นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยแผนบริหารจัดการหนี้เงินกู้โควิดวงเงิน 1.5 ล้านล้านบาท ว่า การกู้เงินภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินโควิด-19 ทั้ง 2 ฉบับ วงเงิน 1.5 ล้านล้านบาท มีการกู้จริง 1.46 ล้านล้านบาท ณ วันที่ 30 เม.ย. มีการชำระคืนแล้ว 94,000 ล้านบาท คงเหลือหนี้คงค้าง 1.35 ล้านล้านบาท เป็นการชำระหนี้ในปีงบประมาณ 2563 จำนวน 3,000 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2564 ชำระหนี้ 1,400 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2565 ชำระหนี้ 38,000 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2566 ชำระหนี้ 51,000 ล้านบาท
“หนี้ดังกล่าวมีการปรับโครงสร้างหนี้ 18 ครั้ง รวม 359,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการแปลงจากเงินกู้ และตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นหนี้ระยะยาว อัตราดอกเบี้ยคงที่ ด้วยการออกพันธบัตรรัฐบาล 54,500 ล้านบาท พันธบัตรรัฐบาลเพื่อความยั่งยืน 257,000 ล้านบาท อีกส่วนหนึ่งเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินระยะสั้น 47,800 ล้าน บาท สำหรับต้นทุนการปรับโครงสร้างหนี้เป็นไปตามสภาวะตลาด โดยอัตราผลตอบแทนจากการประมูลพันธบัตรรัฐบาลเพื่อความยั่งยืนอายุ 14.2 ปี ครั้งล่าสุดอยู่ที่ 2.6352% ต่อปีงบประมาณ 2566 คงเหลือวงเงินที่ต้องปรับโครงสร้างหนี้ 5,000 ล้านบาท”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงหนี้สาธารณะ ที่ประชุมได้รับทราบผลการรายงานต้นทุนและความเสี่ยงหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือน มี.ค. อาทิ ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งอยู่ในระดับต่ำมาก ส่วนความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ โดยหนี้สาธารณะคงค้าง 85.13% เป็นหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ โดยมี ต้นทุนการกู้ยืมเงินเฉลี่ย 2.52% ต่อปี และมีความเสี่ยงด้านการปรับโครงสร้างหนี้ต่ำ โดยมีอายุคงเหลือเฉลี่ยจนกว่าจะครบกำหนด จำนวน 8 ปี 9 เดือน.