้อยละ 0.50 เป็นร้อยละ 2.50 ขณะเดียวกัน กนง.ยังได้ปรับลดการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้จากร้อยละ 3.6 ลงมาเหลือร้อยละ 2.8 ลดลงรวดเดียวร้อยละ 0.8 แต่ปีหน้า 2567 กนง.คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4.4
เป็นภาพเศรษฐกิจที่สะท้อนถึงความไม่แน่นอนสูงและเหวี่ยงแรง
กนง.ระบุว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีหน้า 2567 จะเพิ่มสูงขึ้นจากอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศ ทำให้อัตราเงินเฟ้อปี 2567 มีแนวโน้มสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แรงกดดันจากปรากฏการณ์เอลนีโญ แรงส่งที่เพิ่มเติมจากนโยบายภาครัฐ ดังนั้น เพื่อให้เศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวกลับเข้าสู่ระบบศักยภาพ นโยบายการเงินจึงควรดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืน ซึ่งจะช่วยเสริมเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว รวมทั้งรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงิน ในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.25 ในการประชุมครั้งนี้
ไม่ต้องอธิบายก็รู้ว่า การขึ้นดอกเบี้ยของแบงก์ชาติครั้งนี้ ก็เพื่อรองรับ “ภาวะเงินเฟ้อ” ที่จะพุ่งขึ้นจาก การแจกเงินดิจิทัล 560,000 ล้านบาท ของพรรคเพื่อไทยในเดือนเมษายนปีหน้า ท่ามกลางกระแสข่าว “ความไม่แน่นอน” ว่า จะแจกเงินในรูปแบบใด แม้จะไปบีบเม็ดเงินจาก “แบงก์รัฐ” มาแล้วก็ตาม รวมทั้ง “การใช้หนี้คืนในอนาคต” ก็ไม่รู้ว่ารัฐบาลจะมีศักยภาพหาเงินมาใช้คืนแบงก์รัฐได้อย่างที่สัญญาหรือไม่
นอกจากขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแล้ว กนง.ยังปรับลดจีดีพีปีนี้ 2566 ลดเหลือ 2.8% จาก 3.6% จากการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจจีนและวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกฟื้นตัวช้า แต่ปี 2567 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเร่งขึ้นจากอุปสงค์ในประเทศ ภายใต้เงื่อนไขว่า การท่องเที่ยวต้องฟื้นตัวต่อเนื่อง การส่งออกสินค้าต้องกลับมาขยายตัว รวมทั้ง ได้รับแรงส่งเพิ่มเติมจากนโยบายรัฐ
อัตราเงินเฟ้อในปี 2566 แม้จะอยู่ในระดับต่ำ แต่ กนง.ให้จับตาเงินเฟ้อในปี 2567 ที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นจนเป็นความเสี่ยง จากแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายภาครัฐ และต้นทุนอาหารที่อาจปรับสูงขึ้น
แม้ กนง.จะขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องมา 8 ครั้ง แต่ก็มีข่าวดีมาปลอบใจว่า การทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่ผ่านมาจนถึงการประชุมครั้งนี้ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว การดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า จะพิจารณาให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่อาจได้รับแรงส่งเพิ่มจากนโยบายภาครัฐ
แปลภาษาแบงก์ชาติเป็นภาษาไทยก็คือ กนง.จะหยุดขึ้นดอกเบี้ยแล้ว แต่ถ้านโยบายประชานิยมที่จะแจกกันถล่มทลายส่งผลให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้น กนง.ก็อาจต้องพิจารณาขึ้นดอกเบี้ยอีก
แต่จนถึงวันนี้ นายกฯเศรษฐา ทวีสิน ก็ยังตอบไม่ได้ การแจกเงินดิจิทัล 560,000 ล้านบาท ทุกครัวเรือนทั่วประเทศ 56 ล้านคน ร้านค้ารายเล็กรายย่อยในพื้นที่ห่างไกล จะเปลี่ยนเงินดิจิทัลเป็นเงินสดเพื่อยังชีพได้อย่างไร แต่ละคน “หาเช้ากินค่ำ” กันทั้งนั้น แถมยังต้องลงทะเบียนเข้าสู่ “ระบบภาษี” ทั้ง 56 ล้านคน แค่คิดก็มึนแล้วละ.
“ลม เปลี่ยนทิศ”