ย้อนรอย Credit Suisse ก่อนควบรวม UBS เกิดอะไรขึ้นกับธนาคารยักษ์บ้าง

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ย้อนรอย Credit Suisse ก่อนควบรวม UBS เกิดอะไรขึ้นกับธนาคารยักษ์บ้าง

Date Time: 25 มี.ค. 2566 23:06 น.

Video

ดร.พิพัฒน์ KKP กระเทาะโจทย์เศรษฐกิจไทย บุญเก่าเจอความเสี่ยง บุญใหม่มาไม่ทัน

Summary

  • จากธนาคารอายุ 167 ปี ที่เคยมีมูลค่าสูงสุดทะลุ 2.7 ล้านล้านบาท แต่ปัจจุบันต้องขายกิจการให้ธนาคารคู่แข่งอย่าง UBS มาย้อนดูกันว่า 3 ปีที่ผ่านมา Credit Suisse พบกับจุดพลิกผันอย่างไรบ้าง

จากธนาคารอายุ 167 ปี ที่เคยมีมูลค่าสูงสุดทะลุ 2.7 ล้านล้านบาท แต่ปัจจุบัน เพื่อความอยู่รอด ก็ต้องขายกิจการในราคาสุดกล้ำกลืนให้ธนาคารคู่แข่งอย่าง UBS มาย้อนดูกันว่า 3 ปีที่ผ่านมา Credit Suisse พบกับจุดพลิกผันอย่างไรบ้าง

Credit suisse คือ ธนาคารเก่าแก่อายุ 167 ปีที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในสวิตเซอร์แลนด์ ถูกจัดอยู่ในกลุ่มผู้บริหารความมั่งคั่งที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นหนึ่งใน 30 ธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบระดับโลก เมื่อปี 2550 เคยมีมูลค่าบริษัทสูงสุด 8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (2.7 ล้านล้านบาท)

2563 - เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ Tidjane Thiam ประกาศลาออกจากตำแหน่ง CEO ของธนาคาร จากแรงกดดันจากข่าวฉาวว่าพัวพันกับคดีสอดแนมอดีตหัวหน้าฝ่ายบริหารความมั่งคั่ง Iqbal Khan ย้อนกลับไปปี 2558 ธนาคารได้จ้าง Tidjane Thiam เข้ามาเป็นประธานผู้บริหารเพื่อช่วยเปลี่ยนทิศทางดำเนินงานของธนาคารให้พ้นจากวิกฤติ และได้มีปัญหากับ Iqbal Khan ซึ่งตอนนั้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายบริหารความมั่งคั่ง

หลังจากที่นาย Khan ลาออกเพื่อไปทำงานให้กับธนาคารคู่แข่งอย่าง UBS ธนาคารได้เริ่มสอดแนมเพื่อจับตาว่าเขาได้เข้าหาลูกค้าหรือพนักงาน ซึ่งเป็นการละเมิดสัญญาของ Credit Suisse หรือไม่ ทำให้นาย Khan ยื่นฟ้องร้องทางอาญาและกล่าวหาว่านาย Thiam ซึ่งขณะนั้นเป็น CEO อยู่เบื้องหลังการสอดแนมครั้งนี้

หลังจากที่ Credit Suisse ถูกสอบสวนโดยสำนักงานกฎหมายภายนอก พบว่าการสอดแนมครั้งนี้เกิดขึ้นจากประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ Pierre-Olivier Bouée

เหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างความเสียหายให้กับธนาคารซึ่งใช้เวลาหลายปีในการพยายามกู้คืนความเชื่อมั่นของตนเอง แต่ต้องมาเผชิญกับข่าวฉาวความขัดแย้งระหว่างผู้บริหารระดับสูง ซึ่งยิ่งบั่นทอนเสถียรภาพของธนาคาร

2564 - เดือนมีนาคม Archegos Capital กองทุนป้องกันความเสี่ยงของสหรัฐฯ ล่มสลาย ทำให้ Credit Suisse ขาดทุน 5.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และในเดือนเดียวกันธนาคารต้องอายัดเงิน 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในกองทุนการเงินห่วงโซ่อุปทาน Greensill Capital ที่เชื่อมโยงกับ นักการเงินชาวอังกฤษที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ทำให้ธนาคารต้องแบกรับภาระคดีฟ้องร้องและค่าชดเชยจำนวนมากจากสองเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ Lara Warner ซึ่งเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ความเสี่ยงของธนาคารประกาศลาออกจากตำแหน่ง เพื่อรับผิดชอบกับความเสียหายของธนาคารในครั้งนี้

2565 - หลังธนาคาร Credit Suisse ประกาศแผนปรับโครงสร้างธุรกิจวาณิชธนกิจในเดือนกันยายน เพื่อแยกขายธุรกิจบางส่วนออกไป รวมถึงมีแผนปลดพนักงานลดต้นทุน ได้สร้างความกังวลถึงเสถียรภาพทางการเงินของธนาคาร นักลงทุนจึงเทขายหุ้นทำให้ราคาปรับตัวสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดยลดลงกว่า 55% จากต้นปีที่ผ่านมา และร่วงลงมาแล้วกว่า 91% จากจุดสูงสุดเมื่อปี 2550 ท่ามกลางนักลงทุนที่หันมาซื้อประกันหนี้ CDS แทน

2566 - หลังเผชิญกับข่าวฉาวรอบด้านและการบริหารงานที่ผิดพลาดจนขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในเดือนกุมภาพันธ์ หุ้นของ Credit Suisse ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ หลังผลประกอบการประจำปีขาดทุนมากที่สุดนับตั้งแต่วิกฤติการเงินในปี 2551 จากการที่ลูกค้าถอนเงินออกอย่างต่อเนื่องในไตรมาสที่สี่ มูลค่ากว่า 119 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีรายงานออกมาว่าหน่วยงานกำกับดูแลกำลังตรวจสอบความคิดเห็นของประธานผู้ให้กู้เกี่ยวกับสถานะการเงินของบริษัท

ส่งผลให้ธนาคารกลางซาอุดีอาระเบีย(SNB) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ออกมาให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่าไม่สามารถให้เงินสนับสนุนธนาคารได้อีก เนื่องจากถูกจำกัดโดยอุปสรรคด้านกฎระเบียบ Credit Suisse จึงกลายเป็นธนาคารที่เสี่ยงล้มละลายทันทีเพราะขาดสภาพคล่อง

ธนาคารกลางสวิสฯ จึงเข้ามาอุ้มด้วยการปล่อยกู้เงินให้จำนวน 54,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อเสริมสภาพคล่อง หลังทำการเจรจาสองครั้ง ล่าสุดเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา UBS ตกลงที่จะเข้าซื้อกิจการ Credit Suisse มูลค่า 3.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (1 แสนล้านบาท) โดยมีรัฐบาลสวิตฯ ทำหน้าที่เป็นนายหน้าและผู้ค้ำประกันด้วยวงเงิน 9.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (3.3 แสนล้านบาท) เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับธนาคาร UBS จากการครอบครองสินทรัพย์ของ Credit Suisse อีกทั้งธนาคารกลางสวิสฯ จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องอีก 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ