"เอกนิติ" บนภารกิจรวม "ttb" ชูดิจิทัลสร้างชีวิตการเงินคนไทยดีขึ้น

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

"เอกนิติ" บนภารกิจรวม "ttb" ชูดิจิทัลสร้างชีวิตการเงินคนไทยดีขึ้น

Date Time: 13 ก.พ. 2566 06:38 น.

Summary

  • ในที่สุดภารกิจรวมกิจการขนาดใหญ่ของธนาคารทหารไทย กับ ธนาคารธนชาต ที่ใช้เวลานานกว่า 5 ปี ก็สิ้นสุดลงจนสามารถประกาศความสำเร็จได้ในครึ่งหลังของปี 2565

Latest

นาฬิกาเรือนละล้าน รถสปอร์ตก็หรู เพราะคำว่า “รวย” ของเราไม่เท่ากัน ความอู้ฟู่ ที่คนรวยจริง ไม่ทำกัน

ในที่สุดภารกิจรวมกิจการขนาดใหญ่ของธนาคารทหารไทย กับ ธนาคารธนชาต ที่ใช้เวลานานกว่า 5 ปี ก็สิ้นสุดลงจนสามารถประกาศความสำเร็จได้ในครึ่งหลังของปี 2565

เปลี่ยนชื่อของ ทหารไทย และ ธนชาต เป็น ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ ttb ทำให้ 2 ธนาคารใหญ่ รวมกันเป็นหนึ่งเดียว และปรับลดงานซ้ำซ้อน ลดจำนวนสาขา ช่วยลดต้นทุนได้ถึง 14%

ทั้งยังสามารถเพิ่มความแข็งแกร่งในการดำรงเงินกองทุนสินทรัพย์เสี่ยงได้สูงกว่าที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด มีเงินกองทุนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 20% และอยู่ในระดับต้นๆ ของกลุ่มธนาคาร ที่ปัจจุบันมีเงินกองทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 18%

ผลคือในปี 2565 ttb ทำกำไรเพิ่มขึ้นถึง 36.6% หรือ 14,195 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,000 ล้านบาทจากปีก่อนหน้า

ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต ในฐานะประธานคณะกรรมการธนาคาร ttb ให้สัมภาษณ์ ทีมเศรษฐกิจ ถึงความสำเร็จนี้ว่า ตลอดช่วงเวลา 18 เดือนที่เข้มข้นเพื่อเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการรวมกิจการนั้น

ผู้บริหาร และพนักงานต้องเผชิญความท้าทายจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 และ มาตรการล็อกดาวน์ที่ทำให้ทีมงานต้องปรับการทำงานใหม่ เพื่อให้การรวมกิจการสำเร็จทันตามกำหนดเวลาที่วางไว้

“ในเวลาเดียวกันต้องให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบเดียวกัน อย่างเร่งด่วน และทันท่วงที โดยในปี 2563 ttb ได้ตัดสินใจตั้งทีมงาน เข้าไปช่วยเหลือลูกค้าไปมากถึง 750,000 ราย หลังจากนั้นยังให้การดูแลอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มเติมกรณีที่ลูกค้ายังอยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบากต่อ”

ประธาน ttb ตอกย้ำว่า สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นศักยภาพของธนาคาร และพนักงานที่สามารถปรับเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส ขณะเดียวกันก็สามารถรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี

มาตรการช่วยเหลือลูกค้าปี 2563

ความช่วยเหลือลูกค้าทั้ง 750,000 รายนี้ ผ่านกระบวนการพักชำระหนี้สูงสุดที่ธนาคารให้ 6 เดือน โดยแบ่งลูกค้าเป็น 3 กลุ่มคือ

1.ลูกค้าสินเชื่อรถยนต์จำนวน 550,000 ราย 2.ลูกค้าสินเชื่อบ้านจำนวน 150,000 ราย และ 3.ลูกค้า SME/SBO (ผู้ประกอบการรายย่อย) จำนวน 50,000 ราย

ผลจากการให้ความช่วยเหลือ และโฟกัสกลุ่มลูกค้าดังกล่าวอย่างเต็มกำลังความสามารถนี้ ทำให้ ttb ดูแลคุณภาพสินทรัพย์ได้ดีตามแผน หนี้ NPL ลดลง การตั้งสำรองหนี้ก็ลดลงตาม ขณะเดียวกันการเติบโตของสินเชื่อใหม่เป็นไปอย่างระมัดระวังและเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ โดยการให้ความช่วยเหลือลูกค้านี้ดำเนินไปอย่างเหมาะสม

มาตรการเหล่านี้ทำให้ผลการดำเนินงานของธนาคารเติบโต และ มีกำไรติดต่อกัน 3 ปี นับจากปี 2563-2565 ในเวลาเดียวกัน ก็ทำให้ลูกค้าโดยเฉพาะกลุ่มมนุษย์เงินเดือน และผู้ประกอบการรายย่อยมีระบบจัดการด้านการเงินที่ดี มีทางเลือกในการเข้าถึงเครดิต และสภาพคล่องเพิ่มขึ้น (ดูตาราง)

“เป็นเรื่องโชคดีที่เรามีความเชี่ยวชาญในการดำเนินงานด้านระบบการให้สินเชื่อรถยนต์ และประกันภัยรถยนต์ และมีสินเชื่อบ้านที่สามารถแตกไลน์ไปทำธุรกิจให้กู้เพื่อการซ่อมแซม ปรับปรุงบ้าน ซื้อเฟอร์นิเจอร์ และบริการด้านต่างๆเกี่ยวกับบ้าน และรถยนต์ได้ทั้งระบบ

ที่สำคัญก็คือ ในอนาคต ธนาคารจะมุ่งเน้นการให้บริการใหม่ๆ แก่บริษัท และมนุษย์เงินเดือนที่จ่ายเงินเดือนผ่านธนาคาร โดยธนาคารพร้อมจะให้คำแนะนำ และยื่นภาษีเงินได้ รวมถึงจัดระบบบริหารการเงิน เงินเดือน และรายจ่ายอื่นๆให้หากลูกค้ามีความประสงค์ด้วย” ดร.เอกนิติกล่าว

เป้าหมายการดำเนินงานปี 2566

ดร.เอกนิติเปิดเผยยุทธศาสตร์การขับเคลื่อน ttb สู่การเป็นธนาคารที่ยั่งยืนซึ่งจะสร้างความเข้มแข็งทางธุรกิจทั้งในระยะสั้น กลาง และยาว เพื่อมุ่งสู่การเป็นธนาคารที่จะสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นให้แก่คนไทยทั้งประเทศตามอุดมคติของเขา คณะกรรมการธนาคาร รวมถึงพนักงานทั้งหมดว่า

“ธนาคารจะสร้างโมเดลธุรกิจผ่านการวิเคราะห์ทางเทคโนโลยีดิจิทัล และระบบนิเวศทางการเงินสู่ความมั่งคั่ง และความเป็นอยู่ที่ดีทางการเงิน (Banking business model via digital & ecosystem play)”

ประธาน ttb ย้ำว่า “ผมมุ่งมั่นที่จะทำให้ ttb ดำเนินธุรกิจ และธุรกรรมทางการเงินต่อเนื่องไปอย่างยั่งยืน จากนี้ไปผมคิดว่า เราหยุดที่ความสำเร็จของการรวมกิจการที่ทำให้เกิด ttb แล้ว และจะผนวกแนวคิดการเติบโตระยะยาวอย่างยั่งยืน ด้วยความมั่นใจว่า ผู้มีส่วนได้เสียในทุกภาคส่วนต้องได้รับผลประโยชน์ โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงลบจากการดำเนินธุรกิจของธนาคาร”

ในเวลาเดียวกันก็จะต้องยกระดับการดำเนินงานให้อยู่ในมาตรฐานสากลด้วยการมุ่งเน้นดำเนินการในกรอบความยั่งยืน (ttb’s sustainability) 4 ด้าน ได้แก่

ความยั่งยืนทางธุรกิจ ที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่โมเดลธุรกิจยั่งยืนนำไปสู่การเติบโตทางการเงินระยะยาว และปลูกฝังแนวคิด Make Real Change ด้วยการสร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของลูกค้าให้ดีขึ้น ภายใต้การส่งเสริมการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมในแต่ละช่วงชีวิต

ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ธนาคารต้องมีบทบาทสำคัญในด้านการเป็นผู้จัดสรรเงินทุนเพื่อการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจโดยนำหลักการด้านธรรมาภิบาล และปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมเป็นตัวนำการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบทั้งทางตรง และทางอ้อม โดยสนับสนุนผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเช่น สินเชื่อสีเขียว สินเชื่อสีฟ้า สินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานที่ยั่งยืน (sustainability-linked loan)

ความยั่งยืนทางสังคม โดยการเสริมสร้างความรู้ทางการเงิน สร้างสุขภาพการเงินที่ดี และส่งเสริมการเข้าถึงทางการเงิน ตลอดจนถึงการร่วมพัฒนาสังคม ชุมชน และเยาวชนให้แก่พนักงานของธนาคารทั้งระบบ

บรรษัทภิบาล และจรรยาบรรณทางธุรกิจ ที่ต้องกํากับดูแลด้วยคุณธรรม และจริยธรรม รวมถึงบริหารจัดการความเสี่ยงซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการดำเนินธุรกิจเพื่อให้สร้างความไว้วางใจ และความน่าเชื่อถือให้แก่ลูกค้า พร้อมๆกับการให้ความสำคัญต่อลูกค้าบนพื้นฐานบริการที่มีความโปร่งใสมีประสิทธิภาพ

ชู 3 กลยุทธ์ฝ่าความท้าทายใหม่

ดร.เอกนิติชูกลยุทธ์ในอีก 3 ปีข้างหน้า (2566-2568) ว่า ttb จะต่อยอดผลประโยชน์ด้านรายได้ เพิ่มความสามารถการแข่งขันจากการรวมกิจการทั้งด้านความมั่นคงทางการเงิน ฐานลูกค้า และนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าผ่านการพัฒนาแพลตฟอร์มทางการเงินในระบบดิจิทัลสู่บริการที่เหนือกว่าธนาคาร (Beyond banking) ให้แก่กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย และพันธมิตร

สำหรับปีนี้ ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น ภาวะหนี้ครัวเรือนสูง กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ ttb จึงมุ่งเน้นให้ลูกค้ารวมหนี้ เพื่อช่วยลดภาระดอกเบี้ย จากการนำสินเชื่อบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน มีความเสี่ยงสูง และถูกคิดดอกเบี้ยเงินกู้สูงมาเป็นหลักคิด เมื่อนำสินเชื่อบุคคลมารวมกับสินเชื่อบ้าน หรือ สินเชื่อรถยนต์ที่มีหลักประกันความเสี่ยงหนี้สูญจะลดลง ธนาคารจึงสามารถคิดดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำลงได้

การรวมหนี้เช่นนี้มุ่งเน้นให้บริการกับลูกค้า 3 กลุ่ม คือ ลูกค้าสินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบ้าน และมนุษย์เงินเดือน โดยรูปแบบการให้บริการ ttb ได้พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการของลูกค้า เช่น เมื่อใช้บริการสินเชื่อรถยนต์ หากต้องการซื้อประกันรถยนต์ ในแพลตฟอร์มจะมีราคาเบี้ยประกันให้เปรียบเทียบ เพื่อให้ลูกค้าเลือกซื้อประกันราคาถูกที่สุดได้

“หากต้องการซ่อมรถยนต์ ก็จะมีศูนย์บริการ หรืออู่ในเครือให้ลูกค้าเข้าไปเลือกซ่อมได้เช่นกัน ถ้าต้องการขายรถยนต์ หรือเปลี่ยนรถยนต์ ก็สามารถขายได้ในราคาที่สูงกว่าตลาด”

ขณะที่แพลตฟอร์มลูกค้าสินเชื่อบ้าน ให้บริการทุกความต้องการลูกค้าในเรื่องบ้าน ไม่ว่าการซ่อมแซม การทำประกัน ส่วนรูปแบบสินเชื่อเน้นให้บริการรวมหนี้ สามารถนำสินเชื่อบุคคล มารวมกับสินเชื่อบ้านได้ เพื่อช่วยลดภาระดอกเบี้ย อีกทั้งมีบริการสินเชื่อเพิ่มเติม เพื่อนำไปตบแต่งบ้าน หรือหากต้องการใช้เงิน และมีบ้านที่ปลอดภาระจำนอง ก็สามารถนำมาเป็นหลักประกัน กู้เงินดอกเบี้ยต่ำ

ส่วนมนุษย์เงินเดือน ถ้ามีการเดินบัญชีกับธนาคารหรือบริษัทนายจ้างจ่ายเงินเดือนผ่านธนาคาร ก็สามารถใช้บริการเงินกู้ฉุกเฉินได้ “ธนาคารได้นำร่องเชื่อมต่อระบบกับกรมสรรพากรไปแล้ว ถ้าลูกค้าที่ถือบัตรเครดิต ttb ทำการผ่อนจ่ายภาษี 3 งวด ถ้างวดแรกจ่ายภาษีไปเรียบร้อยแล้ว ในงวดที่ 2 หรือที่ 3 เกิดลืม ไม่ได้จ่ายตรงเวลา ระบบของกรมสรรพากรจะเข้ามาตัดเงินผ่านบัตรเครดิตทันที เพื่อไม่ให้ลูกค้าต้องเสียค่าปรับ ซึ่งล่าสุดได้มีสถาบันการเงินได้เชื่อมระบบกับกรมสรรพากร เพื่อให้บริการในรูปแบบเดียวกัน ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ดี และหากมีสถาบันการเงินเชื่อมต่อระบบกับกรมสรรพากร และเปิดให้บริการดังกล่าวมากๆ สิ่งที่ตามมาชีวิตการเงินของคนไทยดีขึ้น”

ประธานธนาคาร ttb มั่นใจกับเป้าที่ตั้งไว้ในปีนี้ว่าจำนวนการใช้ผลิตภัณฑ์ของลูกค้าเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าตัว ขายผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่ม 3 เท่าตัว และลดค่าใช้จ่ายต่อรายได้รวมให้ได้ 40% ด้านสินเชื่อได้ตั้งเป้าหมายเติบโต 3% จากปี 2565 ที่โตเพียง 0.4% และมีหนี้ NPL อยู่ที่ 2.9%.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ