ผ่าบทเรียน Virtual Bank ในต่างประเทศ ประเทศไทย มีความพร้อมมากแค่ไหน

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ผ่าบทเรียน Virtual Bank ในต่างประเทศ ประเทศไทย มีความพร้อมมากแค่ไหน

Date Time: 18 ส.ค. 2566 18:14 น.

Video

โมเดลธุรกิจ Onlyfans ทำไมถึงมีแต่ได้กับได้ ? บริษัทมั่งคั่ง คนทำก็รวย | Digital Frontiers

Summary

  • เมื่อ “เทคโนโลยี” ในโลกยุคดิจิทัลที่มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มักใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ในชีวิตประจำวัน เป็นปัจจัยเร่งสำคัญอย่างหนึ่งต่อการเกิดนวัตกรรมทางการเงิน รวมไปถึงระบบการให้บริการทางการเงินใหม่ๆ โดยเฉพาะการเกิดธนาคารพาณิชย์ที่ดำเนินธุรกิจบนช่องทางดิจิทัลแบบไร้สาขา หรือ Virtual Bank

นับว่ามีกระแสพูดถึงในวงกว้างมาได้ระยะหนึ่งแล้ว ในขณะที่ทางการในหลายๆ ประเทศ ต่างออกหลักเกณฑ์ใบอนุญาตให้ดำเนินการไปบ้างแล้ว

และก็เช่นเดียวกันกับประเทศไทย ที่ในอนาคตอันใกล้นี้ จะมีการให้บริการธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา หรือ Virtual Bank อย่างเป็นทางการ โดยคาดว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเปิดรับสมัครผู้ประกอบการที่สนใจภายในไตรมาส 4 ปี 2566 และประกาศรายชื่อผู้เล่น 3 รายที่มีศักยภาพภายในสิ้นปี 2567 ซึ่งเป็นไปตามนโยบายภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืนนั่นเอง

ซึ่งแน่นอนว่าการเกิดธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาในไทยย่อมถูกคาดหวังว่าจะเกิดการพัฒนารูปแบบการให้บริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ ที่น่าจะตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในตลาด โดยเฉพาะกลุ่มรายย่อยที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน (Unbanked) และกลุ่มที่ไม่เคยใช้บริการทางการเงินจากสถาบันการเงินในระบบ (Underbanked) รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ไปจนถึงกลุ่มผู้ประกอบการระดับไมโคร (Micro enterprises)

กลุ่มผู้เล่นรายใหม่ๆ ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาของการประกาศนโยบายการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาในไทย ก็ได้มีกลุ่มผู้เล่นรายใหม่ๆ ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก อาทิ กลุ่มโทรคมนาคมและการสื่อสาร กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กลุ่มผู้ให้บริการเทคโนโลยีด้านการเงิน ฯลฯ โดยผู้เล่นหลายรายก็น่าจะทำความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจที่เป็นธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิมหรือเป็นผู้ให้บริการทางการเงินรายใหญ่ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ 

สร้างโอกาสในการเข้าถึงกลุ่ม Unserved และ Underserved

ซึ่งน่าจะเป็นการเสริมศักยภาพการแข่งขันในฐานะผู้เล่นใหม่ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีทั้งเงินทุน ความเชี่ยวชาญทางด้านการเงินและเทคโนโลยีดิจิทัล รวมไปถึงการที่มีฐานลูกค้าเดิมเป็นจำนวนมาก ทำให้มีข้อได้เปรียบด้านการมีข้อมูลทางเลือกอื่นๆ นอกเหนือจากข้อมูลรายได้ ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเงินกู้ ซึ่งน่าจะเป็นข้อบ่งชี้เบื้องต้นถึงความเสี่ยงจากการผิดชำระหนี้ได้ เป็นต้น และน่าจะเป็นการสร้างโอกาสในการเข้าถึงกลุ่ม Unserved และ Underserved ได้ดี ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิมจะมีข้อมูลด้านรายได้ของลูกค้าเป็นหลัก

ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาอาจจะต้องเผชิญกับความท้าทายอีกมากโดยเฉพาะการแข่งขันกับกลุ่มธนาคารพาณิชย์แบบดั้งเดิม ที่มีทั้งกองทุนและฐานลูกค้าที่แข็งแกร่ง แต่อย่างไรก็ดี ผู้เล่นใหม่คงต้องพิจารณาเงื่อนไขและปัจจัยแวดล้อมหลายๆ ด้านก่อนยื่นขอใบอนุญาต เพราะการดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาในไทยไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ทั้งด้านการหารายได้ การบริหารต้นทุนดำเนินการ ความเสี่ยงจากการผิดชำระหนี้ 

และที่สำคัญคือการแข่งขันกับผู้เล่นอย่างธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิมในตลาด ซึ่งได้ทำการพัฒนา Mobile banking ที่ตอบโจทย์การทำธุรกรรมของผู้บริโภคไปมากแล้ว อีกทั้งรายได้จากค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมการเงินก็ลดลงมาก ท่ามกลางการหารายได้จากการปล่อยสินเชื่อที่มีโจทย์เฉพาะที่ท้าทาย โดยเฉพาะการบริหารความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อรายย่อยกลุ่ม Unserved และ Underserved ตลอดจนการบริหารติดตามและทวงถามหนี้ 

ขณะที่ผู้บริโภคไทยส่วนใหญ่ก็น่าจะคุ้นชินกับการใช้แอปพลิเคชัน Mobile banking ของธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิม ตั้งแต่การทำธุรกรรมถอนเงินไม่ใช้บัตร โอนเงิน ชำระค่าสินค้าและบริการ ไปจนถึงการขอสินเชื่อผ่านแอปพลิเคชัน จึงเป็นไปได้ว่าแพลตฟอร์มของธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาอาจไม่ได้สร้างความแตกต่างให้ผู้บริโภคในมุมของการทำธุรกรรมหลัก แต่คาดว่าน่าจะเป็นแพลตฟอร์มทางเลือกให้ผู้บริโภคในการใช้บริการทางการเงิน หากมีแรงจูงใจในการใช้งานที่มากพอ เช่น มีโปรโมชันลดราคาค่าสินค้าและบริการ หรือมีการ์ตูนสีสันสดใสให้เลือกอย่างหลากหลายและสามารถตั้งค่าเป็นธีมการใช้งานของตัวเอง ฯลฯ


กรณีศึกษาจากความสำเร็จของ Virtual Bank ในต่างประเทศ

ทั้งนี้ จะสังเกตได้ว่า ผู้ให้บริการธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศล้วนมีที่มาที่ไปที่แตกต่างกันท่ามกลางการดำเนินงานภายใต้วัตถุประสงค์การออกใบอนุญาตของทางการในแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน โดยสามารถสรุปเป็นข้อสังเกตสำคัญได้ดังนี้


ผู้เล่นมักมีฐานลูกค้าจากแพลตฟอร์มออนไลน์เดิมเป็นจำนวนมาก นับว่าเป็นจุดตั้งต้นที่มีความได้เปรียบคู่แข่งสูง เพราะจะสามารถออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินให้สอดคล้องกับลักษณะของกลุ่มตัวอย่างได้ 
การดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาภายใต้วัตถุประสงค์การออกใบอนุญาตของทางการที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ เป็นอีกปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ผู้เล่นมีจุดขาย รวมถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่แตกต่างกัน

  • ระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่พร้อม ย่อมทำให้ผู้เล่นมีความได้เปรียบและเกิดการต่อยอดไปสู่การให้บริการธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาได้ไม่ยากนัก และอาจนำไปสู่การต่อยอดในกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ได้อีกในระยะข้างหน้า ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การดำเนินธุรกิจมีความยั่งยืนมากขึ้นจากการขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มใหม่ๆ และยังสามารถแชร์ต้นทุนการบริหารงานบางอย่างได้ โดยเฉพาะด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล 

  • การพัฒนา User Interface ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้จะสร้างประสบการณ์ที่ดีให้มีการใช้งานอย่างต่อเนื่อง เช่น มีการออกแบบหน้าตาแอปพลิเคชันหรือฟังก์ชันการใช้งานให้ง่าย ไม่ซับซ้อน ใช้ลักษณะตัวหนังสือที่น่าอ่าน มีธีมรูปภาพและสีที่น่าสนใจ

  • การจับกลุ่มลูกค้า Unbanked และ Underbanked ทั้งที่เป็นลูกค้ารายย่อยและกลุ่มผู้ประกอบการระดับไมโคร ภายใต้เงื่อนไขการให้บริการที่ยืดหยุ่นกว่าธนาคารพาณิชย์แบบดั้งเดิม ทำให้ผู้ให้บริการธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาที่ประสบความสำเร็จมักมีส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ที่สูงกว่า ท่ามกลางอัตราการเติบโตของสินเชื่อ (Loan growth) ที่อยู่ในระดับสูง

  • ปัจจุบัน การประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาอาจยังต้องแบกรับต้นทุนในการดำเนินงานอยู่มาก สะท้อนจากอัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้รวม (Cost-to-Income Ratio: CIR) ที่อยู่ในระดับสูง เนื่องจากน่าจะมีต้นทุนด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทั้งที่เป็นฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ รวมถึงค่าแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

  • ความสามารถในการทำกำไรของธนาคารพาณิชย์ไร้สาขายังเป็นเรื่องท้าทายและน่าจับตามองต่อไปอีกระยะ สะท้อนได้จากอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Return on Equity: ROE) และอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวม (Return on Asset: ROA) ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์แบบดั้งเดิมที่มีขนาดใหญ่กว่ามาก ส่วนสำคัญคงเป็นเพราะธนาคารพาณิชย์ไร้สาขายังต้องแบกรับต้นทุนในการดำเนินงานสูงตามที่กล่าวมาข้างต้น 

ดังนั้นแม้ว่าการเกิดธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาเป็นโอกาสทางธุรกิจที่เปิดกว้างให้กลุ่มผู้เล่นรายใหม่ให้สามารถเข้ามาแข่งขันในธุรกิจธนาคารได้ แต่ก็ต้องผชิญกับความท้าทายในการดำเนินธุรกิจอีกมาก อย่างไรก็ดี โมเดลในการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาในไทยยังต้องรอการพิสูจน์อีกระยะเวลาหนึ่ง ภายใต้นโยบายการออกใบอนุญาตและการกำกับดูแลจากทางการ เพื่อให้เข้ากับบริบทและโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมในประเทศ

ตลอดจนพฤติกรรมของผู้บริโภคไทย ขณะเดียวกันประสบการณ์ต่างประเทศก็นับว่าจะเป็นเพียงแนวการศึกษาให้เรียนรู้เท่าทัน เพื่อจะสามารถนำมาปรับใช้กับไทยในบางบริบทในระยะข้างหน้าได้


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ