โดนกันทั่วหน้า ทุกวงการทั้งคนเด่น คนดัง เรื่อยไปจนถึง “CEO” “ประธานบริษัท” บิ๊กเนมแถวหน้าของไทยที่ถูกมิจฉาชีพปลอมเพจเฟซบุ๊ก สวมอวตาร ชักชวนให้คนติดตาม คลิกลิงก์ ลงทุนในรูปแบบต่างๆ โดยใช้ความน่าเชื่อถือของบุคคลดังกล่าว ชวนเชื่อ จนมีคนตกเป็น “เหยื่อ” แล้วเป็นจำนวนมาก
ปฐมบท ต้นแบบคนถูกปลอมซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ไม่วายก็ยังมีคนถูกหลอกเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน คือกรณีของ “ตัน อิชิตัน หรือ ตัน ภาสกรนที” ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกปลอมเพจมากกว่า 20 เพจเฟซบุ๊ก ไล่หลอกเหยื่อว่าเป็นผู้โชคดีได้รางวัล 1 ล้านบาท แลกกับหลอกให้ผู้เสียหายโอนเงินให้ก่อน
จนมีผู้เสียหายสูญเงินหลายสิบราย นับแสนๆ บาท จนต่อมา คุณตัน ต้องโร่เข้าแจ้งความ พร้อมยืนยันทั้งเพจ “ตัน ภาสกรนที” และตนเอง ไม่มีการเรียกเก็บเงินจากผู้ที่ได้รับรางวัลอย่างเด็ดขาด ถ้ามีเรียกรับเงินให้รู้ว่านั่นคือเพจปลอม!
มาวันนี้ ภายใต้เทรนด์วัยรุ่นสร้างตัว “อยากรวย ต้องรู้จักลงทุน” ทั้งหุ้น กองทุน คริปโตฯ กลายเป็นโอกาสของโจรออนไลน์ มิจฉาชีพอีกครั้ง และคนที่ตกเป็นเหยื่อคือ เหล่าคนเด่น คนดัง ในวงการที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย
โดยกลโกงนั้นจะมีลักษณะคล้ายๆ กัน ตัดท่อนข้อความ แปะภาพบุคคล โลโก้บริษัท หน่วยงาน โปรโมตชวนเชื่อให้ผู้พบเห็นตายใจ และเข้าสู่กระบวนการดูดทรัพย์ ทั้งๆ ที่ทั้งเพจจริงต้นฉบับและบุคคลในภาพไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ เลย ฉะนั้นยิ่งต้องเช็กให้ชัวร์! รู้ทันข่าวสาร และโซเชียลในช่วงนี้
วิกรม บมจ.อมตะ ยันไม่มีชวนลงทุน
เริ่มกันที่กรณี วิกรม กรมดิษฐ์ CEO บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชัน (บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ปตท. และนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร) ถูก มิจฉาชีพเปิดเพจปลอม อ้างชื่อบริษัท อมตะฯ พร้อมแปะภาพวิกรม เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ ระบุข้อความว่า
“อมตะเปิดให้ลงทุน กองทุนระยะยาว เริ่มที่ 1,000 หน่วย ปันผลกำไร 3% ต่อสัปดาห์” ตามสูตร หลอกให้ลงทุนจำนวนเงินที่น้อย แล้วอ้างว่าจะได้รับเงินปันผลมาก เพื่อเป็นการจูงใจให้คนมาร่วมลงทุน ซึ่งก็โดนกันไม่น้อย
ต่อมาภายหลัง ทางอมตะฯ และวิกรม ออกมาชี้แจงแล้วว่า ไม่มีนโยบายชักชวนลงทุนใดๆ ผ่านสื่อออนไลน์ เฟซบุ๊ก และโทรศัพท์ โปรดอย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพที่เชิญชวนหลอกลวงให้ลงทุน เทรดหุ้นระยะสั้น และให้ผลตอบแทนสูง ปลอมแปลงเอกสารแอบอ้างชื่อบริษัทฯ
ย้ำ เพจเฟซบุ๊กหลักของอมตะ "Amata" ต้องมียอดผู้ติดตาม 20,000+ เท่านั้น และสามารถดูรายชื่อเพจปลอมของอมตะได้ตามลิงก์ด้านล่าง...
ที่น่าตกใจคือรายชื่อที่เพจปลอมที่อมตะรวบรวมไว้นั้นเป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น เพราะพบมิจฉาชีพมีการเปลี่ยนชื่อเพจไปเรื่อยๆ ดังนั้น ประโยคนี้ยังใช้ได้ …ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการลงทุนทุกครั้ง
แสนสิริ แจง “เศรษฐา ทวีสิน” ชวนเทรดหุ้นของปลอม
คนต่อมากรณี เศรษฐา ทวีสิน คนดังในสนามการเมืองไทย และอดีต CEO บมจ.แสนสิริ ก็เป็นอีกรายที่ตกเป็นเหยื่อของแก๊งมิจฉาชีพ โดยล่าสุด แสนสิริ ต้องออกมาแจ้งเตือนว่ามีเพจเฟซบุ๊กแอบอ้างใช้ภาพเศรษฐา และโลโก้แสนสิริ ไปใช้หลอกลวงชักชวนคนให้ลงทุนในการเทรดหุ้นผ่านเพจเฟซบุ๊กหลากหลายเพจในช่วงเวลานี้
พร้อมเตือนไปยังกลุ่มผู้ถือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) คู่ค้า และประชาชนทั่วไป ให้ระมัดระวังกลุ่มมิจฉาชีพดังกล่าว และขอยืนยันว่าบริษัทฯ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเพจดังกล่าว
ย้ำว่า แสนสิริ ไม่มีระบบวิธีการเชิญชวนลงทุนในลักษณะนี้อย่างแน่นอน และต้องผ่านกลไกตลาดหลักทรัพย์ที่ถูกต้องเท่านั้น ขอให้ประชาชนโปรดอย่าหลงเชื่อโดยเด็ดขาด และขอความร่วมมือไม่ส่งหรือแชร์ต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ
ชมรมการเรียนรู้การลงทุน ไม่มีจริง อย่าหลงเชื่อ!
เช่นเดียวกับ ภาพแชร์ว่อนโซเซียล 1-2 วันนี้ ที่ปรากฏเพจ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เชิญเข้าร่วม Stock Club ฟรี, เชิญเข้าชมรมการเรียนรู้การลงทุน ฟรีหุ้นมูลค่าการลงทุน + หุ้นสเปรดระยะสั้น พร้อมสอนหลักสูตรการลงทุนในหุ้นฟรี ซึ่งล้วนไม่ใช่ความจริงทั้งสิ้น
เพราะล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาเตือนภัยว่า มิจฉาชีพได้แอบอ้างเป็น ดร.เศรษฐพุฒิ ให้ข้อมูลหลอกลวงให้ลงทุนรูปแบบต่างๆ ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย โดย ธปท.เตือนอย่าหลงเชื่อเด็ดขาด!!
นี่เป็นแค่บางส่วนที่เหล่าคนดัง บุคคลสำคัญ ถูกมิจฉาชีพใช้เป็นเครื่องมือหลอกลวงเหยื่อ โดยใช้ความสนใจเรื่องการลงทุน ชูลงเงินน้อย ได้ผลตอบแทนสูง มาเป็นโอกาสในการหลอกล่อ พร้อมๆ กับกระแสข่าว ว่าเร็วๆ นี้ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก CEO ของ Meta เจ้าของเฟซบุ๊ก กำลังจะเปิดตัวบริการใหม่ “Meta Verified” เป็นระบบสมัครสมาชิก ที่ผู้ใช้งานจะได้รับเครื่องหมายติ๊กถูกสีฟ้าบนแอ็กเคานต์ เพื่อเป็นการยืนยันว่ามีตัวตนจริงๆ ป้องกันการแอบอ้างเป็นเพจและบุคคลอื่น มองนี่อาจจะเป็นทางออกที่ดีเช่นกัน
อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการป้องกันและไม่ให้เราตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ที่เปลี่ยนกลโกง กลวิธีรายวัน “Thairathmoney” ได้รวบรวม แนวทางการรับมือมิจฉาชีพ เพื่อเป็นการเตือนภัย ดังนี้
10 แนวทาง ป้องกันมิจฉาชีพ
1.ไม่กดลิงก์ที่แนบมากับข้อความสั้น (SMS) หรือที่ส่งมาทางสื่อสังคมออนไลน์ ไม่กดลิงก์ติดตั้งแอปพลิเคชันต่างๆ เพราะอาจเป็นการดักรับข้อมูล หรือการฝังมัลแวร์ของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มาพร้อมกับข้อความในลักษณะการให้สิทธิพิเศษ ให้รางวัล หรือโปรโมชันต่างๆ
2.หากได้รับโทรศัพท์จากหมายเลขที่ไม่คุ้นเคย และมีการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ให้ขอชื่อนามสกุล และหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อกลับของเจ้าหน้าที่ โดยให้แจ้งว่าจะติดต่อกลับไปภายหลัง
3.ตรวจก่อนว่ามาจากหน่วยงานนั้นๆ จริงหรือไม่ โดยการโทรศัพท์ไปสอบถามผ่านหมายเลขคอลเซ็นเตอร์ หรือผ่านเว็บไซต์ทางการของหน่วยงานนั้นโดยตรง รวมถึงตรวจสอบว่ามีการประกาศแจ้งเตือนการหลอกลวงในลักษณะดังกล่าวหรือไม่
4.ระวัง LINE Official Account ปลอม โดยสังเกตบัญชีที่ผ่านการรับรองจะมีสัญลักษณ์โล่สีเขียว หรือโล่สีน้ำเงิน หากเป็นโล่สีเทา หรือไม่มีโล่เลย จะเป็นบัญชีทั่วไปยังไม่ได้ผ่านการรับรอง ต้องตรวจสอบยืนยันให้ดีเสียก่อน
5.ไม่ติดตั้งโปรแกรม หรือแอปพลิเคชันที่ผู้อื่นส่งมาให้โดยเด็ดขาด แม้จะเป็นโปรแกรมที่รู้จักก็ตาม เพราะอาจเป็นแอปพลิเคชันปลอม โดยหากต้องการใช้งานให้ทำการติดตั้งผ่าน App Store หรือ Play Store เท่านั้น
6.ไม่อนุญาตให้ติดตั้งแอปพลิเคชันที่ไม่รู้จัก หรือไฟล์ที่อาจเป็นอันตราย ไฟล์นามสกุล .Apk
7.ไม่อนุญาตให้เข้าถึงอุปกรณ์ และควบคุมอุปกรณ์ หรือโทรศัพท์มือถืออย่างเด็ดขาด
8.ไม่กรอกข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางการเงินใดๆ ลงในลิงก์ หรือแอปพลิเคชันในลักษณะดังกล่าวโดยเด็ดขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งรหัสผ่าน 6 หลัก ที่ซ้ำกับรหัสแอปพลิเคชันของธนาคารต่างๆ
9.หากท่านติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมแล้ว ให้รีบทำการ Force Reset หรือการบังคับให้อุปกรณ์นั้นรีสตาร์ต (ส่วนใหญ่เป็นการกดปุ่ม Power พร้อมปุ่มปรับเสียงค้างไว้) ในกรณีเกิดอาการค้างไม่ตอบสนอง หรือเปิดโหมดเครื่องบิน (Airplane Mode) หรือปิดเครื่องเพื่อตัดสัญญาณไม่ให้โทรศัพท์สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ ถอดซิมการ์ดโทรศัพท์ออก หรือทำการปิด Wi-fi Router
10.อัปเดตระบบปฏิบัติการของโทรศัพท์ หรืออุปกรณ์ให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ