ธปท.รายงานภาพเศรษฐกิจไทยรายภูมิภาค เดือน เม.ย. คนไทย เหนือ อีสาน ใต้ ยังใช้จ่ายฝืดเคือง การอุปโภคบริโภคเดือน เม.ย.ยังขยายตัวติดลบจากปีก่อน แต่ได้ภาคการท่องเที่ยวช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้การใช้จ่ายหดตัวน้อยลง การค้า ชายแดนดีขึ้นทุกภาค ยกเว้นภาคใต้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้รายงานภาพเศรษฐกิจและแนวโน้มเศรษฐกิจประจำภูมิภาคคือ ภาคเหนือ ตะวันออก เฉียงเหนือและภาคใต้ ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา พบว่าเศรษฐกิจภาคเหนือคึกคักขึ้นบ้าง จากกิจกรรมและการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ที่มีความ คึกคัก ทั้งจากนักท่องเที่ยว คนในพื้นที่ และผู้ที่เดินทางกลับภูมิลำเนา ทำให้การเดินทางโดยรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน แม้มีสถานการณ์หมอกควัน นักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยเฉพาะชาวจีนและไต้หวัน แต่การอุปโภคบริโภค ขยายตัวติดลบ 1.7% เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน แต่หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อนหน้า เช่นเดียวกับภาค อุตสาหกรรม ที่กลับมาขยายตัวลดลงจากการผลิตเพื่อส่งออกกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยลดลง สอดคล้องกับการลงทุนเอกชนที่หดตัว อย่างไรก็ตาม รายได้เกษตรกรขยายตัวตามผลผลิตข้าวนาปรังที่เพิ่มขึ้นมาก และขายได้ราคาดี ราคามันสำปะหลังเพิ่มขึ้นตามความต้องการส่งออก โดยเฉพาะจีน และราคาสุกรที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูงตามต้นทุนการผลิต การค้าผ่านด่านศุลกากรขยายตัวจากการส่งออกทุเรียนและมังคุดไปจีนตอนใต้ ขณะที่การส่งออกไปเมียนมาหดตัวจากความไม่สงบบริเวณชายแดน
ด้านเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือหดตัวน้อยลงจากเดือนก่อน โดยการอุปโภคบริโภคขยายตัวติดลบ 4.9% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แต่หดตัวน้อยลงจากการใช้จ่ายในหมวดบริการช่วงสงกรานต์ ประกอบกับรายได้เกษตรกรกลับมาขยายตัว ช่วยพยุงการบริโภคได้บางส่วน เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนหดตัวน้อยลงตามการลงทุนก่อสร้างที่ขยายตัว ทั้งพื้นที่ก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง สำหรับการผลิตอุตสาหกรรมหดตัวมากขึ้นจากผลกระทบของเศรษฐกิจคู่ค้าชะลอตัวเป็นสำคัญ ขณะที่รายได้เกษตรกรกลับมาขยายตัวจากผลผลิตที่ขยายตัว ตามผลผลิตข้าวนาปรังและยางพาราที่ได้อานิสงส์จากปริมาณน้ำฝนที่เพียงพอและผลผลิตข้าวโพดเพิ่มขึ้นตามการเร่งขยายพื้นที่เพาะปลูกจากราคาที่จูงใจ การค้าผ่านด่านศุลกากรขยายตัวตามการส่งออกไปจีน โดยเฉพาะทุเรียน
สำหรับเศรษฐกิจภาคใต้ เดือน เม.ย. ยังขยายตัวได้จากแรงส่งจากการท่องเที่ยวฟื้นตัวและตลาดแรงงาน ทำให้การอุปโภคบริโภคขยายตัวได้ 4.9% เทียบกับปีก่อน แต่เมื่อเทียบรายเดือนการบริโภคลดลงจากกำลังซื้อเกษตรกรลดลงจากราคาสินค้าเกษตร สำคัญ การผลิตและส่งออกหดตัว ผลจากเศรษฐกิจคู่ค้าชะลอตัว ส่งผลให้การลงทุนเครื่องจักรและอุปกรณ์ ยังคงหดตัว โดยรายได้เกษตรกรหดตัวมากขึ้นจากราคาที่หดตัวต่อเนื่องในทุกสินค้าสำคัญ ทั้งนี้ ราคายางพาราและกุ้งขาวหดตัวจากความต้องการของประเทศ คู่ค้าที่ลดลง ขณะที่ผลผลิตชะลอลงจากปาล์มน้ำมัน การค้าผ่านด่านศุลกากรหดตัวต่อเนื่อง โดยการนำเข้า หดตัวทุกหมวด ยกเว้นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ การส่งออกหดตัวสอดคล้องกับปริมาณการผลิตที่ลดลงและราคาสินค้าส่งออกลดลงตามราคาสินค้าเกษตร.