ดร.ฐิติมา ชูเชิด Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์
“การปฏิรูปการคลัง” กลับมาอยู่ในความสนใจอีกครั้ง แม้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่กระแสความตื่นตัวทางการเมืองในการรับรู้ การมีส่วนร่วมของประชาชนที่มีมากขึ้น อยากเห็นประเทศเปลี่ยนแปลง และน่าจะเป็นสัญญาณที่ดีค่ะว่าได้เวลาแล้วที่ประเทศไทยจะมองนโยบายเศรษฐกิจระยะยาวมากขึ้น รัฐบาลมีบทบาทกำหนดทิศทางนโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ลดเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสแข่งขันเท่าเทียมขึ้นสำหรับธุรกิจ/
แรงงานที่ไม่ได้มีทุนเดิมมาเยอะ การปฏิรูปการคลังจึงคล้ายการผันน้ำเขื่อนที่กักเก็บได้จากเงินภาษีตามหน้าที่ของทุกภาคส่วนที่หลั่งไหลเข้ามา เพื่อไปหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจให้ถูกจุด คุ้มค่า สร้างการเติบโตให้ประเทศได้ในระยะยาว การปักหมุดเข็มทิศยกระดับประเทศด้วยนโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นได้ ระบบการเงินการคลังภาครัฐจะต้องเอื้อให้รัฐบาลสามารถดำเนินชุดนโยบายใหม่ๆ เหล่านี้ได้บนความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว
หากรัฐบาลมองเห็นประโยชน์ต่อประเทศในระยะยาว สร้างการ เปลี่ยนแปลงด้วยการนำเสนอชุดนโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ พร้อมกางแผนปฏิรูปการคลังให้เห็นที่มาของแหล่งเงินหลายแสนล้านบาทที่จะใช้สานฝันทำชุดนโยบายใหม่ ประเทศไทยจะต้องทยอยปฏิรูปการคลัง ทั้งด้านรายได้และรายจ่ายไปพร้อมกัน แหล่งเงินก้อนแรกจะได้จากการหารายได้ภาษีต่างๆเพิ่ม เช่น ภาษีที่ดินที่ยังเก็บไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่อาจปรับอัตราให้เป็นธรรมมากขึ้นเทียบอัตราภาษี เงินได้บุคคลธรรมดา การเพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บภาษี แหล่งเงินอีกก้อนจะได้มาจากการทบทวนการจัดสรรงบประมาณที่จำเป็นใช้น้อยกว่า หากปฏิรูปการคลังได้ ประเทศก็ไม่จำเป็นต้องกู้เงินมาทำชุดนโยบายใหม่ ควบคุมระดับหนี้สาธารณะไม่ให้สูงขึ้นมากได้
เร็วๆนี้ ธนาคารโลกออกรายงานการประเมินรายได้และรายจ่ายภาครัฐของไทย ย้ำชัดว่า ประเทศต่างๆได้ใช้นโยบายการคลังชุดใหญ่ในการรับมือวิกฤติโควิด จนหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นมามากแล้วเช่นเดียวกับประเทศไทย มองไปข้างหน้าแล้ว ประเทศไทยจำเป็นต้องปฏิรูปเศรษฐกิจให้มีความเท่าเทียมและยืดหยุ่นมากขึ้น พร้อมทยอยปฏิรูปการคลังเพื่อเพิ่มศักยภาพการจัดเก็บรายได้ภาครัฐให้พอรองรับการใช้จ่ายภาครัฐที่จะสูงขึ้นอีกมากจากการเข้าสู่สังคมสูงวัย เช่น รายจ่ายเงินบำนาญ สวัสดิการผู้สูงอายุ/รักษาพยาบาล นอกจากรายจ่ายภาครัฐในส่วนอื่นที่ยังต้องช่วยเหลือกลุ่มที่ยังเปราะบาง รับมือกับสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง และลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในระยะยาว
ธนาคารโลกได้เสนอการปฏิรูปภาษีของไทยแบบก้าวหน้าไว้ว่า จะช่วยเพิ่มรายได้ประมาณ 3.5% ของ GDP ภายในปี 2030 ได้แก่ เพิ่มรายได้ภาษีมูลค่าเพิ่ม ขยายฐาน/ลดเงื่อนไขลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ขยายการเก็บภาษีที่ดิน พร้อมปฏิรูปรายจ่าย โดยเร่งลดรายจ่ายประจำ เพิ่มรายจ่ายลงทุน ผลศึกษาของธนาคารโลกแสดงให้เห็นว่า การปฏิรูปการคลังพร้อมกันทั้งสองด้านจะช่วยคุมไม่ให้หนี้สาธารณะสูงเกิน 60% ของ GDP ได้
ความจริงที่ต้องยอมรับคือ ประเทศไทยมีแนวโน้มการจัดเก็บรายได้รัฐบาลเทียบขนาดเศรษฐกิจลดลงเรื่อยๆ สวนทางกับฟากรายจ่ายที่เร่งตัวต่อเนื่อง น่าจะถึงเวลาแล้วที่โจทย์เชิงโครงสร้างภาคการคลังของไทยนี้จะได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบ พร้อมปรับแนวนโยบายเศรษฐกิจให้มองผลประโยชน์ระยะยาวมากขึ้น ประเทศไทยออกจากไอซียูโควิดแล้ว ธุรกิจและประชาชนจะกลับมาแข็งแรงวิ่งมาราธอนเพิ่มทักษะความสามารถในการแข่งขันได้ในเกมระยะยาว บทบาทภาครัฐจะต้องเอื้อและชวนกันมองไกลไปด้วยกันทั้งองคาพยพค่ะ.