ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงินเพื่อเป็นแนวปฏิบัติขั้นต่ำให้สถาบันการเงิน (สง.) ทุกแห่งปฏิบัติตามเป็นมาตรฐานเดียวกัน ในการดูแลการทำธุรกรรมทางการเงินตลอดเส้นทาง ซึ่งจะช่วยการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนทำได้รวดเร็ว และครอบคลุมมากขึ้น เน้นออกมาตรการควบคุม mobile banking เพราะเป็นช่องทางหลักของมิจฉาชีพในการโกง เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ทำธุรกรรมการเงินผ่าน mobile banking มากกว่าการทำธุรกรรมที่สาขา โดยแบ่งมาตรการออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ การป้องกัน การตรวจจับ และการตอบสนองและรับมือ มีรายละเอียดดังนี้
1.มาตรการป้องกัน ประกอบไปด้วย
-ยกเลิกการแนบลิงก์ทำธุรกรรม OTP และการขอข้อมูลส่วนบุคคล ผ่าน sms และ email
-อัปเดตระบบรักษาความปลอดภัยบน mobile banking ให้ทันสมัยอยู่เสมอ
-หากมีการเปิดบัญชีออนไลน์ หรือทำธุรกรรมด้วยวงเงินตั้งแต่ 50,000 ขึ้นไป ลูกค้าจะต้องยืนยันตัวตนผ่านระบบสแกนหน้า (biometrics) โดยธนาคารทุกแห่งจะดำเนินการติดตั้งระบบให้เสร็จสิ้นภายในกลางปีนี้
2.มาตรการตรวจจับและติดตามบัญชี หรือธุรกรรมต้องสงสัย ประกอบด้วย
-เมื่อตรวจพบธุรกรรมที่ผิดปกติให้รายงานไปยัง ปปง. ตอนนี้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วทุกธนาคาร
-มีระบบตรวจจับและติดตามธุรกรรมที่เข้าข่ายผิดปกติตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อระงับธุรกรรมและบัญชีได้ทันที โดยร่วมกันออกแบบและพัฒนาระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลทุจริตในภาคธนาคาร (Central Fraud Registry) เพื่อให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชี ธุรกรรมต้องสงสัยและบัญชีม้าระหว่างธนาคาร เพื่อดำเนินการติดตามป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้ธนาคารสมาชิกอยู่ระหว่างการนำเข้าเทคโนโลยี โดยกำหนดการเสร็จสิ้นภายในสิ้นปีนี้
-เร่งตอบสนองข้อมูลที่ได้รับจากการแจ้งความออนไลน์ผ่านช่องทางของแบงก์ชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สมาคมธนาคารไทย และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ โดยดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วทุกธนาคาร
3.มาตรการตอบสนองและรับมือ ประกอบด้วย
-มีช่องทางติดต่อเร่งด่วน (Hotline) 24 ชั่วโมง ตลอด 7 วัน ลูกค้าที่ตกเป็นเหยื่อสามารถแจ้งเหตุได้โดยตรง และนำคำร้องเรียนมาวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหา ปัจจุบันมีธนาคารสมาชิกหลายแห่งเริ่มดำเนินการแล้ว
-สนับสนุนการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อหาสาเหตุและผู้กระทำผิด กำหนดให้มีผู้รับผิดชอบประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ อย่างชัดเจน
-ดูแลรับผิดชอบผู้ให้บริการ หากพบว่าความเสียหายเกิดจากข้อบกพร่องของธนาคาร โดยจะมีการพิจารณาเป็นกรณีไป
นอกจากนี้ยังมีการร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ให้บริการ e-wallet ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อร่วมขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาทุจริตภัยการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ และครอบคลุมทั้งระบบนิเวศแบบ end to end ที่มิจฉาชีพชอบใช้หลอกลวง.