ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พร้อมด้วย ธนาคารกลางอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ร่วมกับ BIS Innovation Hub Singapore Centre ตกลงร่วมพัฒนาระบบ Nexus ที่เชื่อมโยงระบบการชำระเงินแบบทันทีของแต่ละประเทศในลักษณะพหุภาคี โดยจะเป็นการทดลองเพื่อใช้งานจริง โดยก่อนหน้านี้ BIS และกลุ่มประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโร (Eurosystem) กับธนาคารกลางมาเลเซียและสิงคโปร์ได้ทดลองระบบต้นแบบ (prototype) ที่เชื่อมโยงระบบการชำระเงินแบบทันที โดยใช้หมายเลขโทรศัพท์มือถือสำเร็จไปแล้ว
แม้ว่าในปัจจุบันมีระบบการชำระเงินแบบทันทีมากกว่า 60 ระบบในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่ทำให้ประชาชนสามารถรับและส่งเงินระหว่างกันโดยใช้เวลาไม่กี่วินาที แต่ส่วนใหญ่มักจะใช้กับธุรกรรมโอนเงินในประเทศเท่านั้น ส่วนการโอนเงินระหว่างประเทศนั้นส่วนใหญ่ยังช้า แพง และขาดความโปร่งใส ดังนั้นระบบ Nexus เป็นนวัตกรรมที่แก้ไขปัญหาตรงนี้ได้ ด้วยการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินของหลายประเทศเข้าด้วยกันและมีมาตรฐานรองรับ ทำให้การทำธุรกรรมง่ายขึ้น ลดเวลาและต้นทุนลง
เมื่อการทดลองและการพัฒนาดำเนินการแล้วเสร็จ การเชื่อมโยงของระบบการชำระเงินแบบทันทีของแต่ละประเทศผ่านระบบ Nexus จะช่วยเอื้อประโยชน์ต่อการทำธุรกรรมการโอนเงินระหว่างประชาชนใน 5 ประเทศ ที่มีประชากรรวมกันกว่า 500 ล้านคน ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินในภูมิภาค ที่ทั้ง 5 ประเทศอาเซียนได้ลงนามร่วมกันเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา และจะทยอยขยายผลไปยังประเทศต่างๆ
อย่างไรก็ตาม BIS และธนาคารกลางทั้ง 5 แห่ง มองว่า Nexus มีศักยภาพที่จะเป็นระบบที่ใช้ได้จริงทั่วโลก โดยจะจัดตั้งคณะที่ปรึกษาที่ประกอบด้วยผู้แทนธนาคารกลางและผู้ให้บริการระบบการชำระเงินจากหลายภูมิภาค เพื่อต่อยอดขยายขอบเขตโครงการไปสู่ภูมิภาคอื่นนอกเหนือจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป