จับตารายได้ครัวเรือนเปราะบาง ธปท.เผยสินเชื่อไตรมาส 2 ติดลบ คนแห่คืนหนี้ไม่คิดกู้เพิ่ม

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

จับตารายได้ครัวเรือนเปราะบาง ธปท.เผยสินเชื่อไตรมาส 2 ติดลบ คนแห่คืนหนี้ไม่คิดกู้เพิ่ม

Date Time: 23 ส.ค. 2566 06:30 น.

Latest

ปลดล็อกเรื่องภาษี!

น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ ในไตรมาส 2 ปี 2566 ว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 2 หดตัวเล็กน้อยที่ 0.4% จากระยะเดียวกันปีก่อน จากการทยอยชำระคืนหนี้ของภาคธุรกิจหลังเร่งขยายตัวต่อเนื่องเพื่อเสริมสภาพคล่องในช่วงโควิด โดยเฉพาะการชำระคืนสินเชื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และภาครัฐ ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่ส่วนหนึ่งระดมทุนผ่านการออกตราสารหนี้ ประกอบกับมีการบริหารจัดการคุณภาพหนี้ของธนาคารพาณิชย์ โดยขายสินเชื่อออกไปบางส่วน ถือเป็นการติดลบครั้งแรกตั้งแต่ช่วงโควิดที่ผ่านมา

ด้านยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (non-performing loan : NPL หรือ stage 3) ไตรมาส 2 ปี 2566 ลดลงมาอยู่ที่ 492,300 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมที่ 2.67% ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (significant increase in credit risk : SICR หรือ stage 2) อยู่ที่ 6.08% ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนที่อยู่ที่ 6.00% โดยต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของ SMEs และครัวเรือนบางกลุ่มที่ยังมีฐานะการเงินเปราะบางจากภาระหนี้ที่สูงขึ้นและรายได้ที่ฟื้นตัวช้า

สำหรับสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 1 ปี 2566 ลดลงเล็กน้อยตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่ภาคธุรกิจมีสัดส่วนหนี้สินต่อจีดีพีปรับลดลงต่อเนื่อง และความสามารถในการทำกำไรปรับดีขึ้นเล็กน้อยจากภาคการผลิต โดยต้องติดตามความเสี่ยงจากภาคการส่งออกที่ชะลอลงตามเศรษฐกิจโลก ภาคการท่องเที่ยวที่ต้องมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และภาคก่อสร้างที่ต้องติดตามนโยบายของภาครัฐ

“การเร่งแก้ไขหนี้ในช่วงต่อไปที่มาตรการแก้หนี้ระยะยาวที่ให้สิทธิพิเศษต่างๆในช่วงโควิดจะสิ้นสุดในสิ้นปี 2566 ธปท.ยืนยันว่า สถาบันการเงินยังให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของกลุ่มเปราะบาง โดยลูกหนี้ที่มีปัญหายังสามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนที่สิ้นสุด เป็นเรื่องการผ่อนปรนหลักเกณฑ์กำกับดูแลเพื่อลดต้นทุนให้กับสถาบันการเงินเท่านั้น”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ