อนาคตอันใกล้ Virtual Bank ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา บนความท้าทายรอบด้าน

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

อนาคตอันใกล้ Virtual Bank ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา บนความท้าทายรอบด้าน

Date Time: 26 ส.ค. 2566 09:12 น.

Video

สาเหตุที่ทำให้ Intel อดีตยักษ์ใหญ่ชิปโลก ล้าหลังยุค AI | Digital Frontiers

Summary

  • ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) เป็นโอกาสทางธุรกิจที่เปิดกว้างให้กลุ่มผู้เล่นรายใหม่ แต่ในไทยยังต้องรอการพิสูจน์ว่าจะเข้ากับบริบท โครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมในประเทศ และพฤติกรรมของผู้บริโภคไทยหรือไม่ ผ่านการเรียนรู้ประสบการณ์จากต่างประเทศ และนำมาปรับใช้ในอนาคต

Latest


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ในไทยสำหรับผู้เล่นรายใหม่อาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก จากความท้าทายต่างๆ ทั้งในด้านการหารายได้ การบริหารต้นทุนดำเนินการ ความเสี่ยงจากการผิดชำระหนี้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันกับผู้เล่นอย่างธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิมในตลาดซึ่งมีการพัฒนา Mobile banking ที่ตอบโจทย์การทำธุรกรรมของผู้บริโภคไปมากแล้ว 

จึงเป็นไปได้ว่าแพลตฟอร์มของธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาอาจไม่ได้สร้างความแตกต่างให้ผู้บริโภคในมุมของการทำธุรกรรมหลัก แต่คาดว่าน่าจะเป็นแพลตฟอร์มทางเลือกให้ผู้บริโภคในการใช้บริการทางการเงิน หากมีแรงจูงใจในการใช้งานที่มากพอ 

เมื่อพิจารณาการประกอบธุรกิจ Virtual Bank ในต่างประเทศจะพบว่าผู้ให้บริการที่ประสบความสำเร็จมักมีฐานลูกค้าที่แข็งแกร่งจากแพลตฟอร์มออนไลน์เดิม มีจุดขายและกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่แตกต่างกันตามวัตถุประสงค์การออกใบอนุญาตของทางการในแต่ละประเทศ  มีระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่พร้อมรองรับการต่อยอดสู่ธุรกิจอื่นๆ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การดำเนินธุรกิจมีความยั่งยืนมากขึ้นจากการขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มใหม่ๆ ขณะที่ยังสามารถแชร์ต้นทุนการบริหารงานบางอย่างได้ นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนา User Interface ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้มีการใช้งานอย่างต่อเนื่อง 

รวมถึงมีการจับกลุ่มลูกค้า Unbanked และ Underbanked ทั้งที่เป็นลูกค้ารายย่อยและกลุ่มผู้ประกอบการระดับไมโคร ภายใต้เงื่อนไขการให้บริการที่ยืดหยุ่นกว่าธนาคารพาณิชย์แบบดั้งเดิม ทำให้ผู้ให้บริการธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาที่ประสบความสำเร็จมักมีส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ที่สูงกว่า ในขณะที่อัตราการเติบโตของสินเชื่อ (Loan growth) อยู่ในระดับสูง

ดังนั้นแม้ว่าธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาเป็นโอกาสทางธุรกิจที่เปิดกว้างให้กลุ่มผู้เล่นรายใหม่ให้สามารถเข้ามาแข่งขันในธุรกิจธนาคารได้ ทว่ารูปแบบการประกอบธุรกิจดังกล่าวในไทยยังต้องรอการพิสูจน์อีกระยะหนึ่ง เพื่อให้เข้ากับบริบทและโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมในประเทศ ตลอดจนพฤติกรรมของผู้บริโภคไทย โดยสามารถเรียนรู้ประสบการณ์ของต่างประเทศ เพื่อนำมาปรับใช้ในระยะข้างหน้านั่นเอง


ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการอัปเดตว่า ตามที่ได้เปิดรับฟังความเห็นต่อแนวทางการอนุญาตให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ระหว่างวันที่ 12 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2566 นั้น ธปท. ได้รับความเห็น และข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์จากภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน และผู้ประกอบธุรกิจทั้งในไทยและต่างประเทศ 

โดยส่วนใหญ่เห็นด้วยกับวัตถุประสงค์และแนวทางการอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank ในภาพรวม และมีการสอบถามรายละเอียดของหลักเกณฑ์ในหลายมิติ ซึ่งบางประเด็นมีความสำคัญและอาจกระทบการตัดสินใจหรือการออกแบบแผนงานของผู้สมัคร รวมถึงรูปแบบการประกอบธุรกิจของ Virtual Bank ที่จะถูกจัดตั้ง 

ดังนั้น ธปท. จึงนำความเห็นที่ได้รับมาปรับปรุงแนวทางการอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank โดยขยายความในประเด็นที่สำคัญให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้สมัครทุกรายได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจอย่างเพียงพอและเท่าเทียมกัน สรุปสาระสำคัญ ดังนี้  

  1. สิ่งที่อยากเห็น (green line) และสิ่งที่ไม่อยากเห็น (red line)

    ยกตัวอย่างเพิ่มเติมว่า ธปท. อยากเห็น Virtual Bank ช่วยกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันในระบบสถาบันการเงินอย่างเหมาะสม โดยจัดให้มีกลไกที่รองรับและอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าในการส่งหรือโอนข้อมูลส่วนบุคคลไปยังผู้ให้บริการรายอื่นภายใต้สิทธิของลูกค้าตามกฎหมาย อันสอดคล้องกับแนวนโยบายการเปิดให้มีการใช้ประโยชน์จากข้อมูล  (Open Data) ของ ธปท. และไม่อยากเห็น Virtual Bank กีดกันหรือสร้างอุปสรรคในการส่งหรือโอนข้อมูลที่ได้รับความยินยอมจากลูกค้าไปยังผู้ให้บริการรายอื่นภายใต้สิทธิของลูกค้าตามกฎหมาย

  2. คุณสมบัติสำคัญของผู้ขอจัดตั้ง Virtual Bank ขยายความให้ชัดเจนขึ้น ดังนี้

    ด้านธรรมาภิบาล เพิ่มรายละเอียดว่า ห้ามมิให้กรรมการ ผู้มีอำนาจในการจัดการ หรือที่ปรึกษา ของ Virtual Bank ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการ ผู้มีอำนาจในการจัดการ หรือพนักงานของสถาบันการเงินแห่งอื่นในเวลาเดียวกัน เพื่อป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อให้บุคลากรดังกล่าวสามารถอุทิศเวลาในการบริหารจัดการงานได้อย่างเต็มที่

    ด้านการใช้เทคโนโลยีและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ที่ยืดหยุ่น มั่นคง ปลอดภัย สามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง เพิ่มรายละเอียดว่า Virtual Bank ต้องไม่ใช้งานระบบ IT ที่สำคัญร่วมกับสถาบันการเงินรายอื่น เช่น ระบบ Core Banking ระบบ Mobile Banking และระบบ Internet Banking เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากความเชื่อมโยงและการพึ่งพาระหว่างกัน (contagion risk) ข้อมูลรั่วไหล และภัยคุกคามด้านไซเบอร์

    ด้านการเข้าถึง บริหารจัดการ และใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่หลากหลาย เพิ่มรายละเอียดว่า ผู้ขอจัดตั้ง Virtual Bank ต้องแสดงถึงความสามารถในการบริหารจัดการข้อมูลที่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลข้อมูล (data governance) และความสามารถในการพัฒนาระบบข้อมูลและการเชื่อมต่อ เพื่ออำนวยความสะดวกลูกค้าในการนำข้อมูลของตนไปใช้ทำธุรกรรมกับผู้ให้บริการทางการเงินรายอื่น

  3. การคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมให้จัดตั้ง Virtual Bank 

    เพิ่มรายละเอียดว่า ธปท. จะคัดเลือกองค์ประกอบของผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุด โดยคำนึงถึงการช่วยตอบโจทย์ green line ได้อย่างมีคุณภาพ ยั่งยืน และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจการเงินไทยในภาพรวม

  4. เงื่อนไขอื่นๆ 

    เพิ่มเงื่อนไขการดำเนินกิจการในช่วง 3-5 ปีแรกของ Virtual Bank (ช่วง phasing) ไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นที่มีนัยต่อความสำเร็จของ Virtual Bank เว้นแต่ได้รับอนุญาตจาก ธปท. ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นอันควร เนื่องจากผู้ถือหุ้นดังกล่าวมีบทบาทสำคัญในการสร้างธุรกิจในช่วงเริ่มต้นกิจการ

ทั้งนี้ เพื่อให้มี Virtual Bank ในประเทศไทยที่สามารถนำเสนอบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ทั้งความต้องการของผู้ใช้บริการทางการเงินแต่ละกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ ธปท. จึงขอเปิดรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank อีกครั้งในส่วนที่มีการเพิ่มรายละเอียดหรือเงื่อนไขอย่างมีนัยสำคัญ ตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน 2566 ถึงวันที่ 4 กรกฎาคม 2566

โดยสามารถส่งความเห็นผ่านทางเว็บไซต์ของ ธปท. หรือทางอีเมล virtualbank@bot.or.th ทั้งนี้ ธปท. จะนำความเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้รับมาประกอบการจัดทำหลักเกณฑ์การอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank โดยคาดว่าจะเสนอหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้กระทรวงการคลังพิจารณาภายในเดือนกรกฎาคม 2566 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ