ตกงาน-ค่าเช่าบ้านแพง-เงินเฟ้อพุ่ง 3 ตัวการทำลูกหลานอเมริกันต้อง ‘แบมือ’ ขอเงินพ่อ-แม่

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ตกงาน-ค่าเช่าบ้านแพง-เงินเฟ้อพุ่ง 3 ตัวการทำลูกหลานอเมริกันต้อง ‘แบมือ’ ขอเงินพ่อ-แม่

Date Time: 29 มิ.ย. 2566 14:05 น.

Video

ทางรอดเศรษฐกิจไทยในยุค AI ครองโลก | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • แนวคิดที่ว่า การใช้ชีวิตของวัยรุ่นในประเทศตะวันตกอย่างอเมริกา ที่เมื่อเข้าสู่การบรรลุนิติภาวะก็เริ่มที่จะทำงานหาเงินเลี้ยงตัวเอง เห็นจะดูไม่ใช่อีกต่อไป เพราะจาก 3 ตัวการอย่าง ตกงาน-ค่าเช่าบ้านแพง-เงินเฟ้อพุ่ง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลูกหลานอเมริกันต้อง ‘แบมือ’ ขอเงินพ่อ-แม่

Latest


หากใครได้ดู Emily In Paris ซีรีส์แนวโรแมนติกคอมเมดี้ที่เอาใจสายแฟชั่นจากค่าย Netflix ไปแล้ว ก็จะเห็นได้ว่า “เอมิลี่” สาวนักบริหารการตลาดวัย 20 กว่าๆ จากชิคาโก ผู้โชคดีแบบไม่คาดฝัน ที่ได้งานในกรุงปารีส มหานครแห่งมนตร์เสน่ห์ในฐานะ Amarican points of view แบบไม่คาดคิด

โดยที่เธอได้รับมอบหมายให้พลิกกลยุทธ์โซเชียลมีเดียของบริษัทนั้น ซึ่งนอกจากพล็อตเรื่องที่โดดเด่นแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สะท้อนผ่านจอออกมาให้เราได้เห็นนั่นก็คือ การใช้ชีวิตของวัยรุ่นในประเทศตะวันตกอย่างอเมริกา ที่เมื่อเข้าสู่การบรรลุนิติภาวะก็เริ่มที่จะทำงานหาเงินเลี้ยงตัวเอง เพราะด้วยวัฒนธรรมการเลี้ยงดูของคนอเมริกันส่วนใหญ่จะสอนให้ลูกรู้จักพึ่งพาตัวเองและโตเป็นผู้ใหญ่ พอครบอายุ 20 ปีก็จะต้องรับผิดชอบตัวเอง และหางานทำโดยไม่พึ่งพาพ่อกับแม่

แต่แนวคิดและความเชื่อเหล่านี้เห็นจะใช้ไม่ได้อีกต่อไป เพราะล่าสุดได้มีผลวิจัยออกมาว่าวัยรุ่น Gen Y และ Gen Z ในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ยังคงขอความช่วยเหลือด้านการเงินจากพ่อแม่ แม้ว่าจะโตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ตาม 

ลูกหลานอเมริกันแห่กลับบ้านซุกอกพ่อแม่

จากการสำรวจของ Experian สำนักงานสินเชื่อรายใหญ่ พบว่า 54% ของคนกลุ่มมิลเลนเนียล และ Gen Z ชาวอเมริกันยังคงต้องพึ่งพาเงินจากพ่อแม่ และพบว่า 47% ของคนรุ่นมิลเลนเนียลที่ทำการสำรวจกล่าวว่าพวกเขาต้องพึ่งพาทางการเงิน "ค่อนข้างมาก หรือมาก" จากพ่อแม่ อีกทั้งประมาณ 60% ของคน Gen Z กล่าวว่าพวกเขาพึ่งพาทางการเงินจากแม่และพ่อ

แต่การที่พวกเขาขอเงินจากพ่อและแม่นั้นไม่ได้ทำให้พวกเขารู้สึกดีนัก เพราะมากกว่า 2 ใน 3 หรือ 70% ของคนกลุ่มมิลเลนเนียลกล่าวว่า พวกเขารู้สึกละอายใจเมื่อต้องขอความช่วยเหลือทางการเงินจากพ่อแม่ และกลุ่มคนที่อายุน้อยกว่าประมาณ 60% ก็รู้สึกแบบเดียวกัน

ทั้งนี้ทั้งนั้นแม้ว่าพวกเขาจะขอความช่วยเหลือทางการเงินจากพ่อแม่ แต่พวกเขากลับไม่เห็นด้วยกับนิสัยทางการเงินของพ่อแม่ จากการสำรวจพบว่า 27% ของผู้ตอบแบบสอบถามไม่คิดว่าพ่อแม่ของพวกเขาเป็นแบบอย่างทางการเงินที่ดีเท่าไรนัก

โดยผลสำรวจระบุว่า คนกลุ่มมิลเลนเนียลคือคนที่มีอายุระหว่าง 27-42 ปี ในขณะที่ Gen Z มีอายุระหว่าง 18-26 ปี และจากการสำรวจของ Experian อ้างอิงจากคำตอบออนไลน์จาก 2,008 คนในสหรัฐฯ โดยที่อายุระหว่าง 18-42 ปี ซึ่งจัดทำขึ้นระหว่างเดือนมีนาคม 31 และ 4 เมษายน ทั้งสองกลุ่มช่วงอายุมีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนเท่ากัน

รวมทั้งข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นว่าชาวอเมริกันอายุระหว่าง 25-34 ปี อาศัยอยู่กับพ่อแม่ในอัตราที่ไม่เคยเห็นมาก่อนตั้งแต่ปี 1972 เนื่องจากพวกเขาประหยัดเงินดาวน์ท่ามกลางอัตราการจำนองที่สูงและราคาบ้านที่สูง จึงเป็นเหตุผลให้ในปี 2022 หรือปีที่ผ่านมา ประมาณ 18% ของผู้ชาย และ 12% ของผู้หญิงในกลุ่มช่วงอายุเหล่านั้นนั้นจึงเลือกที่จะอาศัยอยู่กับพ่อแม่ ตามข้อมูลของสำนักสำรวจสำมะโนประชากรของสหรัฐอเมริกา (the US Census Bureau.)

ในขณะเดียวกัน ชาวอเมริกันจำนวนมากที่มีอายุระหว่าง 18-29 ปี ก็เลือกที่จะอาศัยอยู่ที่บ้านกับพ่อแม่ของพวกเขาใน สัดส่วนที่ไม่เคยมีมาก่อนตั้งแต่เกิดสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ หรือ “The Great Depression” ที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 1929 ในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรป ทำให้รายได้ที่ได้รับมาของคนหนุ่มสาวในสหรัฐฯ ที่อาศัยอยู่ที่บ้านกับพ่อแม่ของพวกเขา หมดไปกับการซื้อสินค้าหรูหราและฟุ่มเฟือยแทนตามรายงานของ Nidhi Pandurangi จาก Insider ในเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา

รวมทั้งจากผลสำรวจล่าสุดของ Pollfish บริษัทจัดทำโพล พบว่า ปัจจุบันมีชาวมิลเลนเนียล หรือกลุ่มประชากรอายุระหว่าง 18-41 ปี ในสหรัฐฯ ราว 18 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ที่ยังอาศัยอยู่กับพ่อแม่ โดยกว่า 50% ระบุถึงเหตุผลที่กลับไปอยู่กับพ่อแม่เนื่องจาก “ค่าเช่าที่พักสูงขึ้น” และราว 15% ยอมรับว่าพวกเขาต้องเสียเงินไปกับค่าเช่าบ้านเป็นเงินมากกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้หลังจากหักภาษี

ไร้งาน ค่าดาวน์บ้าน-รถแพง เงินเฟ้อพุ่ง

นอกจากนี้จากผลสำรวจการจ้างงานประจำเดือนของสหรัฐอเมริการายงานเมื่อปี 2020 ที่มีการระบาดหนักของโควิด-19 ระบุว่า จากสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้วัยรุ่นชาวอเมริกันวัย 20 ตัดสินใจที่จะย้ายกลับไปอยู่บ้านกับพ่อแม่ หรือปู่ย่าตายายของตัวเองมากถึง 35% โดยที่คนหนุ่มสาวในสหรัฐฯ จำนวนมากยังต้องรับมือกับราคาบ้านที่พุ่งสูงขึ้น รวมทั้งหนี้จากการศึกษา และปัญหาเงินเฟ้อ การว่างงาน ซึ่งล้วนเกิดขึ้นในช่วงอายุ 20-30 กว่าๆ ของพวกเขา

แม้ว่าคนรุ่นมิลเลนเนียลจะได้รับการสนับสนุนจากพ่อแม่ที่เป็นคนในรุ่นเบบี้บูมเมอร์ กับพ่อแม่ที่เป็นคน Gen X หรือมีอายุระหว่าง 43-58 ปี โดยพ่อแม่ที่เป็นคน Gen X มีแนวโน้มที่จะยอมเสียสละทางการเงินเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ลูกที่โตแล้ว รวมทั้งครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ไม่ถึง 50,000 ดอลลาร์ต่อปี ก็มีแนวโน้มที่จะช่วยเหลือลูกๆ ในเรื่องการเงินมากกว่าคนอเมริกันที่มีรายได้สูงกว่า

อย่างไรก็ตามผลวิจัยล่าสุดจาก Ameriprise Financial บริษัทให้บริการด้านการเงิน พบว่า กลุ่มคนมิลเลนเนียล หรือผู้ที่มีอายุระหว่าง 27-42 ปี 6 ใน 10 รู้สึกดีเกี่ยวกับสภาพการเงินของตัวเอง ส่วนหนึ่งเพราะพวกเขาได้รับการช่วยเหลือจากพ่อแม่ โดยเกือบ 8 ใน 10 หรือคิดเป็น 78% ของคนกลุ่มมิลเลนเนียลยอมรับว่ายังได้รับการสนับสนุนทางการเงินบางอย่างจากพ่อแม่อยู่ เช่น ค่าเล่าเรียน ค่าดาวน์รถและค่าบ้าน รวมทั้งมรดก ซึ่งเงินช่วยเหลือเหล่านี้ไม่ใช่ก้อนเล็กๆ ด้วยคน Gen Y 27% ได้เงินช่วยเหลือจากพ่อแม่อย่างต่ำ 25,000 ดอลลาร์ และนั่นไม่ได้รวมถึงเงินออมที่เพิ่มขึ้น ซึ่งบางคนได้รับประโยชน์จากการอาศัยอยู่กับพ่อแม่ด้วยเช่นกัน

ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่าแม้ “ลูก” จะโตแค่ไหนก็ตาม พ่อแม่และครอบครัวก็ยังคงเป็นรากฐานที่ดีให้กับลูกเสมอ แต่เราก็ต้องหันกลับมามองว่าความช่วยเหลือทางด้านการเงินเหล่านั้นที่เรามอบให้พวกเขา อาจจะส่งผลย้อนกลับมาหาตัวเราเองได้ หากไม่มีการวางแผนทางการเงินที่ดี ไม่มีการออม การลงทุน หรือนำเงินที่เก็บไว้ใช้ยามเกษียณมาใช้ ก็จะทำให้ความเป็นอยู่ทางการเงินของตัวคุณเองตกอยู่ในความเสี่ยงด้วยเช่นกัน และอาจลงเอยด้วยการขอความช่วยเหลือจากลูกๆ หรือบุคคลอื่นๆ ตามมา ดังนั้นเราจึงควรต้องสร้างเนื้อสร้างตัว เก็บเงิน ออมเงิน มีวินัยมีการวางแผนการเงินที่ดี เพราะหากพึ่งพา ท้ายที่สุดก็จะนำมาซึ่งการเสพติดภาวะพึ่งพิงจนสภาพคล่องพังก็เป็นได้ ดังคำกล่าวที่ว่า “การเงินดี ชีวิตก็จะดีตามเอง”.

อ้างอิง Business InsiderFinance yahoo


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ