นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังจะขยายตัวดีกว่าครึ่งปีแรก ได้รับแรงหนุนจากฤดูกาลท่องเที่ยว โดยตลอดทั้งปี 66 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 28.5 ล้านคน และทำให้คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในช่วงครึ่งปีหลังจะขยายตัว 4.3% จากช่วงครึ่งปีแรก 3.0% และตลอดทั้งปีศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดไว้ที่ 3.7% และคงตัวเลขการส่งออกไว้ที่-1.2% แต่ได้ปรับลดการบริโภคภาครัฐบาลและการลงทุน เนื่องจากยังอยู่ในช่วงที่รอการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ และปัญหาหนี้ครัวเรือนโดยเฉพาะ หนี้เกษตร ครู ข้าราชการ โดยเฉพาะหนี้ครูและข้าราชการตำรวจก็มีสัดส่วน 10.5% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด รวมถึงหนี้ที่ย้ายออกจากระบบไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) อีกหลักแสนล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมา ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการที่เคยออกมาแล้วอย่างเต็มที่
“ต้องติดตามการโหวตนายกฯ หากจบ 13 ก.ค.นี้ มีการเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลเข้ามาบริหารงานได้อย่างรวดเร็ว และสามารถผลักดันนโยบาย และโครงการลงทุน จะเป็นเรื่องดีต่อการลงทุน แต่ถ้าการตั้งรัฐบาลยืดเยื้อกว่าที่คาดจะกระทบต่อจีดีพีปีนี้ให้เติบโตเหลือ 2-2.5% และจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศได้”
สำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะเผชิญหลายโจทย์ท้าทาย โจทย์แรก คือการจัดตั้งรัฐบาล และการรับมือกับทิศทางเศรษฐกิจจีนที่เริ่มเห็นสัญญาณอ่อนแรง โจทย์ถัดมา คือเรื่องภัยแล้ง นอกจากภัยแล้งจะส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรที่อาจคิดเป็นมูลค่าประมาณ 48,000 ล้านบาทในปีนี้แล้ว ปรากฏการณ์เอลนีโญรอบนี้ อาจกดดันภาคการผลิตและบริการที่ใช้น้ำในสัดส่วนสูง ได้แก่ อโลหะ อาหาร สิ่งทอ ท่องเที่ยว โรงพยาบาล โดยเฉพาะกับธุรกิจที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคกลาง ซึ่งมีโอกาสประสบกับสถานการณ์น้ำที่อยู่ในเกณฑ์น้อย หรือน้อยจนเข้าขั้นวิกฤติ สำหรับโจทย์สุดท้าย คือหนี้ครัวเรือนสูง ประเมินว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนจะอยู่ในกรอบประมาณ 88.5-91.0% ในช่วงปลายปีนี้ จากระดับ 90.6% ณ สิ้นไตรมาส 1 ของปี 2566.