กลายเป็นกระแสเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อตัวเลขข้อมูลเครดิตบูโร ณ สิ้นเดือน มิ.ย.66 เผยพบ หนี้เสียของสถาบันการเงินพุ่งทะลุ 1 ล้านล้านบาท และหนี้เสียรถยนต์ดีดตัวขึ้นแรงเกือบ 200,000 ล้านบาท
ปฏิเสธไม่ได้ เพราะข้อมูลเครดิตบูโรถือเป็นตัวเลขจริงที่สะท้อนสุขภาพทางการเงินของคนไทย ที่ต้องเผชิญมรสุมค่าครองชีพพุ่ง น้ำมันขึ้น ค่าไฟฟ้าแพง ดอกเบี้ยขยับ รายได้ไม่พอกับรายจ่าย ท้ายที่สุดไม่มีเงินชำระหนี้ จนกลายเป็นหนี้เสียสถาบันการเงิน และถูกปฏิเสธสินเชื่อ
นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) เปิดเผยว่า ข้อมูลเครดิตบูโร ณ สิ้นเดือน มิ.ย.2566 มีสมาชิกที่นำส่งข้อมูล 134 แห่ง คิดเป็นจำนวนบัญชีรวม 13.69 ล้านบัญชี มีสินเชื่อรวมกัน 13.69 ล้านล้านบาท เป็นสินเชื่อบุคคลธรรมดา 13.22 ล้านล้านบาท โดยสินเชื่อที่กลายเป็นหนี้ที่เสียไปแล้วมี 1.03 ล้านล้านบาท และหนี้ที่ได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ 980,000 ล้านบาท
สำหรับการเคลื่อนไหวของหนี้เสีย เหมือนกับการตกท้องช้าง หนี้เสียเคยขึ้นไปยืนจุดสูงสุดช่วงกลางปี 2565 ที่ 1.11 ล้านล้านบาท จากนั้นปรับลงต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท เป็นผลจากการปรับโครงสร้างหนี้และขายหนี้ออกไป แต่ล่าสุดกลางปี 2566 หนี้เสียกลับมายืน เหนือระดับ 1 ล้านล้านบาทอีกครั้ง
“หากให้มองอนาคตจากนี้จนถึงสิ้นปี หนี้เสียจะปรับขึ้นอีก แต่จะขึ้นไม่มากแล้ว หรือจะไม่เห็นหนี้เสียปรับขึ้นแบบรุนแรง ตรงกันข้ามสิ่งที่จะเห็นนับจากนี้ คือสถาบันการ เงินเร่งปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการช่วยเหลือของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะสิ้นสุดสิ้นปีนี้”
อย่างไรก็ตาม หากเจาะเข้าไปดูไส้ในของสินเชื่อ แบ่งตามช่วงอายุ จะพบว่า คน Gen Y กู้เงินสูงสุด วงเงินสินเชื่อรวมกัน 5.8 ล้านล้านบาท ตามมาด้วย Gen X จำนวน 4.1 ล้านล้านบาท Baby Boomer จำนวน 1.3 ล้านล้านบาท และ Gen Z จำนวน 230,000 ล้านบาท
เจาะลึกลงไปอีกพบว่า คน Gen Y ทำสถิติสร้างหนี้สูงสุด เริ่มจากอายุ 31 ปี กู้เงินซื้อรถยนต์มากที่สุด อายุ 32 ปี ใช้บริการสินเชื่อบุคคลมากที่สุด อายุ 41 ปี กู้เงินซื้อบ้านมากที่สุด และอายุ 43 ปี มีบัตรเครดิตมากที่สุด ขณะที่ Baby Boomer อายุ 59 ปี กู้เงินทำการเกษตรมากที่สุด
มาดูที่หนี้เสียกันบ้าง ถ้าแบ่งตามช่วงอายุ พบว่า คน Gen Y มีหนี้เสียสูงที่สุด 370,000 ล้านบาท และยังครองสถิติหนี้เสียสูงสุดของสินเชื่อทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อบ้าน รถยนต์ บัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล และสินเชื่อเกษตร ขณะที่คน Gen X มีหนี้เสียรวมกัน 270,000 ล้านบาท ตามด้วย Baby Boomer จำนวน 87,000 ล้านล้านบาท และ Gen Z จำนวน 16,000 ล้านบาท
นายสุรพลกล่าวอีกว่า สิ่งที่ต้องติดตามและน่าเป็นห่วงมาก คือสินเชื่อที่กำลังจะเป็นหนี้เสีย โดยผู้กู้เงินเริ่มหยุดชำระหนี้แล้ว แต่ยังหยุดชำระไม่ถึง 90 วัน ตอนนี้มีถึง 2.37 ล้านบัญชี มีวงเงิน สินเชื่อรวม 475,000 ล้านบาท ครอบคลุมสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อบุคคล ที่หนี้กำลังจะเสีย ดีดตัวขึ้นแรง
เห็นได้จากสินเชื่อบ้าน จากกลางปี 2565 ผู้กู้เงินหยุดชำระค่างวด คิดเป็นวงเงินสินเชื่อรวม 97,682 ล้านบาท พอมากลางปี 2566 เพิ่มขึ้นเป็น 128,104 ล้านบาท หรือเพิ่ม 31% ตามมาด้วยสินเชื่อรถยนต์ กลางปี 2565 มีหนี้กำลังจะเสียคิดเป็นวงเงินกู้รวม 170,137 ล้านบาท พอมากลางปีนี้เพิ่มเป็น 205,212 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 20.6% เช่นเดียวกับสินเชื่อบุคคล ช่วงกลางปี 2565 อยู่ที่ 67,684 ล้านบาท พอกลางปี 2566 เพิ่มขึ้นเป็น 86,156 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 27.3%
“หากเข้าไปดูในรายละเอียดข้อมูลกลุ่มลูกค้าที่เริ่มหยุดผ่อนค่างวดบ้าน ส่วนใหญ่จะกู้เงินไปซื้อบ้านในราคา 1-3 ล้านบาท และเป็นลูกค้าของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ มีวงเงินสินเชื่อรวมกัน 90,000 ล้านบาท จากสินเชื่อบ้านที่หยุดชำระหนี้ 128,104 ล้านบาท สะท้อนถึงความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้ากลุ่มรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำอย่างชัดเจน โดยกลุ่มนี้รายได้อาจจะยังไม่กลับมาเท่ากับช่วงก่อนโควิด”
นอกจากนี้ ยังมีลูกหนี้สินเชื่อบุคคลอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นหนี้เสีย จากโควิดตั้งแต่ปี 2562 และได้เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือ ของ ธปท. ณ สิ้นเดือน มิ.ย.2566 มีจำนวน 3.54 ล้านคน เพิ่มขึ้น 300,000 คน จากเดือน มี.ค.2565 ที่มีอยู่ 3.1 ล้านคน และมีจำนวนบัญชี 4.9 ล้านบัญชี คิดเป็นวงเงินสินเชื่อ 370,000 ล้านบาท
@@@@@@@@
สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ หากหนี้เสียยังเพิ่มขึ้นต่อไป คนไทย ที่เคยพึ่งพาเงินกู้จากสถาบันการเงิน จะเข้าข่ายถูกปฏิเสธสินเชื่อใหม่มากถึง 10 ล้านคน จำแนกได้เป็น กลุ่มคนที่เป็นหนี้เสีย 5.8 ล้านคน กลุ่มคนที่เข้าข่ายหนี้กำลังจะเสีย 1.01 ล้านคน และอีก 3.5 ล้านคนเป็นหนี้เสียจากโควิด
การจะทำให้คนไทยหลุดพ้นจากกับดักหนี้ได้อย่างแท้จริง ถือเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาล ที่ต้องเร่งสร้างงาน เพิ่มรายได้ ให้คนมีเงินเพียงพอเพื่อใช้จ่ายและชำระหนี้ รวมถึงกระตุ้นเตือนให้ไม่สร้างหนี้จนเกินตัวและต้องมีวินัยทางการเงิน.
ประพัฒน์ เนตรอัมพร