ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.50% เป็น 1.75% ต่อปี เมื่อวันที่ 29 มี.ค.66 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือเอ็กซิมแบงก์ ได้ประกาศขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก เป็นครั้งที่ 2 ในรอบปี ส่งผลให้ดอกเบี้ยเงินกู้ในปี 66 ปรับขึ้นมาแล้วถึง 0.50% โดยธนาคารออมสินปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากสูงสุด 0.40% ต่อปี ขณะที่ดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทได้ปรับขึ้น 0.25% ต่อปี มีผลตั้งแต่ 10 เม.ย.66
ด้าน ธ.ก.ส.ขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก 0.05-0.60% ต่อปี ขณะที่ดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภท ขึ้น 0.25% ต่อปี ประกอบด้วย เอ็มอาร์อาร์ ขึ้นเป็น 6.875% เอ็มแอลอาร์ ขึ้นเป็น 5.375% และเอ็มโออาร์ ขึ้นเป็น 6.750% โดยมีผลตั้งแต่ 1 เม.ย.66
ขณะที่ ธอส.ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ และเงินฝากประจำ 0.05-0.40% ต่อปี และปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภท 0.25% ต่อปี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย.66 ส่วนเอ็กซิมแบงก์ขึ้นดอกเบี้ยไพรม์ เรท 0.25% ต่อปี จาก 6.00% ต่อปี เป็น 6.25% ต่อปี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย.66 เป็นต้นไป
ด้านธนาคารกรุงเทพประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้เพิ่มขึ้น มีผลตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย.2566 โดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากปรับขึ้น 0.05-0.30% ส่วนดอกเบี้ยเงินกู้ ปรับขึ้น 0.05%-0.20% นับเป็นแบงก์พาณิชย์อันดับ 2 ที่ประกาศขึ้นภาษีต่อจากแบงก์ไทยพาณิชย์.