นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (CBDC) ว่า ธปท.มีการพัฒนา CBDC 2 โครงการ คือ การพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลระดับสถาบัน การเงิน (Wholesale CBDC) และการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลภาคประชาชน (Retail CBDC) โดยการพัฒนา Wholesale CBDC แนวทางคือการเข้ามาช่วยลดอุปสรรคในการโอนเงินข้ามแดน ซึ่งต้องรอนานหลายวัน และค่าธรรมเนียมสูง ส่วนนี้ ได้ต่อยอดจากเป็นโครงการ mBridge ซึ่งเป็นความร่วมมือกับธนาคารกลางฮ่องกง โดยร่วมมือเพิ่มเติมกับธนาคารกลางจีน ธนาคารกลางสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และธนาคารเพื่อการชำระหนี้ ระหว่างประเทศ (BIS Innovation Hub) ทำให้ Wholesale CBDC มีความเป็นไปได้สูง และคาดว่าจะใช้ได้จริงในอีกไม่ไกลนัก
ส่วนการพัฒนา Retail CBDC นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างทดสอบโครงการนำร่องอยู่ โดยเป็นทดสอบเรื่องการจับจ่ายใช้สอยในวงจำกัดมากๆ และไม่ได้ฟีเจอร์ใดๆเป็นพิเศษ ซึ่งจะทดสอบจะทำไปจนถึงไตรมาสที่ 3 ปีนี้ และหลังจากนั้นจะเป็นช่วงการทดสอบระดับนวัตกรรม (Innovation track) คือ จะพยายามหาฟีเจอร์อื่นๆมาใส่ ทั้งนี้ การทดสอบใช้ Retail CBDC เป็นโครงการนำร่องเพื่อใช้การศึกษาเท่านั้น และไม่ใช่โครงการที่จะเปิดตัวใช้ (pilot to launch)
“ความจำเป็นของเราที่จะรีบเร่งตัวนี้ (Retail CBDC) ออกมาไม่ได้มีสูงมาก และระบบเพย์เมนท์ของเราที่มีในปัจจุบันทำหน้าที่ได้ดีอยู่แล้ว เช่น ระบบพร้อมเพย์ เมื่อประโยชน์ที่จะเพิ่ม จากระบบพร้อมเพย์ไม่ได้ชัด แต่ความเสี่ยงมันมี เราจึงทำเพื่อศึกษาว่าเราเข้าใจมันดีจริงๆ ปิดช่องโหว่และความเสี่ยงต่างๆให้ได้”
นายเศรษฐพุฒิกล่าวต่อถึงความผันผวนของค่าเงินบาทในขณะนี้ โดยยอมรับว่ามีหลายปัจจัยที่ทำให้ที่ทำให้ค่าเงินบาทผันผวนสูงกว่าภูมิภาค ทำให้ ธปท.พยายามส่งเสริมให้มีการใช้เงินสกุลท้องถิ่น (Local Currency) มากขึ้นในการทำการค้า ระหว่างประเทศ ลดความผันผวนการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยจะเพิ่มปริมาณการใช้เงินสกุลท้องถิ่นใน 4 สกุลเงิน คือ เงินริงกิต มาเลเซีย, เงินรูเปียะห์ อินโดนีเซีย, เงินเยน ญี่ปุ่น และเงินหยวนของจีน.