จากกรณีของธนาคาร Credit Suisse ของสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นธนาคารเก่าแก่ที่มีอายุเกือบ 200 ปี ประสบปัญหาด้านสภาพคล่อง ทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นและเทขายหุ้นดิ่งลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และมีแนวโน้มจะล้มละลายจนต้องร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลสวิตฯ ด้วยการขอกู้เงินกว่า 5.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.8 ล้านล้านบาท
ล่าสุด เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ธนาคาร UBS ซึ่งเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในสวิตเซอร์แลนด์ ได้บรรลุข้อตกลงเข้าซื้อกิจการของคู่แข่ง Credit Suisse จำนวน 3.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (1 แสนล้านบาท) หลังจากที่ Credit Suisse ปฏิเสธข้อเสนอแรกที่ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (3.4 หมื่นล้านบาท) ซึ่งต่ำกว่ามูลค่าของธนาคารถึง 8 เท่า หรือ 8.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2.9 แสนล้านบาท)
การเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ ได้รับแรงกดดันโดยตรงจากธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ ที่ไม่ต้องการให้ Credit Suisse ยื่นล้มละลาย เพื่อจำกัดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับธนาคารอื่นๆ โดยมีรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ทำหน้าที่เป็นนายหน้าและผู้ค้ำประกัน ด้วยวงเงิน 9.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (3.3 แสนล้านบาท) เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นให้กับธนาคาร UBS จากการครอบครองสินทรัพย์ของ Credit Suisse อีกทั้งธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องอีก 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงหน่วยงานกำกับดูแลตลาดเงินของสวิตฯ จะอนุญาติให้ UBS สามารถจัดจำหน่ายตราสารหนี้ AT1 ของ Credit Suisse
ขณะที่เงื่อนไขของดีลครั้งนี้ ผู้ถือหุ้นของ Credit Suisse จะถูกตัดสิทธิ์ในการลงคะแนนเสียง พร้อมกับถูกบังคับให้แลกหุ้นในอัตรา 22.48 หุ้น ต่อ 1 หุ้นใน UBS โดยราคาประเมินของมูลค่าหุ้น Credit Suisse อยู่ที่ 0.76 ฟรังก์สวิสต่อหุ้น ซึ่งต่ำกว่าราคาปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา อยู่ที่ 1.86 ฟรังก์สวิสต่อหุ้น
การเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ เป็นการตอกย้ำสถานะของ UBS ในฐานะธนาคารสากลชั้นนำในสวิตเซอร์แลนด์ ธุรกิจที่ควบรวมกันจะทำให้ธนาคารกลายเป็นผู้จัดการสินทรัพย์ชั้นนำในยุโรป ด้วยสินทรัพย์ที่ลงทุนมากกว่า 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะสามารถลดต้นทุนต่อปีได้มากกว่า 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2570.