อนาคตงานการเงินการธนาคาร

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

อนาคตงานการเงินการธนาคาร

Date Time: 1 ก.ค. 2566 07:14 น.

Summary

  • ภาพรวมของตลาดแรงงานกลับมาดีกว่าก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้วทั้งในมิติของตัวเลขหลังปรับฤดูกาลของจำนวนผู้ประกันตน มาตรา 33 ในระบบประกันสังคม และอัตราการว่างงาน

Latest

ซื้อกองทุน Thai ESG ประหยัดภาษีได้สูงสุดเท่าไร

ดร.นครินทร์ อมเรศ ฝ่ายยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างองค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์

 ภาพรวมของตลาดแรงงานกลับมาดีกว่าก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้วทั้งในมิติของตัวเลขหลังปรับฤดูกาลของจำนวนผู้ประกันตน มาตรา 33 ในระบบประกันสังคม และอัตราการว่างงาน แต่เนื้อหาของงานและทักษะที่ใช้ในการทำงานอาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ในวันนี้จึงขอเชิญทุกท่านร่วมกันแลกเปลี่ยนมุมมองอนาคตของงาน โดยเฉพาะในภาคการเงินการธนาคารที่มีคนทำงานกว่าห้าแสนคน และถูกจับตามาโดยตลอดท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง

ใน งาน Thailand Future Careers ของกระทรวง อว. และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน มีวงเสวนาหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมอย่างยิ่ง คือ Future Banking Careers นำโดยคุณกิติยา โตธนะเกษม ผู้อำนวยการสถาบันธนาคารไทย ร่วมกับผู้บริหารทรัพยากรบุคคลของธนาคาร 5 แห่ง โดยขอเก็บประเด็นผ่านการตอบสามคำถามดังนี้

ทักษะใดที่กำลังมาแรงในภาคการเงินการธนาคาร? ความต้องการทักษะเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วจาก Coding ในช่วงก่อนหน้ามาสู่ AI Prompter ที่ต้องทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ โดยยังให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับงานด้านการสื่อสารและการทำงานเป็นทีมร่วมกับทั้งเพื่อนร่วมงานและลูกค้า ซึ่งนอกจากงานการเงินแล้วงาน Data และ Green กำลังเติบโตมาก การตอบโจทย์ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าลูกค้าก็อาจไม่ทราบความต้องการของตนเองเช่นกัน ทำให้ต้องทำความรู้จักลูกค้าผ่านการใช้ข้อมูล ขณะที่โลกกำลังให้คุณค่ากับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ทักษะที่เกี่ยวข้องจึงจำเป็นเช่นกัน

ภาคการเงินการธนาคารจะบริหารจัดการทักษะอย่างไร? การจัดการทักษะคำนึงถึงการพัฒนาคนที่ทำงานอยู่แล้ว ผ่านการต่อยอดทักษะเพิ่มเติมจากความรู้พื้นฐาน ควบคู่กับการเปิดพื้นที่ตลาดนัดแรงงานภายในองค์กร เพื่อให้เกิดการเลื่อนไหลออกจากพื้นที่ปลอดภัย comfort zone ที่เป็นกับดักกีดขวางการพัฒนาตนเอง นอกจากนี้ ต้องเติมคนใหม่ที่มีทั้งทักษะและแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ โดยเปิดให้มีการกำหนดตำแหน่งงานใหม่ๆ ตามความสนใจของพนักงาน หัวใจของความสำเร็จ คือ การบริหารจัดการเพื่อใช้ประโยชน์จากความหลากหลายของบุคลากรอย่างเต็มศักยภาพในทุกมิติ โดยมุ่งพัฒนา People Skill ให้หัวหน้าเป็น coach สร้างบรรยากาศให้ทีมเปิดใจทำงานร่วมกันโดยไม่ตัดสินความคิดเห็นคนอื่น

คนในภาคการเงินการธนาคารควรปรับตัวอย่างไร? คนที่ทำงานอยู่ในภาคการเงินการธนาคารและคนที่กำลังสนใจจะเข้ามาร่วมในอุตสาหกรรมนี้ต้องมีความยืดหยุ่น เรียนรู้ที่จะเสริมพื้นความรู้ด้านเทคนิคให้มีความรอบด้าน ทั้งบริบทด้านสังคม กฎหมาย และเทคโนโลยี ภายใต้รูปแบบการทำงานใหม่ๆ ทั้งการทำงานจากที่ไหนก็ได้ ซึ่งหมายถึงการที่ต้องมีความพร้อมตื่นตัวที่จะร่วมงานกับทุกคนได้ทุกที่ทุกเวลา ตลอดจน ต้องมีชุดความคิด Growth Mindset ที่เชื่อมั่นว่าเราเรียนรู้ได้พัฒนาได้ ไม่ว่าจะเผชิญกับอุปสรรคใด รวมถึงมีความ Resilience หรืออึก ถึก ทน ปรับตัวให้อยู่ได้ อยู่ดี มีสุข การฝึกฝนเหล่านี้ 70% จะเกิดขึ้นจากการทำงานจริงควบคู่ไปกับการเรียนรู้ผ่าน life-long learning platform

การเสวนาระหว่างคนที่รู้ลึก รู้จริง และมีส่วนได้ส่วนเสีย สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นและความคาดหวังของอุตสาหกรรมหลักที่ไม่เพียงมีการจ้างงานมาก แต่ทำหน้าที่เป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจมาตลอด ตามที่ท่านผู้นำการเสวนาได้กล่าวปิดไว้อย่างงดงามว่า “ภาคการเงินการธนาคารจะอยู่ร่วมกับเศรษฐกิจไทย ไม่เพียงจะไม่หุบร่มในยามฝนตก แต่พร้อมกางทั้งร่มและเต็นท์เพื่อกันลมฝน” ซึ่งผู้เขียนขอต่อท้ายว่า “ควรตัดถนนรองรับการทำกิจกรรมกลางแจ้งในปัจจุบันที่เศรษฐกิจฝนซาฟ้าใส” ด้วย.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ